กรุงเทพฯ--11 ส.ค.--คูดี
เยาวชนไทยสร้างชื่อให้กับประเทศไทยได้อีกครั้ง เมื่อนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร ตัวแทนประเทศไทยสามารถคว้ารางวัลรองชนะเลิศอันดับ 3 จากเวทีการแข่งขันออกแบบและสร้างหุ่นระดับนานาชาติ ”International Design Contest 2011” (IDC RoBoCon 2011) ครั้งที่ 22 ณ สถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ (MIT) ประเทศสหรัฐอเมริกา ระหว่างวันที่ 25- 5 สิงหาคมที่ผ่านมา
รองศาสตราจารย์ ดร. วีระศักดิ์ อุดมกิจเดชา ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) ในฐานะประธานจัดการแข่งขัน RDC2011 กล่าวว่า การแข่งขันออกแบบและสร้างหุ่นระดับนานาชาติ ”International Design Contest 2011” (IDC RoBoCon 2011) ครั้งที่ 22 ที่ประเทศสหรัฐฯ ประเทศไทยส่งตัวแทนเข้าร่วมการแข่งขันรวมทั้งสิ้น 5 คน ซึ่งชนะเลิศจากเวทีการแข่งขันออกแบบและสร้างหุ่นยนต์แห่งประเทศไทย ครั้งที่ 4 (RDC 2011) โดยในปีนี้มีเยาวชนตัวแทนประเทศไทยที่สามารถคว้ารางวัลรองชนะเลิศอันดับ 3 จากการแข่งขันดังกล่าวมาได้ คือ นายวรุตม์ โพธิพันธ์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร จากทีมบูล (Blue) จากผู้เข้าแข่งขันทั้งหมด 64 คน จาก 9 ประเทศ ได้แก่ บราซิล ญี่ปุ่น จีน โมร๊อคโค ฝรั่งเศส เกาหลีใต้ สิงคโปร์ สหรัฐอเมริกา และไทย โดยแบ่งออกเป็น 16 ทีม แบ่งออกเป็น 4 สาย แต่ละทีมจะมีนิสิตนักศึกษาคละกันไปจำนวน 4 คนต่อทีม และในการแข่งขันจะทำการคัดเลือกจาก 16 ทีมให้เหลือเพียง 1 ทีมในแต่ละสาย เพื่อเข้าไปแข่งขันในรอบชิงชนะเลิศ โดยหัวข้อการแข่งขัน IDC Robocon 2011 ในปีนี้ คือ “RoboHacks”
ด้าน นายวรุตม์ โพธิพันธ์ นักศึกษาชั้นปีที่ 3 คณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิศวกรรมเมคคาทรอนิกส์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร เจ้าของรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 3 เล่าถึงบรรยากาศในการแข่งขันว่า บรรยากาศการแข่งขันทั่วไปไม่ตึงเครียด ทุกๆ คนที่เข้าร่วมการแข่งขันจะเป็นเพื่อนกันมากกว่าถึงแม้จะต่างทีมกันและบางทีก็มีการช่วยเหลือซึ่งกันและกันเป็นอย่างดี
ส่วนเรื่องความยากในการแข่งขันครั้งนี้ ส่วนตัวคิดว่า น่าจะเป็นในเรื่องการสื่อสารและการทำงานร่วมกันเพราะแต่ละคนมาจากต่างชาติ, ต่างภาษากัน และในกลุ่มของผมจะให้เพื่อนชาวบราซิลเป็นผู้นำเพราะพูดภาษาอังกฤษได้ดีที่สุดและเข้าใจกติกามากที่สุด
ถามถึงเทคนิคการสร้างหุ่นยนต์ที่ทำให้สามารถคว้าแชมป์ในครั้งนี้มาได้ นายวรุตม์ กล่าวว่า ในกลุ่มของตนจะประชุมวางแผนและแบ่งหน้าที่ความรับผิดชอบกันก่อน และออกแบบการสร้างหุ่นยนต์โดยใช้โปรแกรมและด้านอิเล็กทรอนิกส์เป็นหลักเพื่อให้ง่ายต่อการแข่งขันซึ่งดูจากทีมอื่นเค้าจะยุ่งยากซ้ำซ้อน