กรุงเทพฯ--16 ส.ค.--สป.
วันที่15 ส.ค. ที่ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ แจ้งวัฒนะ สภาที่ปรึกษาฯ จัดแถลงข่าวข้อมูลสาระสำคัญ เกี่ยวกับ การยื่นความเห็นและข้อเสนอแนะต่อนายกรัฐมนตรี เรื่อง “นโยบายและยุทธศาสตร์การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ” เพื่อให้เกิดการกำหนดนโยบายเกี่ยวกับการแก้ปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจของประเทศไทย
โดยมีนายโอกาส เตพละกุล ประธานสภาที่ปรึกษาฯ และนายสมควร รวิรัช รองประธานสภาที่ปรึกษาฯ ได้ร่วมกันแถลงข่าว ต่อข้อเสนอทั้ง 19 ข้อ เพื่อประกอบการพิจารณาเป็นนโยบายของรัฐบาล
นายโอกาส เตพละกุล ประธานสภาที่ปรึกษาฯ กล่าวว่า จากการที่พรรคเพื่อไทยได้เป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างมาก เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2554 จำเป็นที่จะต้องมีการนำนโยบายหาเสียงไปสู่นโยบายของรัฐบาล ซึ่งถือเป็นนโยบายสาธารณะ ซึ่งนโยบายของพรรคเพื่อไทย ส่วนใหญ่เป็นลักษณะการกระตุ้นเศรษฐกิจโดยใช้เม็ดเงินอัดฉีด ทั้งด้านโครงสร้างพื้นฐาน ด้านการเพิ่มราคาสินค้าเกษตร, การเพิ่มการใช้จ่ายของภาครัฐ และภาคครัวเรือน นโยบายของพรรคเพื่อไทยหากแปลงเป็นนโยบายของรัฐบาลจะต้องใช้เม็ดเงินในการอัดฉีดในระยะเวลา 5 ปี กว่า 1.8 ล้านล้านบาท เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ จัดเป็นนโยบายแบบก้าวกระโดด หลายนโยบายเป็นการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางเศรษฐกิจ มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทั้งภาคการจ้างแรงงาน กลไกราคาสินค้าเกษตร และกลไกราคาแบบรุนแรง เป็นการเปลี่ยนแปลงแบบ “Change Policy” ประเด็นก็คือ นโยบายของพรรคเพื่อไทยหลายนโยบายเป็นสิ่งที่ดี โดยเฉพาะนโยบายด้านสังคม ทั้งด้านปราบปรามยาเสพติดอย่างจริงจัง การแก้ปัญหาคนยากจน, การให้ประชาชนเข้าถึงระบบสาธารณสุข และการรักษาพยาบาล รวมถึง ด้านเบี้ยเลี้ยงคนชรา ซึ่งเป็นนโยบายที่ต้องสนับสนุน เพียงแต่ว่าจะมีวิธีการทำอย่างไร ที่ไม่ไปกระทบต่อภาระค่าใช้จ่ายงบประมาณของประเทศ
ทั้งนี้ข้อเสนอของสภาที่ปรึกษาฯ ต่อการกำหนดนโยบายเร่งด่วนมีดังนี้
2.1 นโยบายการเพิ่มผลิตภาพแรงงานในภาคอุตสาหกรรมรายกลุ่ม
การเพิ่มผลิตภาพแรงงานในภาคอุตสาหกรรมรายกลุ่ม โดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่ต้องใช้แรงงานเข้มข้น ซึ่งการเพิ่มผลิตภาพอย่างเป็นรูปธรรมต้องมีการเสริมสร้างทักษะและจัดหาเทคโนโลยี เครื่องจักรที่เหมาะสม และการวิเคราะห์จัดหาหรือปรับเปลี่ยนเทคโนโลยีการใช้เทคโนโลยีแต่ละภาคอุตสาหกรรมร่วมถึงภาคอุตสาหกรรมการเกษตร
2.2 นโยบายแรงงานต่างด้าว
ประเทศไทยเข้าสู่สภาวะขาดแคลนแรงงาน เห็นได้จากอัตราการว่างงานต่ำกว่า ร้อยละ 0.8 และมีแนวโน้มจะต่ำไปสู่ร้อยละ 0.65 การปรับเปลี่ยนอุตสาหกรรมไปสู่ “STI Industry” ต้องการระยะเวลาในการผ่อนถ่าย จำเป็นที่จะต้องมีการใช้แรงงานต่างด้าวเข้ามาในระบบการผลิต โดยต้องจัดเป็นวาระแห่งชาติ นำแรงงานต่างด้าวนอกระบบ เข้าสู่ระบบการผลิต มีการกำหนดพื้นที่และหรือลักษณะงาน ที่ให้ทำหรือไม่ให้ทำชัดเจน ปัญหาแรงงานต่างด้าวเป็นปัญหาที่ยืดเยื้อมาช้านาน ต้องรีบดำเนินการจัดทำเป็นยุทธศาสตร์ชาติให้ชัดเจน โดย
(1) ผลักดันให้เกิดศูนย์การให้บริการแบบจุดเดียวเบ็ดเสร็จ (One Stop Service) เพื่อจัดระเบียบแรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมืองอย่างเป็นระบบ ที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติแล้ว โดยใช้ฐานข้อมูลและทะเบียนประวัติที่ชัดเจน และตรวจสอบได้ทุกเวลา เพื่อความคล่องตัวและความมีประสิทธิภาพในการทำงาน
