กรุงเทพฯ--20 พ.ย.--ฟิทช์ เรทติ้งส์
บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด ประกาศคงอันดับเครดิตภายในประเทศ (National rating) ระยะสั้น ที่ระดับ ‘F2(tha)’ แก่ตั๋วแลกเงิน มูลค่าไม่เกิน 1 พันล้านบาท ซึ่งมีอายุไม่เกิน 270 วัน ซึ่งออกโดยบริษัท ฟินันซ่า จำกัด (มหาชน) (“FNS”) อันดับเครดิตดังกล่าวมีพื้นฐานมาจากความน่าเชื่อถือของ FNS ซึ่งได้รับการจัดอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวที่ระดับ ‘BBB(tha)’ แนวโน้มเครดิตเป็นลบ และอันดับเครดิตภายในประเทศระยะสั้นที่ ‘F3(tha)’ และการเพิ่มอันดับเครดิตจากการค้ำประกันเงินต้นในสัดส่วน 50% โดย The Netherlands Development Finance Company (“FMO”) FMO มีอันดับเครดิตเทียบเท่ากับอันดับเครดิตของประเทศเนเธอร์แลนด์ (ซึ่งมีอันดับเครดิตสากลที่ ‘AAA’/ แนวโน้มมีเสถียรภาพ/ ‘F1+’) เนื่องด้วย FMO มีรัฐบาลเนเธอร์แลนด์ถือหุ้นในสัดส่วน 51% และได้รับการสนันสนุนภายใต้ข้อตกลงในปี 2541 จากรัฐบาลเนเธอร์แลนด์
ผู้ถือตั๋วแลกเงินของ FNS คาดว่าจะได้รับการชำระคืนเงินต้นจาก FNS เป็นลำดับแรก ในกรณีที่ FNS ไม่สามารถทำการชำระหนี้ได้ FMO จะทำการชำระคืนในสัดส่วน 50% ของเงินต้นเท่านั้น การค้ำประกันบางส่วนจาก FMO ช่วยลดผลขาดทุนให้นักลงทุนในกรณีที่มีการผิดนัดชำระหนี้ อย่างไรก็ตาม เงื่อนไขการค้ำประกันได้กำหนดให้ FMO มีสิทธิรับช่วงสิทธิในการเรียกชำระหนี้จาก FNS ในกรณีที่ FMO ได้ทำการจ่ายเงินส่วนใดส่วนหนึ่งจากการค้ำประกัน ดังนั้น หากตั๋วแลกเงินไม่ได้ถูกจ่ายเต็มจำนวนโดย FNS หรือในกรณีที่ FNS ประสบภาวะล้มละลาย อาจทำให้ทั้งผู้ถือตั๋วแลกเงินและ FMO ต้องทำการเรียกร้องการชำระหนี้คืนจาก FNS ได้พร้อมกัน
FMO ถูกจัดตั้งขึ้นโดยรัฐบาลเนเธอร์แลนด์และผู้ดำเนินธุรกิจต่างๆในประเทศเนเธอร์แลนด์ในปี 2513 ในปัจจุบัน รัฐบาลเนเธอร์แลนด์ถือหุ้นในสัดส่วน 51% และธนาคารขนาดใหญ่ต่างๆในเนเธอร์แลนด์ถือหุ้นในสัดส่วน 42% กิจกรรมหลักของ FMO คือการสนับสนุนภาคธุรกิจในประเทศกำลังพัฒนาและประเทศเกิดใหม่ในเอเชีย ละตินอเมริกา และยุโรปกลางและยุโรปตะวันออก โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยให้มีการเติบโตทางเศรษฐกิจในเชิงโครงสร้างที่ยั่งยืนในประเทศเหล่านี้ รวมทั้งช่วยให้ภาคธุรกิจได้รับผลตอบแทนในระดับที่ดีไปด้วย เนื่องมาจากข้อตกลงระหว่างรัฐบาลเนเธอร์แลนด์และ FMO ซึ่งลงนามในปี 2541 รัฐบาลเนเธอร์แลนด์ จะช่วยป้องกันสถานการณ์ต่างๆที่อาจเกิดขึ้นเนื่องมาจากการที่ FMO ไม่สามารถที่จะปฏิบัติข้อผูกพันต่างๆในเวลาที่กำหนด ข้อผูกพันดังกล่าวได้รวมถึงการค้ำประกันต่างๆแก่บุคคลที่สามซึ่งเป็นการจัดหาเงินทุนแก่บริษัทเอกชนต่างๆในประเทศกำลังพัฒนา ฟิทช์จึงเชื่อว่ามีความเป็นไปได้อย่างสูงมากที่รัฐบาลเนเธอร์แลนด์จะให้การสนับสนุนแก่ FMO ในกรณีที่มีความจำเป็น
