แนะนำหนังสือใหม่ “คำขอที่ยิ่งใหญ่”

ข่าวทั่วไป Tuesday November 20, 2007 15:27 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--20 พ.ย.--สำนักพิมพ์ สบายใจ
สำนักพิมพ์ สบายใจ ขอแนะนำหนังสือใหม่ “คำขอที่ยิ่งใหญ่” รวบรวมบทความของพระไพศาล วิสาโล ผู้ถ่ายทอดมุมมองแห่ง ชีวิตผ่านทัศนะทางธรรม เรื่องราวแห่งทุกข์ของมนุษยชาติที่เกิดจากความยึดมั่น ถือมั่น สู่เส้นทางแห่งปัญญา หนทางการแก้ปัญหาและการปฏิบัติที่ใช้ในชีวิตปัจจุบันได้ ด้วยถ้อยคำที่เปี่ยมเมตตา
เคียงคู่มากับงานเขียนของ “อาทิตย์ยามเช้า” ซึ่งนำเรื่องราวของ ผู้คนในสมัยพุทธกาลจากพระไตรปิฎกให้ปรากฏเป็นภาพ ด้วยถ้อยคำเรียบง่าย นำพาผู้อ่านให้สัมผัสและเข้าใจ สะท้อนเหตุแห่งทุกข์ของคนยุคนั้นว่าไม่ต่างจากวันนี้เลย ความโลภ การยึดติดกับอำนาจ เงินตรา วรรณะและตัวตน จุดชนวนให้จิตเร่าร้อนจนนำไปสู่สงครามสุดหฤโหดได้
หนังสือเล่มนี้ ไม่เพียงแต่นำเสนอให้ผู้อ่านได้เข้าใจความเป็นจริงของชีวิตในหลักคำสอนทางพุทธศาสนาเท่านั้น หากเต็มเปี่ยมไปด้วยความงดงามทางภาษาและงานศิลป์ ภาพดอกไม้ไทยโบราณหายากซึ่งวาดโดยศิลปินผู้มากความสามารถ สมภพ บุตราช ผู้นำความงามของธรรมชาติมาแทรกประดับไว้ เพื่อให้ผู้อ่านได้รับพลังที่แฝงความละมุนหวานจากบรรดาดอกไม้เหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็น แก้วเจ้าจอม โมกราชินี สะเลเต ไข่ดาว กันภัยมหิดล ฯลฯ
“คำขอที่ยิ่งใหญ่” เสมือนเป็นคำร้องขอให้สังคมได้ฉุกคิดถึงเหตุแห่งทุกข์ ไม่ว่าจะเป็นสังคมไหน กาลเวลาใดก็ตาม หากมีสติและมองเห็นเหตุที่มาจาก ‘ตัวตน’ ของเราได้ เมื่อนั้นความสงบและสันติสุข ย่อมบังเกิดในใจของทุกคนและสังคม
หนังสือ “คำขอที่ยิ่งใหญ่” โดยสำนักพิมพ์ สบายใจ ความยาว 201 หน้า กระดาษปอนด์ สี่สีทั้งเล่ม ราคา 198 บาท มีจำหน่ายที่ร้านหนังสือซีเอ็ดทุกสาขาและร้านหนังสือทั่วไป หรือสอบถามรายละเอียดได้ที่ โทร. 02-739-8380
เนื้อหาภายในเล่ม
เรือเปล่า พระไพศาล วิสาโล
พุทธศาสนา หรือ สันติภาพ ? พระไพศาล วิสาโล
คำขอที่ยิ่งใหญ่ พระไพศาล วิสาโล
อิสรภาพที่กลางใจ พระไพศาล วิสาโล
จัณฑาล (ภาค๑) อาทิตย์ยามเช้า
จัณฑาล (ภาค๒) อาทิตย์ยามเช้า
น้ำตาสีรุ้ง อาทิตย์ยามเช้า
กาฬีแห่งกุลมรนคร อาทิตย์ยามเช้า