(2) เปิดโอกาสให้แรงงานต่างด้าวประเทศอื่นเข้ามาทำงานในประเทศไทย เช่น อินโดนีเซีย ศรีลังกา อินเดีย และบังคลาเทศ เป็นต้น เพื่อให้มีการแข่งขันมากขึ้นในระหว่างแรงงานต่างด้าวด้วยกัน และมีทางเลือกสำหรับนายจ้างมากขึ้น
(3) เร่งรัดการออกกฎกระทรวงที่เกี่ยวข้องในการบังคับใช้เกี่ยวกับการจัดระบบแรงงานต่างด้าวที่เดินทางเข้ามาทำงานในลักษณะเช้ามา-เย็นกลับ และตามฤดูกาลที่เป็นรูปธรรม เช่น โดยให้กระทรวงแรงงานจัดทำบัตร Smart card สำหรับแรงงานต่างด้าวประเภทเช้ามา-เย็นกลับ และตามฤดูกาลมาใช้ โดยค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจากการใช้บัตร smart card ให้นายจ้างที่จ้างแรงงานต่างด้าวเป็นผู้จ่าย หรือให้แรงงานต่างด้าวเป็นผู้จ่ายเอง เพื่อให้การดำเนินงานตามพระราชบัญญัติการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2551 ในมาตรา 14 ให้มีผลบังคับใช้เป็นรูปธรรม
(4) ให้เข้มงวดการเปลี่ยนนายจ้างของแรงงานต่างด้าวในทางปฏิบัติ เฉพาะกรณีที่มีเหตุจำเป็น เช่น ถูกนายจ้างทารุณกรรม หรือนายจ้างไม่ปฏิบัติตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน ในกรณีที่จำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงนายจ้าง ให้นายจ้างใหม่เป็นผู้รับภาระค่าใช้จ่ายต่างๆ แทนนายจ้างเดิม รวมถึงภาระค้ำประกันแรงงานต่างด้าวที่เปลี่ยนนายจ้างด้วย
(5) ควรสร้างความตระหนักว่าแรงงานต่างด้าวที่เข้ามาและมีใบอนุญาตทำงาน (Work Permit) อย่างถูกกฎหมาย เป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องยอมรับสำหรับภาคการผลิตไทย และผลักดันให้เกิดการจดทะเบียนแรงงานต่างด้าว เพื่อไม่เป็นภาระต่อสังคมและสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจให้กับประเทศไทยต่อไป
2.3 นโยบายด้านพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก
(1) พลังงานไฟฟ้าและพลังงานด้านขนส่ง รัฐบาลจะต้องกำหนดนโยบายที่ชัดเจน ดังนี้
(1.1) ด้านพลังงานในภาคอุตสาหกรรม จะส่งเสริมให้มีการนำเศษชีวมวลจากภาคเกษตรและภาคอุตสาหกรรม ภาครัฐจะมีวิธีการส่งเสริมอย่างไร
(1.2) ด้านพลังงานในภาคขนส่ง การใช้ก๊าช NGV หรือไบโอดีเซล ก๊าซโซฮอล์ ภาครัฐจะต้องมีความชัดเจน เนื่องจากนโยบายด้านพลังงานทดแทนในภาคขนส่งที่ผ่านมารัฐบาลขาดความชัดเจน โดยเฉพาะไบโอดีเซลและ NGV รวมถึงการใช้ LPG ในรถส่วนบุคคลและรถบริการสาธารณะ
(1.3) ด้านพืชพลังงานที่เกี่ยวกับอาหาร จะต้องกำหนดเป็นยุทธศาสตร์ที่ชัดเจน ว่าพืชพลังงานประเภทใดบ้างที่จะนำมาใช้สำหรับด้านพลังงาน และพืชชนิดใดบ้างใช้เป็นอาหาร หากยังไม่ชัดเจนอนาคตจะทำให้ประเทศไทย มีต้นทุนด้านอาหารที่สูง เพราะเกษตรกรจะใช้พื้นที่ปลูกพืชพลังงาน
(1.4) ด้านการใช้พลังงานธรรมชาติ ได้แก่ พลังงานแสงอาทิตย์ ลม และน้ำ โดยเฉพาะด้านกระแสไฟฟ้าประเทศไทยต้องพึ่งพาเพื่อนบ้านการกำหนดยุทธศาสตร์ระยะยาวจะเป็นอย่างไร
(2) นโยบายด้านพลังงานทดแทน
เนื่องจากปัจจุบัน พลังงานทางเลือกและพลังงานทดแทนได้เข้ามามีบทบาทสำคัญต่อความต้องการใช้พลังงานฟอสซิล รัฐบาลจึงต้องมีนโยบาย จุดยืน การเลือกและกำหนดนโยบายที่ชัดเจนต่ออนาคตพลังงานของชาติ ทั้งนี้ เพื่อให้มีพลังงานใช้อย่างพอเพียงและยั่งยืน ดังนี้
(2.1) รัฐต้องส่งเสริมให้มีการนำเศษหรือของเหลือชีวมวลจากภาคการเกษตรและอุตสาหกรรมมาผลิตเป็นพลังงานซึ่งในระยะยาวรัฐควรสนับสนุนอย่างต่อเนื่องให้เป็นอุตสาหกรรมผลิตพลังงานทางเลือกที่สำคัญของประเทศ
