เจแปนฟาวน์เดชั่นและมหาวิทยาลัยศิลปากร จัดบรรยายและชมการสาธิตขั้นตอนในการทำ "ภาพพิมพ์อุคิโยะเอะ"

ข่าวทั่วไป Monday August 15, 2011 16:53 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--15 ส.ค.--เจแปนฟาวน์เดชั่น บรรยาย สาธิต และการฝึกปฏิบัติ "ภาพพิมพ์อุคิโยะเอะ" เจแปนฟาวน์เดชั่นและมหาวิทยาลัยศิลปากรเชิญชวนนักเรียนนักศึกษาและผู้สนใจเข้าร่วมฟังการบรรยายและชมการสาธิตขั้นตอนในการทำ "ภาพพิมพ์อุคิโยะเอะ" โดยคณะผู้เชี่ยวชาญจาก Takahashi Atelier ประเทศญี่ปุ่น นำโดยอาจารย์ยูกิโกะ ทาคาฮาชิ อ.ยูกิโกะ ทาคาฮาชิ เป็นศิลปินผู้สืบทอดการทำภาพพิมพ์แบบดั้งเดิมหรืออุคิโยะเอะ และเป็นทายาทรุ่นที่ 6 ของสำนักช่างฝีมือในตระกูลทาคาฮาชิ ซึ่งก่อตั้งมาตั้งแต่ปลายช่วง ค.ศ. 1850 นอกจากการทำภาพพิมพ์แล้ว เธอยังทำการผลิตภาพวาดแบบญี่ปุ่นและภาพวาดร่วมสมัยโดยใช้เทคนิคของการทำภาพพิมพ์แบบดั้งเดิม นอกจากนี้เธอยังได้เผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับอุคิโยะเอะในสถาบันการศึกษาต่าง ๆ และจัดทำนิทรรศการอุคิโยะเอะอีกด้วย ภาพพิมพ์อุคิโยะเอะคืออะไร? ภาพพิมพ์อุคิโยะเอะเป็นศิลปะภาพพิมพ์ของญี่ปุ่นรูปแบบหนึ่ง ถือกำเนิดขึ้นมาในสมัยเอโดะ (ค.ศ. 1603-1868) และเป็นหนึ่งในศิลปวัฒนธรรมญี่ปุ่นที่แพร่หลายเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก "อุคิโยะ" แปลว่าโลกที่ล่องลอย คำนี้แต่เดิมเป็นคำศัพท์ทางพุทธศาสนาอ้างอิงถึงแนวคิดว่าด้วยความไม่ยั่งยืนของชีวิต ความหมายของศัพท์คำนี้เปลี่ยนไปในแง่การเอาใจใส่กับช่วงขณะปัจจุบันที่มีความสนุกสนาน แฟชั่น ไลฟ์สไตล์ของคนเมืองและความหรูหราอันเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในสมัยเอโดะ ภาพหรือ "เอะ" ที่นำเสนอเรื่องราวเหล่านี้จึงถูกเรียกว่าอุคิโยะเอะ การที่อุคิโยะเอะเป็นภาพผลิตจำนวนมากจึงมีราคาถูก ทำให้คนทั่วไปหาซื้อมาชื่นชมได้ง่าย ต่างกับภาพแบบประเพณีญี่ปุ่นทั้งที่อุปถัมภ์โดยระบบโชกุณและโดยจักรพรรดิและราชสำนัก แนวภาพของอุคิโยะเอะมีอาทิ ภาพเกี่ยวกับย่านบันเทิงของเอโดะ ภาพสาวงาม ภาพนักแสดงคาบุกิ ภาพทิวทัศน์ ซึ่งบางครั้งก็มีการพิมพ์บทกวีไฮคุลงไปในภาพด้วย ศิลปินอุคิโยะเอะที่มีชื่อเสียงอาทิ คัทซึคะวะ ชุนโช, คัทซึชิคะ โฮะคุไซ, อันโด ฮิโระชิเงะ, โทชุไซ ชะระคุ และ คิตางะวะ อุตะมะโร (ข้อมูลบางส่วนจากหนังสือ คัทซึชิคะ โฮะคุไซ, เขียนโดย ชัยยศ อิษฎ์วรพันธ์) สถานที่หอศิลปะสถาปัตยกรรมพระพรหมพิจิตร คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร วันเวลาวันพุธที่ 17 สิงหาคม 2554 10.00 - 12.00 น. สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม เจแปนฟาวน์เดชั่น 02-260-8560~3 (คุณอัมพุชินี)

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