ตัวอย่างบางตอน
มองอย่างพุทธ “เรือเปล่า” ก็คือจิตที่ว่างเปล่าจากตัวตนหรือพูดให้ถูกกว่านั้นก็คือจิตที่ว่างเปล่าจากความยึดมั่นถือมั่นในตัวตนนั่นเอง ผู้ที่มีจิตว่างเปล่าตามนัยดังกล่าวย่อมอยู่ในโลกนี้ได้อย่างราบรื่นและผาสุก แม้จะไม่ถึงกับปลอดพ้นจากการถูกตะโกนด่าว่าดังเรือเปล่าของจางจื๊อ แต่คำตะโกนด่าว่านั้นย่อมไม่อาจทำให้ทุกข์ได้ เพราะไม่มี “ตัวตน” ออกไปรับคำด่า
ใช่หรือไม่ว่า ถ้ามีตัวตนหรือยึดมั่นถือมั่นใน “ตัวกู” เมื่อไร ก็อดไม่ได้ที่จะเอาคำด่าว่านั้นมาเป็น “ของกู” เกิดความสำคัญ
มั่นหมายว่า “ตัวกู” ถูกด่า หรือมี “ตัวกู” เป็นเป้าให้คำด่าว่านั้นเข้ามากระทบกระแทก
(จากเรื่อง “เรือเปล่า” พระไพศาล วิสาโล หน้า ๒๖ )
ทุกวันนี้เราใช้ “หัว” กันมากเกินไป จึงนึกถึงแต่ผลได้กับผลเสีย เราใช้ “ใจ” กันน้อยลง จึงไม่รู้สึกถึงความทุกข์ของผู้ที่เจ็บปวดจากการกระทำของเรา ยิ่งไปกว่านั้นนับวันเราจะมีความรู้สึกผิดชอบชั่วดีกันน้อยลงทุกที ....
การขอโทษอาจทำให้เรารู้สึกเสียหน้า แต่แท้จริงแล้วตัวที่เสียหน้านั้นคือกิเลสมารต่างหาก เมื่อเราขอโทษ สิ่งที่จะเสียไปคืออหังการของอัตตา แต่สิ่งที่เราจะได้มานั้นมีคุณค่ามหาศาล นอกจากมิตรภาพแล้ว เรายังฟื้นความเป็นมนุษย์และความรู้สึกผิดชอบชั่วดีให้กลับคืนมา...
(จากเรื่อง “คำขอที่ยิ่งใหญ่” พระไพศาล วิสาโล หน้า ๑๒๘ )
“คนวรรณะอื่นในเมืองของเรา ยังมีใบตองรองข้าวของใครของมัน จะได้ไม่ต้องใช้ภาชนะร่วมกับคนวรรณะต่ำกว่า แล้วนี่วิฑูฑภะจะต้องมานั่ง มายืน มาเดิน มากิน มานอน มาจับต้องในสิ่งที่พวกเรา ยืน เดิน นั่ง นอน และกิน ได้อย่างไร
เราจะต้องใช้น้ำนมมากมายแค่ไหน ถึงจะชำระล้างเสนียดจัญไรให้หมดไปจากพระราชวังของเราได้ เพราะมืออันโสโครกนั่น จะต้องป่ายเปะไปจนทั่วแน่ๆ ”
(จากเรื่อง “ จัณฑาล ภาค๑” อาทิตย์ยามเช้า หน้า ๔๙ )
ความทุกข์นั้นหนาหนักเหลือที่จะรับไว้แต่เพียงลำพัง พระเจ้าอชาตศัตรูมุ่งหน้าไปเฝ้าพระมารดาเพื่อเป็นที่พึ่ง ขณะนั้นพระนางเวเทหิประชวรหนักด้วยความตรอมตรมพระทัย ทันทีที่เห็นพระมารดา กษัตริย์ผู้สำนึกผิดก้มองค์ลงกราบพระบาท ทรงกันแสงสะอึกสะอื้นไห้ เกลือกพระพักตร์ที่เต็มไปด้วยอัสสุชล กราบทูลพระมารดาว่า “ท่านแม่ ลูกรู้ตัวแล้วว่าเป็นคนชั่วช้าสามานย์....”