(2.2) รัฐต้องมีจุดยืนและนโยบายการใช้พลังงานในภาคการขนส่งระยะยาวจาก (ก) ก๊าซ NGV (ข) Gasohol และ (ค) ไบโอดีเซล ที่ชัดเจน รวมถึงมีข้อกำหนดและขอบเขตที่ชัดเจนว่าด้วยการนำก๊าซ LPG เข้ามาใช้เพื่อการขนส่งส่วนบุคคลและสาธารณะ
(2.3) รัฐต้องกำหนดกรอบและขอบเขตทางเลือกการใช้พลังงานจากพืชและพืชที่ใช้เป็นอาหารให้ชัดเจนโดยคำนึงถึงการจัดโซนพื้นที่เพาะปลูกที่เป็นพืชพลังงานและพืชอาหาร ปัญหาความไม่สมดุลในเรื่องนี้จะก่อให้เกิดการขาดแคลนพลังงานและอาหารอย่างรุนแรงได้
(2.4) รัฐต้องมีนโยบายที่กำหนดสัดส่วนที่สมดุลต่อการพึ่งพาพลังงานจากต่างประเทศ และการแสวงหาหรือสร้างพลังงานเอง ไม่ว่าจะเป็นพลังงานน้ำ ลม และแสงแดด โดยเฉพาะส่งเสริมให้ทุกชุมชนมีการผลิตพลังงานทดแทนได้อย่างเต็มศักยภาพของชุมชน
(2.5) รัฐต้องสนับสนุนงานวิจัยด้านการมีพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือกทุกรูปแบบที่มีความเหมาะสมต่อประเทศ ได้แก่ พืชพลังงาน แสงแดด น้ำ ลม พลังงานชีวมวล เป็นต้น รวมทั้ง กระจายรายได้ให้ชุมชนได้รับผลประโยชน์จากการเป็นเจ้าของกิจการด้านพลังงานโดยรัฐมีมาตรการส่งเสริมอย่างเต็มที่
ทั้งนี้ รัฐต้องให้ความสำคัญกับมาตรา 67 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 “ ... การดำเนินโครงการหรือกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรงทั้งด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ และสุขภาพจะกระทำมิได้ เว้นแต่จะได้ศึกษาและประเมินผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนในชุมชน และจัดให้มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้มีส่วนได้เสียก่อน รวมทั้งได้ให้องค์การอิสระซึ่งประกอบด้วยผู้แทนองค์การเอกชนด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพและผู้แทนสถาบันอุดมศึกษาที่จัดการศึกษาด้านสิ่งแวดล้อมหรือทรัพยากรธรรมชาติหรือด้านสุขภาพ ให้ความเห็นประกอบก่อนมีการดำเนินการดังกล่าว...”
- พัฒนาวิธีการจัดการและส่งเสริมงบประมาณในการบริหารจัดการชีวมวลเพื่อใช้เป็นพลังงาน
- สนับสนุนกฎระเบียบที่จะให้มีการร่วมมือกันระหว่างภาครัฐและเอกชน
- ส่งเสริมด้านสิ่งแวดล้อมโดยให้มีความเข้มงวดในการจัดทำ EIA และ HIA
2.4 นโยบายด้านการส่งเสริมเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน
(1) การส่งเสริมเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน ด้วยการกำหนดพื้นที่เป้าหมาย เมืองชายแดนที่มีศักยภาพในการกำหนดให้เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษอุตสาหกรรมชายแดน เพื่อให้อุตสาหกรรมที่ต้องพึ่งพิงแรงงานเข้มข้นสามารถย้ายฐานการผลิตไปอยู่ตามตะเข็บชายแดนในเมืองที่มีศักยภาพ เช่น อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก บ้านพุน้ำร้อน จังหวัดกาญจนบุรี อำเถอแม่สาย จังหวัดเชียงราย ฯลฯ โดยให้มีการจัดระบบแรงงานต่างด้าวแบบเช้าไปเย็นกลับ และโครงสร้างพื้นฐานที่จะเป็นการเปิดด่านชายแดน ในฐานะเป็น Gate Way ของประเทศ ยกระดับด่านชายแดนที่มีศักยภาพให้เป็น Gate Way และส่งเสริมให้เป็น Border Town คือเมืองเศรษฐกิจชายแดน เพื่อในการจัดทำผังเมืองอุตสาหกรรม ท่องเที่ยวและโลจิสติกส์ โดยการพัฒนาเมืองต้นแบบ Model Town
(2) รัฐต้องให้ความสำคัญกับผลกระทบข้ามพรมแดนระหว่างประเทศอันเกิดจากการลงทุนสร้างโรงงานที่อยู่ตามชายแดน เช่น การสร้างโรงไฟฟ้า หรือ สร้างเขื่อนในชายแดนของประเทศเพื่อนบ้าน
(3) รัฐต้องให้ความสำคัญกับผลกระทบอันเกิดจากการตัดถนนเชื่อมต่อเขตการค้าชายแดนที่กระทบต่อเขตอุทยานหรือเขตป่าสงวน
(4) รัฐต้องปรับปรุงแก้ไขกฎหมาย กฎ ระเบียบ คำสั่งเดิมให้เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน เพื่อก้าวไปสู่ประชาคมอาเซียน
