ปพม. มอบนโยบายจัดทำแผนกลยุทธ์ รองรับยุทธศาสตร์กระทรวงฯ พ.ศ.๒๕๕๕-๒๕๕๙ ชูสำนักงานปลัดกระทรวงฯ เป็นศูนย์กลางขับเคลื่อนนโยบายทางสังคม

ข่าวทั่วไป Monday August 15, 2011 14:52 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--15 ส.ค.--พม. วันนี้ (๑๑ ส.ค.๕๔) เวลา ๐๙.๐๐ น. นางพนิตา กำภู ณ อยุธยา ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นประธานเปิด “การประชุมจัดทำแผนกลยุทธ์สำนักงานปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ พ.ศ. ๒๕๕๕ — ๒๕๕๙” เพื่อจัดทำแผนกลยุทธ์สำนักงานปลัดกระทรวงฯ เพื่อให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์กระทรวงฯ พ.ศ. ๒๕๕๕ — ๒๕๕๙ และเป็นกรอบทิศทางการปฏิบัติงานตามภารกิจของสำนักงานปลัดกระทรวง ให้สามารถตอบสนองความต้องการของผู้รับบริการ ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และประชาชนกลุ่มเป้าหมาย โดยมีผู้แทนหน่วยงานในสังกัดกระทรวง ผู้แทนพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และผู้แทนจากส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุม รวม ๘๐ คน นางพนิตา กำภู ณ อยุธยา ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวว่า แนวทางการบริหารเชิงยุทธศาสตร์หรือเชิงกลยุทธ์ในปัจจุบันถือเป็นกระแสหลักของการบริหารงานของทั้งหน่วยงานภาครัฐและเอกชน การที่จะมียุทธศาสตร์หรือกลยุทธ์ที่มีประสิทธิภาพย่อมเป็นเครื่องค้ำประกันถึงความสำเร็จของการดำเนินงาน สำนักงานปลัดกระทรวง ซึ่งจะต้องเป็นศูนย์กลางการบริหารของกระทรวงในการพัฒนายุทธศาสตร์ แปลงนโยบายของกระทรวงเป็นแผนปฏิบัติ จัดสรรทรัพยากร เพื่อการบรรลุเป้าหมาย และเกิดผลสัมฤทธิ์ตามภารกิจของกระทรวง จึงได้จัดทำแผนกลยุทธ์สำนักงานปลัดกระทรวงฯ พ.ศ.๒๕๕๕ — ๒๕๕๙ เพื่อให้สอดคล้องกับร่างยุทธศาสตร์กระทรวงฯ พ.ศ.๒๕๕๕ — ๒๕๕๙ ที่จัดทำขึ้นเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์ต่างๆ ในอนาคต และเพื่อใช้เป็นกรอบทิศทางในการปฏิบัติงานตามภารกิจของกระทรวง ในระยะ ๕ ปี ภายใต้วิสัยทัศน์ “มุ่งสู่สังคมคุณภาพ บนพื้นฐานความรับผิดชอบร่วมกัน” กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์“ เคียงคู่ รู้ค่า ร่วมพัฒนาสังคม ”ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ : www.twitter.com/prd_mso นางพนิตา กล่าวต่อว่า ในการจัดทำแผนกลยุทธ์ มีนโยบายสำคัญ ที่ควรนำไปใช้ประกอบการจัดทำแผน ได้แก่ ๑. ให้ความสำคัญกับการวางกลยุทธ์ ที่จะสร้างปัจจัยแห่งความสำเร็จของกระทรวง ๕ ประการ หรือ ๕ P คือ P — Policy ต้องเข้าใจวัตถุประสงค์ของนโยบายอย่างชัดเจน มีศักยภาพในการอธิบายและแนะนำต่อส่วนราชการที่รับผิดชอบ ในการแปลงนโยบายไปสู่การปฏิบัติ และควรมีทีม “Policy Watch” ขึ้นมาและให้ความสำคัญกับนโยบาย ที่เกิดขึ้นให้ทันกับสถานการณ์ เพื่อตอบสนองและแก้ไขปัญหาสังคมเชิงประเด็นที่เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา P —Planning ให้ความสำคัญกับการประเมินผลของแผนในทุกระดับอย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง เพื่อนำผลการประเมินมาทบทวนยุทธศาสตร์ของกระทรวงให้เหมาะสมกับสถานการณ์ P — Person ให้ความสำคัญกับการยกระดับคุณภาพของบุคลากรทั้งกระทรวง ให้พร้อมรับการเปลี่ยนแปลง ไม่ติดยึดกับกรอบการปฏิบัติงานแบบเดิม โดยให้สถาบันการพัฒนาสังคม เป็นศูนย์กลางการพัฒนาบุคลากรของกระทรวง ทั้งด้านภาษา เทคโนโลยีและความคิดเชิงระบบ P — Partnership ให้ความสำคัญกับหุ้นส่วนการพัฒนาทั้งภายในและภายนอกกระทรวง พร้อมที่จะให้คำปรึกษาและสนับสนุน ให้เกิดการบูรณาการกิจกรรม/โครงการ เพื่อสร้างโอกาสความสำเร็จทางยุทธศาสตร์ และ P — People ให้ความสำคัญกับประชาชนทุกกลุ่มเป้าหมาย ในฐานะเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียโดยให้ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมการเรียนรู้ตลอดชีวิต เพื่อนำมาพัฒนานโยบายและยุทธศาสตร์ของกระทรวง โดยผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ๒. ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๕๕ เป็นต้นไป สำนักงานปลัดกระทรวง จะต้องเป็นศูนย์กลางการขับเคลื่อนและประสานนโยบายทางสังคม โดยควรเป็นตัวอย่างของการประกันคุณภาพการทำงานของส่วนราชการระดับสำนัก ๓.ปฏิรูปกลไกการขับเคลื่อนนโยบายและยุทธศาสตร์กระทรวงในส่วนภูมิภาค โดยมีพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด เป็นกลไกหลัก.

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