(จากเรื่อง “น้ำตาสีรุ้ง” อาทิตย์ยามเช้า หน้า ๑๕๔ )
แนะนำผู้เขียนและศิลปิน
พระไพศาล วิสาโล
เจ้าอาวาสวัดป่ามหาวัน จังหวัดชัยภูมิ ได้รับการยกย่องว่าเป็นพระสุปฏิปันโน ผู้ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ อุทิศกายใจเพื่อรับใช้พุทธศาสนา ทั้งยังมีความสามารถในเผยแผ่พระธรรมให้แก่สังคมด้วยความเมตตากรุณา ผ่านทางสื่อต่างๆ มากมาย โดยผู้ที่ได้ฟังและสนทนาธรรม หรือ อ่านข้อเขียนที่ท่านถ่ายทอดอย่างเรียบง่าย ต่างรับรู้ได้ถึงความอ่อนโยน เกื้อหนุนให้เกิดความรู้ เห็นเหตุแห่งปัญหาและพลังในการต่อสู้ก้าวเดินด้วยปัญญา
บทความ “คำขอที่ยิ่งใหญ่” เปรียบเสมือนคำขอ ให้เราทั้งหลายอย่ายึดติดถือมั่นในตัวตน อันนำมาสู่ความทุกข์แสนสาหัสในชีวิต การเรียนรู้ที่จะปล่อยวางความทุกข์นั้นจะค่อยๆ แปรเปลี่ยนชีวิตสู่กระแสธาราแห่งปิติสุข ความสงบ และสันติจะชะโลมสู่ใจเรา ทำให้สัมพันธภาพกับผู้คนและธรรมชาติเป็นไปอย่างราบรื่นกลมกลืน
ผลงานเขียนที่ผ่านมามีมากมาย อาทิ พุทธศาสนาไทยในอนาคต แนวโน้มและทางออกจากวิกฤต ชีวิตและความตายในสังคมสมัยใหม่ ฉลาดทำบุญฯ คัมภีร์มรณศาสตร์แห่งธิเบต ประตูสู่สภาวะใหม่ คำสอนธิเบตเพื่อเตรียมตัวตายและช่วยเหลือผู้ใกล้ตาย มรรคาแห่งชีวิต ก่อนอาทิตย์อัสดง เป็นต้น
อาทิตย์ยามเช้า
นามปากกาของนักเขียน ‘อาทิตย์ยามเช้า’ คือนักปฏิบัติธรรม และอาจารย์สอนธรรมะ ที่รังสรรค์งานเขียนด้วยถ้อยคำเรียบง่าย ดึงเรื่องราวแห่งสังคมในพุทธกาลให้ใกล้ชิดผู้อ่านในปัจจุบันได้อย่างละมุนละไม สะท้อนให้เห็นว่าไม่ว่าในสมัยใด สังคมที่มีผู้คนมากมายมาอาศัยรวมกัน ต้องพึ่งพาความเมตตาและการละวางตัวตน หากการศึกษาและนำมาสู่ความเข้าใจแก่นของพุทธศาสนาต้องน้อมไปปฏิบัติด้วยเพื่อนำพาสู่ความสงบทางธรรมได้
ผลงานเขียนที่ผ่านมา ได้แก่ ข้าวคลุกปลาทู (วรรณกรรมเด็ก) มรรคาแห่งชีวิต ก่อนอาทิตย์อัสดง
สมภพ บุตราช
ศิลปินผู้ยิ่งใหญ่ ที่มีผลงานจิตรกรรมทั้งในแนวเหมือนจริง ศิลปะไทยประเพณีและยังเคยเข้าร่วมออกแบบเขียนจิตรกรรมฝาผนังร่วมสมัยที่วัดพุทธประทีป ประเทศอังกฤษ สร้างงานศิลปะมาแล้วทุกรูปแบบ ทั้งจิตรกรรม ประติมากรรม ศิลปะจัดวาง ฯลฯ ทั้งยังมีผลงานในเนื้อหาเกี่ยวกับพุทธปรัชญา ด้วยเป็นลูกศิษย์ทางธรรมของพระไพศาล วิสาโล
ภาพดอกไม้ที่ปรากฎในหนังสือเล่มนี้ ไม่ได้ทำหน้าที่เป็นภาพประกอบ หากแต่ทำหน้าที่ส่วนหนึ่งให้ผู้อ่านได้รื่นรมย์และสัมผัสได้ถึงความบอบบาง ละมุนละไมของกลีบดอก สีสันและความงามที่ผุดขึ้นภายในใจเป็นดั่งสัญลักษณ์สะท้อนความงามแบบอุดมคติ ความสงบแบบพุทธศาสนาเป็นเสน่ห์ของงานศิลปะที่ไม่มีใครปฏิเสธได้
สอบถามาข้อมูลเพิ่มเติมกรุณาติดต่อ
กลุ่มสื่อสร้างสรรค์ วรภา เตชะสุริยวรกุล
โทร. 081-310-4755 และ 081-586-4755
Media4u@gmail.com

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