2.5 นโยบายด้านขับเคลื่อนศักยภาพในการแข่งขันรายอุตสาหกรรม
(1) โดยการกำหนดประเภทอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพในการกำหนดเป็นยุทธศาสตร์ ในการสร้างอุตสาหกรรมเฉพาะด้าน (Niche Industry) เช่น การส่งเสริมให้อุตสาหกรรมอาหารไปสู่การเป็นครัวโลก กลุ่มยานยนต์ กลุ่มยางและผลิตภัณฑ์จากยาง อุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ อุตสาหกรรมต่อเรือ อุตสาหกรรมไลฟ์สไตล์ ฯลฯ โดยอุตสาหกรรมเหล่านี้จะต้องกำหนด ทิศทางและเป้าหมายที่ต้องการ โดยต้องทำเป็นแผนปฏิบัติการและให้หน่วยงานภาครัฐเข้ามาเป็นพันธมิตร ดังเช่น ที่มีสถาบันอาหาร สถาบันสิ่งทอ ฯลฯ
(2) รัฐต้องปรับปรุงแก้ไขกฎหมาย กฎ ระเบียบ คำสั่งเดิมให้เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน เพื่อก้าวไปสู่ประชาคมอาเซียน
2.6 นโยบายด้านโลจิสติกส์ (Logistic) แห่งชาติ
(1) รัฐจะต้องมีการกำหนดยุทธศาสตร์ที่เหมาะสมเพื่อให้มีการขับเคลื่อนด้านโลจิสติกส์เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพภายใต้ต้นทุนที่ต่ำสอดคล้องกับการเป็นศูนย์กลางของภูมิภาคและการเชื่อมโยง AEC และ GMS โดยเสนอให้มีการปรับปรุงโครงสร้างคณะกรรมการพาณิชย์นาวี และ คณะกรรมการพัฒนาระบบการบริหารจัดการขนส่งสินค้าและบริการของประเทศ (กบส.) ให้มีการบูรณาการ มีเจ้าภาพ และมีการประเมินผล รวมถึงการส่งเสริมให้มีรถไฟฟ้าและรถไฟความเร็วสูงเป็นเครือข่ายครอบคลุมทั่วประเทศ
(2) การใช้ศักยภาพของทะเลอันดามันทางภาคใต้ เช่น การสร้างท่าเรือปากบาราสำหรับการขนส่ง และเชื่อมต่อสะพานเศรษฐกิจ (Land bridge) ไปสู่ฝั่งอ่าวไทย
2.7 นโยบายด้านการส่งเสริมความเข้มแข็งและขีดความสามารถ SME ไทยภายใต้บริบทการเปิด AEC
(1) ด้วยการส่งเสริมทั้งด้านทักษะ เทคโนโลยี นวัตกรรม ทุน และการส่งเสริมให้ SME ไทยไป ลงทุนประเทศเพื่อนบ้าน ที่มีต้นทุนการผลิตต่ำกว่าในประเทศไทย จัดให้มีกองทุน SME FUND อย่างจริงจัง รวมทั้งการปรับโครงสร้าง สสว., BOI, SME Bank, ธนาคารออมสิน และกรมพัฒนาผีมือแรงงาน ให้มีความบูรณาการและผลักดันศักยภาพของ SME ไทย อาจยกระดับให้มีหน่วยงานของรัฐเป็นเจ้าภาพ
(2) รัฐต้องปรับปรุงแก้ไขกฎหมาย กฎ ระเบียบ คำสั่งเดิมให้เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน เพื่อก้าวไปสู่ประชาคมอาเซียน
(3) โครงการครัวไทยสู่ครัวโลก (Kitchen of the world) โดยมุ่งส่งเสริมให้อาหารไทยเป็นหนึ่งในอาหารที่ได้รับความนิยมไปทั่วโลก พร้อมทั้งสนับสนุน การเปิดธุรกิจ ร้านอาหารไทยในต่างประเทศให้มีมาตรฐานสากล
2.8 นโยบายด้านการส่งเสริมการค้าชายแดนและการส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาคและประเทศที่สาม
(1) การค้าชายแดนในปัจจุบันได้ยกระดับไปสู่การค้าข้ามแดน เนื่องจากการขนส่งสินค้าไปยังประเทศเพื่อนบ้านมีแนวโน้มใช้การขนส่งทางถนน และจะมีสัดส่วนเพิ่มมากขึ้นในอนาคต การค้ากับประเทศเพื่อนบ้านทางถนนใน 2 ปีข้างหน้าอาจใกล้เคียง 1 ล้านล้านบาท โดยเฉพาะประเทศ GMS ปัจจุบันมีหน่วยของรัฐที่เกี่ยวข้อง ขาดการบูรณาการกันและขาดเอกภาพ จึงควรจัดตั้งเป็นกรมการค้าข้ามแดน (ไม่ใช่ชายแดน) สังกัดกระทรวงพาณิชย์ เป็นหน่วยงานส่งเสริมการส่งออกนำเข้าสำหรับสินค้าที่มีการขนส่งทางถนน ทั้งค้าชายแดนและข้ามแดนไปสู่ประเทศเพื่อนบ้านซึ่งดูแลถึงภาคบริการโลจิสติกส์ ทำหน้าที่ในการแก้ไขปัญหาและอำนวยความสะดวกทางการค้า และเป็นหน่วยงานในการแก้ปัญหาที่เกี่ยวข้องกับการแก้ปัญหาการค้าอย่างเป็นเอกภาคและควรให้ทำหน้าที่เลขานุการในคณะกรรมการพัฒนาประเทศเพื่อนบ้าน (คพบ.)