อันดับเครดิตของ FNS สะท้อนถึงโครงสร้างของบริษัทที่เป็นบริษัทโฮลดิ้ง การกระจายความเสี่ยงของรายได้ และเงินกองทุนที่เพียงพอของบริษัท อย่างไรก็ตาม อันดับเครดิตยังพิจารณาถึงการที่โครงสร้างผู้ถือหุ้นของบริษัทไม่ได้ประกอบไปด้วยสถาบันการเงินที่แข็งแกร่ง ความเสี่ยงทางด้านเครดิต ความเสี่ยงทางด้านตลาด (market risk) และความเสี่ยงทางด้านสภาพคล่องที่อาจเกิดขึ้นได้ของบริษัท และการพึ่งพารายได้ค่านายหน้าค้าหลักทรัพย์ และรายได้จากการลงทุนที่ค่อนข้างผันผวน FNS ได้ปรับแผนการให้สินเชื่อของบริษัทลูกโดยเปลี่ยนมามุ่งเน้นการให้สินเชื่อเพื่อรถยนต์จากเดิมที่เน้นการปล่อยสินเชื่อในภาคธุรกิจ เพื่อเป็นการปรับปรุงผลการดำเนินงานให้ดีขึ้น
FNS ได้รายงานผลขาดทุนสุทธิที่ระดับ 124 ล้านบาท สำหรับผลประกอบการ 9 เดือนแรกของปี 2550 โดยมีสาเหตุมาจากการตั้งสำรองเพิ่มขึ้นในบริษัทลูกซึ่งประกอบธุรกิจเงินทุนและผลดำเนินงานที่ลดลงของธุรกิจวาณิชธนกิจและธุรกิจค้าหลักทรัพย์ ในขณะที่ปริมาณการซื้อขายหลักทรัพย์ในตลาดมีการปรับตัวดีขึ้นเป็นอย่างมากในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา ซึ่งน่าจะช่วยให้รายได้ค่านายหน้าจากการค้าหลักทรัพย์มีการปรับตัวดีขึ้น แต่การตั้งสำรองเพิ่มขึ้นในบริษัทลูกซึ่งประกอบธุรกิจเงินทุนและการขาดทุนจากการปรับมูลค่าเงินลงทุนจากการลงทุนจำนวนมากในตราสารหนี้ประเภท Collateralized Debt Obligation หรือ CDO จำนวน 880 ล้านบาท (คิดเป็น 34% ของส่วนของผู้ถือหุ้นของ FNS) อาจมีผลทำให้เกิดผลขาดทุนอีกในไตรมาส 4 ได้ ณ สิ้นเดือนกันยายน 2550 อัตราส่วนส่วนของผู้ถือหุ้นต่อสินทรัพย์ของ FNS อยู่ที่ 28.6% คงที่จากปีที่แล้ว ซึ่งช่วยให้ FNS มีความสามารถเพียงพอที่จะรองรับผลขาดทุนที่อาจจะเกิดขึ้นเป็นจำนวนมากจาก CDO ได้ ในช่วงปีที่ผ่านมาผู้ร่วมก่อตั้งบริษัทและผู้บริหารระดับสูงได้มีการเพิ่มสัดส่วนการถือหุ้นในบริษัทจากเดิม 40% เป็นประมาณ 50% FNS ได้เริ่มทำการปรับปรุงธุรกิจนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ซึ่งเป็นธุรกิจหลักของบริษัท และทำการปรับปรุงการควบคุมความเสี่ยงและการเปิดเผยข้อมูลซึ่งน่าจะช่วยให้ผลประกอบการในปี 2008 ดีขึ้น อย่างไรก็ตาม ผลขาดทุนที่อาจเกิดขึ้นเป็นจำนวนมากจาก CDO และแรงกดดันในการระดมเงินทุน และสภาพแวดล้อมในการดำเนินงานที่อาจจะอ่อนแออย่างต่อเนื่อง อาจส่งให้อันดับเครดิตลดลงได้