(2) รัฐต้องปรับปรุงแก้ไขกฎหมาย กฎ ระเบียบ คำสั่งเดิมให้เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน เพื่อก้าวไปสู่ประชาคมอาเซียน
2.9 นโยบายด้านการพัฒนาภาคการเกษตร
(1) การพัฒนาองค์กรเกษตร สหกรณ์ภาคการเกษตรให้มีความเข้มแข็ง การพัฒนาอาชีพของเกษตรกรตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง จัดให้มีการถ่ายทอดความรู้และเทคโนโลยีที่เหมาะสมให้กับเกษตรกรอย่างทั่วถึง และการจัดการหนี้สินเกษตรกรโดยยึดหลักการรักษาที่ดินทำกินให้เกษตรกร
(2) การจัดสรรที่ทำกินให้กับเกษตรกรที่ไร้ที่ทำกินเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม
(3) การส่งเสริมให้เกษตรกรเข้าถึงแหล่งเงินทุนกับสถาบันการเงินที่ไม่ต้องยึดหลักความเสี่ยงแบบเดียวกับภาคธุรกิจและอุตสาหกรรม เนื่องจาก ความเสี่ยงของภาคเกษตรขึ้นอยู่กับธรรมชาติเป็นหลัก
(4) การมีหลักประกันหรือกองทุนเพื่อชดเชยความเสียหายจากภัยธรรมชาติให้กับเกษตรกรหากประสบภัยธรรมชาติ เพื่อให้เกิดความมั่นคงในชีวิตและอาชีพของเกษตรกร
(5) การรักษาสมดุลระหว่างพืชพลังงานกับพืชอาหาร ให้มีความสมดุลระหว่างความมั่นคงด้านพลังงานและความมั่นคงด้านอาหาร
(6) การจัดทำยุทธศาสตร์ภาคเกษตรรองรับวิกฤตเศรษฐกิจรอบใหม่ เนื่องจากภาคเกษตรจะเป็นภาคที่รองรับวิกฤตเศรษฐกิจที่ส่งผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการ โดยภาคเกษตรจะเป็นภาคที่รองรับแรงงานจากภาคอุตสาหกรรมและบริการ
(7) การเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตร โดยการส่งเสริมการแปรรูปและอุตสาหกรรมต่อเนื่องจากภาคเกษตร ปรับตัวให้ภาคเกษตรไทยจากเดิมที่เน้นขายสินค้าเกษตรเชิงวัตถุดิบ มาเป็นผู้นำผู้บริหารตลาดอาหารและธุรกิจต่อเนื่องภาคเกษตร
(8) การเพิ่มขีดความสามารถในการผลิต โดยการพัฒนาและส่งเสริมการใช้เครื่องทุนแรงขนาดเล็กที่เหมาะสมในไร่นา เพื่อชดเชยการใช้แรงงานคนที่ขาดแคลน
(9) รัฐต้องบริหารจัดการน้ำให้เพียงพอต่อการทำการเกษตร
2.10 นโยบายขอให้ทบทวนระยะเวลาการใช้นโยบายของรัฐบาลที่อาจมีผลกระทบต่อขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ
นโยบายของพรรคเพื่อไทยหลายนโยบายเป็นสิ่งที่ดี แต่การผ่อนถ่ายต้องมีขั้นมีตอนรวมถึงการเยียวยาช่วยเหลือภาคธุรกิจบางกลุ่มที่ได้รับผลกระทบ อีกทั้งภาคเศรษฐกิจไทยมีหลายระดับหลากหลายมิติ มีขีดความสามารถในการแข่งขันที่แตกต่างกัน ประเทศไทยต้องพึ่งพิงการส่งออก ราคาสินค้าต้องมีการแข่งขัน การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจขอให้รัฐบาลมีการทบทวนโดยเฉพาะการแทรกแซงกลไกราคา และต้นทุนการผลิต จะเป็นการลดขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรมและภาคธุรกิจของไทย
2.11 นโยบายการจัดตั้งหน่วยงานในการป้องกันและเยียวยาภัยพิบัติจากธรรมชาติ
(1) ปัจจุบันภัยธรรมชาติ น้ำท่วมภัยแล้ง แผ่นดินไหว จัดเป็นความเสี่ยงต่อประชาชนและภาคธุรกิจ หน่วยงานที่ดูแลช่วยเหลือกระจัดกระจาย ขาดความบูรณาการให้ความช่วยเหลือสงเคราะห์เฉพาะหน้า จึงควรจัดตั้งหน่วยงานที่เป็นเจ้าภาพซึ่งควรเป็นหน่วยงานระดับกระทรวงหรือองค์กรอิสระ มีแผนงานงบประมาณ ในการบูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น องค์ปกครองส่วนท้องถิ่นในการแก้ปัญหาการป้องกัน และให้การช่วยเหลืออย่างเป็นระบบ ครอบคลุมในทุกมิติของความเสียหายที่จะเกิดขึ้น ทั้งภาคโลจิสติกส์ การผลิต เศรษฐกิจ และสังคม
(2) รัฐต้องมีการประเมินความล่อแหลม ความเปราะบาง (Vulnerability Assessment) ของชุมชนต่อความเสี่ยงด้านภัยธรรมชาติ เพื่อให้การปรับตัวของชุมชน มีความสอดคล้องกันสถานการณ์ เหมาะสมกับวิถีและชุมชนของไทย
(3) พัฒนากลไกการสื่อสารที่สอดคล้องกับความต้องการของชุมชน และความสามารถในการใช้งาน รวมถึงเตรียมความพร้อมของชุมชนในพื้นที่เสียงภัย ตลอดจนบุคลากร เครื่องมือ ด้านการเตือนภัยให้มีสมรรถนะสูงเพื่อป้องกันและให้พร้อมรับกับภัยธรรมชาติ
2.12 นโยบายการรับมือเศรษฐกิจโลกถดถอย
แนวโน้มเศรษฐกิจจะมีการชะลอตัวและถดถอยต่อเนื่องอย่างน้อย 2-3 ปี และอาจกระทบเป็นวงกว้าง กว่าที่คาดคิด ขอให้รัฐบาลมีการเตรียมมาตรการและหรือสำรองเครื่องมือการเงินการคลังสำหรับใช้ในการกระตุ้นเศรษฐกิจและเยียวยาภาคเศรษฐกิจ ประกอบด้วย
(1) นโยบายทบทวนโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ หรือมาตรการทางภาษีการเงินที่ไม่มีความจำเป็นเร่งด่วน ของให้รัฐบาลชะลอไว้ก่อนเพื่อใช้ในสถานการณ์ที่จำเป็นหากเศรษฐกิจโลกถดถอยซึ่งจะกระทบการส่งออก และการท่องเที่ยวอย่างรุนแรง ขอให้รัฐบาลเตรียมมาตรการการรับมือเป็นขั้นเป็นตอน การดูแลเงินทุนเคลื่อนย้าย เพื่อป้องกันการผันผวนในตลาดทุนและอัตราแลกเปลี่ยน
(2) การเตรียมมาตรการช่วยเหลือภาคการผลิต หากจะต้องมีการลดการจ้างงาน จากการที่ภาคส่งออกต้องได้รับผลกระทบ
(3) การหามาตรการร่วมกันในระดับภูมิภาค โดยการจัดทำเป็น Policy Collaborate
(4) ขอให้ภาครัฐมาตรการรองรับการผันผวนของราคาน้ำมัน ซึ่งเกิดจากปัญหาราคาน้ำมันโลกมีการปรับตัวสูงขึ้น ยังเป็นข้อกังวลของภาคธุรกิจหากยกเลิกกองทุนน้ำมัน โดยเฉพาะสถานการณ์ราคาน้ำมันซึ่งมีการปรับตัวสูงขึ้น อันเกิดจากปัญหาความไม่สงบในภูมิภาคตะวันออกกลาง และภูมิภาคแอฟริกาตอนเหนือ
(5) เสนอให้รัฐบาลแก้ไขภาพลักษณ์ให้ต่างชาติมีความเชื่อมั่นในการลงทุน
2. 13 นโยบายทบทวนนโยบายค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท แบบขั้นบันไดในการปรับ
หากรัฐบาลจะดำเนินการจริงควรจะให้ระยะเวลาก้าวขึ้นไปเป็นขั้นบันไดหรือให้เอกชนรับส่วนหนึ่งและรัฐบาลชดเชยในรูปแบบของค่าครองชีพอาจจะโอนเงินผ่านนายจ้างหรือ โอนเงินเข้าผ่านทางประกันสังคมให้กับลูกจ้างโดยตรง และเงินค่าครองชีพนี้จะทยอยลดลงโดยให้เป็นภาระของภาคเอกชนภายใน 3 ปี หากรัฐบาลจะให้เอกชนรับทีเดียวจะทำให้อุตสาหกรรมที่พึ่งพิงแรงงานเข้มข้นได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง และเรื่องภาษีนิติบุคคลหากจะทำต้องไม่ใช่สิ่งแลกเปลี่ยนการเพิ่มค่าจ้าง เพราะผู้ที่ได้ประโยชน์คือกลุ่มอุตสาหกรรมขนาดใหญ่เพียงไม่กี่กลุ่มขณะที่ SMEs ยิ่งจะเป็นการเพิ่มความเหลื่อมล้ำและลดขีดความสามารถในการแข่งขันของ SMEs อนึ่งรัฐบาลจะต้องเร่งนำอัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือแรงงาน ในแต่ละสาขาอาชีพมาใช้ โดยจะต้องมีระบบการอบรม การเทียบโอนประสบการณ์อย่างเป็นระบบ ซึ่งจะเป็นการแก้ปัญหาด้านค่าจ้างแรงงานอย่างยั่งยืน
2.14 นโยบายรองรับสถานการณ์ด้านเงินเฟ้อ
ซึ่งอาจเกิดจากการขับเคลื่อนนโยบายของรัฐบาลซึ่งใช้งบประมาณเป็นจำนวนมากจะส่งผลทำให้อัตราเงินเฟ้อสูงขึ้นไม่น้อยกว่าร้อยละ 5 กดดันทำให้ต้นทุนการผลิตมีการปรับตัวสูงขึ้นและส่งผลต่อขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (เฉพาะต้นทุนการผลิตรวมการปรับค่าแรง 300 บาทต่อวัน ทำให้ต้นทุนการผลิตรวมเพิ่มขึ้นร้อยละ 12 — 16)
2. 15 นโยบายการปรับปรุงกฎหมายที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประเทศ
กฎหมายหลายฉบับใช้มาตั้งแต่อดีตมีความล้าสมัย ไม่รองรับกับสภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน ควรมีการจัดตั้งคณะกรรมการในการแก้ไขปรับปรุงกฎหมาย ประกอบด้วย ภาครัฐ ภาคเอกชน โดยให้มีหน่วยงานราชการเป็นเจ้าภาพและเป็นเลขานุการ และควรมีการกำหนดกรอบระยะเวลาที่ชัดเจน
2. 16 นโยบายด้านการกีฬาและนันทนาการ
(1) จัดระบบบริหารจัดการกีฬาให้เป็นเอกภาพ โดยจัดตั้งคณะกรรมการกีฬาแห่งชาติ เกี่ยวกับนโยบาย มาตรการ กำกับ ดูแลและสนับสนุน การปฏิบัติงานตามแผนอย่างมีประสิทธิภาพ
(2) การจัดตั้งมหาวิทยาลัยกีฬาแห่งชาติ และมีวิทยาเขตกระจายทั่วทุกภูมิภาค
(3) ส่งเสริมขยายกิจกรรมกีฬาและนันทนาการ อย่างกว้างขวาง
2.17 นโยบายการสร้างความเข้มแข็งด้านเศรษฐกิจภาคบริการและการท่องเที่ยว
(1) พัฒนาผู้ประกอบการ SMEs ให้เข้มแข็ง เพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขัน และการเข้าสู่ตลาดของประเทศในกลุ่มอาเซียน จัดตั้งระบบกองทุนเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการธุรกิจ SMEs โดยตรง ให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายขึ้น และสนับสนุนการพัฒนาภูมิปัญญาท้องถิ่นสู่ทรัพย์สินทางปัญญา
(2) เตรียมความพร้อมรับมือในภาคบริการด้านการท่องเที่ยว และธุรกิจเกี่ยวเนื่อง ดังนี้
(2.1) มุ่งสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับผู้ประกอบการ ในการปฏิบัติตามข้อตกลงของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community : AEC) และเพื่อให้ได้รับประโยชน์จากการเข้าสู่ AEC
(2.2) ผลิตบุคลากรด้านการท่องเที่ยว ให้ตรงกับความต้องการของตลาด โดยปรับปรุงหลักสูตรการเรียนการสอน โดยมุ่งเน้นการสร้างโอกาสในการใช้ภาษาอังกฤษ และภาษาของกลุ่มประเทศอาเซียน การให้บริการมาตรฐานวิชาชีพ และการบริหารจัดการธุรกิจท่องเที่ยว มากขึ้น
(2.3) พัฒนาผู้ประกอบการด้านการท่องเที่ยวให้มีความพร้อมในด้านการบริหารจัดการ และประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขัน
(2.4) พัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกเพิ่มขีดความสามารถการบริการ โดยพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน คุณภาพการบริการ กิจกรรมท่องเที่ยวให้สอดคล้องกับศักยภาพเชิงวัฒนธรรมและทรัพยากรธรรมชาติในแต่ละพื้นที่
(2.5) ฟื้นฟูและบริหารจัดการแหล่งท่องเที่ยวอย่างเป็นระบบ มุ่งเน้นอัตลักษณ์พื้นถิ่นเพื่อสร้างความเป็นตัวตนที่เฉพาะตัวของแต่ละพื้นที่ให้เกิดความโดดเด่น และเกิดการกระจายรายได้การท่องเที่ยวไปยังทุกพื้นที่ โดยส่งเสริมให้จังหวัด องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคประชาชนและชุมชน มีส่วนร่วมในการจัดการและพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวใหม่ๆ เพิ่มขึ้น
(2.6) สร้างภูมิคุ้มกันให้อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทย โดยมุ่งเน้นผู้ประกอบการให้ดำเนินธุรกิจโดยมีความรับผิดชอบต่อสังคม (Corporate Social Responsibility : CSR) มากยิ่งขึ้น เน้นอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
(2.7) ส่งเสริมการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างมีส่วนร่วมในแต่ละพื้นที่ โดยเน้นความร่วมมือแบบไตรภาคี ( รัฐ(ส่วนกลาง/ส่วนท้องถิ่น) , เอกชน/ผู้ประกอบการ และชุมชน/ประชาชน) ให้เกิดขึ้นในทุกขั้นตอน ตั้งแต่การวางยุทธศาสตร์ การกำหนดงบประมาณ การร่วมดำเนินการ และการร่วมติดตามผล
(3) ปฎิรูปการศึกษาและและพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในลักษณะเฉพาะทางมากขึ้นให้สอดคล้องกับความต้องการสาขาบริการไทยที่มีศักยภาพ เช่น บุคลากรทางการแพทย์ บัญชี วิศวกร เป็นต้น
(4) พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานให้เกิดความสะดวกและเชื่อมโยงกันได้อย่างเป็นระบบ เพื่อสนับสนุนกิจกรรมด้านการค้า การบริการและการท่องเที่ยว
นโยบายเพิ่มความเข้มแข็งด้านเศรษฐกิจบริการ
1. พัฒนาคุณลักษณะของเยาว์ชนไทย ให้พร้อมก้าวเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซี่ยน โดยเฉพาะความพร้อมด้านภาษา เพื่อการสื่อสารและการใช้สื่อเทคโนโลยี
2. ส่งเสริมความเข็มแข็งในแหล่งเรียนรู้ภาคอื่นๆ เช่น สถาบันทางศาสนา ต้องมีบทบาทในการส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม ให้กับสังคม ปรับปรุงหลักสูตรให้มีรายวิชาที่ชัดเจน
3. ส่งเสริมการพัฒนางานวิจัย ให้สอดคล้องกับลำดับความจำเป็นเร่งด่วนในการพัฒนาประเทศ เช่น วิจัยด้านการศึกษา วิจัยด้านสื่อเทคโนโลยี
4. พัฒนาศูนย์ทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงาน เพื่อเป็นสถานที่ใช้ทดสอบ วัดความรู้ระดับมาตรฐานวิชาชีพไทย (ควรเพิ่มในสาขาอาชีพต่างๆ ให้มากกว่าที่ดำเนินการอยู่ ปัจจุบันมีการจำแนกมาตราฐานฝีมือเป็น 3 ช่วง คือชั้นต้น ชั้นกลาง และชั้นสูง ควรมีการปรับเทียบกับมาตราฐานฝีมือเพื่อกำหนดค่าแรงต่อไป) สาขาอาชีพที่เปิดทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงาน (ปัจจุบัน)
1. สายอาชีพช่างเชื่อมและโลหะแผ่น
2. สายอาชีพช่างกลโรงงาน
3. สายอาชีพช่างก่อสร้าง
4. สายอาชีพช่างไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์
5. สายอาชีพธุรกิจและอุตสาหกรรมศิลป์
6. สายอาชีพช่างยนต์
7. สายอาชีพอื่น ๆ
5. นโยบายการแจกแท็บเล็ตให้กับนักเรียน
5.1 นักเรียนมีความพร้อมหรือในการใช้ไม่
5.2 แท็บเล็ตจะใช้แทนหนังสือเรียนได้มีคุณภาพจริงหรือไม่
5.3 ระบบที่สนับสนุน เช่น อินเตอร์เน็ตในการรองรับมีความพร้อมแล้วหรือไม่
6. วางแผนการผลิตกำลังคนทางด้านการศึกษาให้สอดคล้องกับการพัฒนาประเทศ
6.1 ขณะนี้ประเทศขาดแรงงานกำลังคนชั้นกลางเพราะฉะนั้นต้องส่งเสริมการศึกษาในระดับอาชีวศึกษาในอัตราส่วนที่เพิ่มขึ้น
6.2 ปรับทัศนคติในการเรียนต่ออาชีวศึกษาของทุกภาคส่วน เช่น แนะแนวการ
ประกอบอาชีพตั้งแต่นักเรียนเริ่มเข้าสู่การศึกษาในระดับต้น
1. รัฐบาลควรกำหนดแนวนโยบายแห่งรัฐ ในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนทุกกลุ่มในสังคม โดยขับเคลื่อนการพัฒนาคุณภาพของคน ผ่านกลไกลของการปฏิรูปการศึกษา ทั้งในด้านความรู้ที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตให้อยู่รอดในสังคม เช่น ความรู้ด้านกฎหมาย และความรู้ที่จำเป็นต่อสร้างเสริมความมั่นคงให้กับชิวิต เช่นความรู้ในการประกอบอาชีพต่างๆ
2. รัฐบาลควรทบทวนกฎหมายด้านสวัสดิการสังคมเพิ่มเติม โดยเฉพาะกฎหมายที่มีผลโดยตรงต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตฯ เช่นจัดตั้งกองทุนฟื้นฟูผู้ประกอบอาชีพคนกลางคืน โดยนำเงินภาษีที่เรียกเก็บจากสถานบริการฯ มาพิจารณาจัดตั้งเป็นกองทุน ทั้งนี้รัฐบาลต้องมีการจัดทำฐานข้อมูลสถานบริการ และข้อมูลในส่วนของพนักงานที่ประกอบอาชีพในสถานบริการภาคกลางคืน
ผลักดันนโยบายการแก้ไขป้องกันปัญหายาเสพติดเป็นวาระแห่งชาติ ควบคู่ไปกับนโยบายส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรมให้เป็นวาระแห่งชาติ
2. 18. นโยบายด้านสังคมและการศึกษา คุณภาพชีวิต การปองดอง คอร์รัปชัน
(1) การแก้ปัญหาคอรัปชั่น (1.1) ปัญหาคอรัปชั่นเป็นปัญหาสำคัญที่ทำให้ลดขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทย ขอให้ระบบการจัดซื้อจัดจ้างจัดหา มีความโปร่งใส่ มีการตรวจสอบ และโอกาสที่เท่าเทียมกัน
(1.2) รัฐต้องนำหลักธรรมาภิบาลมาเป็นแนวทางในการบริหารงานในทุกๆ ด้านอย่างเป็นรูปธรรม
บทบาทของรัฐที่สำคัญนั้น คือ รัฐเป็นผู้มีบทบาทในการวางรากฐาน และรักษากฎระเบียบต่างๆ การสร้างธรรมาภิบาลของรัฐนั้นจำเป็นต้องอาศัยระบบการจัดการภาครัฐที่มีประสิทธิภาพ มีภาระรับผิดชอบภายใต้กฎหมาย และนโยบายที่โปร่งใสตรวจสอบได้ ดังนั้นจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่รัฐจะต้องจะใช้ธรรมาภิบาลเป็นเสมือนเครื่องมือในการพัฒนาขีดความสามารถ โดยมีการส่งเสริมบทบาทให้เกิดการทำงานที่ปราศจากการคอร์รัปชัน หรือการไม่นำผลประโยชน์ของสาธารณะมาใช้เพื่อประโยชน์ส่วนตัว
(2) ด้านสังคม
(2.1) ลดความเหลื่อมล้ำ
(2.2) การปฏิรูปการศึกษาทั้งระบบ
ทั้งนี้ เน้นการสอนให้ความรู้ทางด้านเทคโนโลยี นวัตกรรมตั้งแต่ระดับมัธยม อุดมศึกษา มหาวิทยาลัย เพื่อพัฒนาศักยภาพของ “คน” ให้มีคุณภาพ เก่งดีฉลาดและมีคุณภาพและส่งเสริมการวิจัย ในด้านต่างๆ เพื่อเป็นข้อมูลและแก้ไขปัญหาในการพัฒนาประเทศด้านต่างๆ
(2.3) การส่งเสริมป้องกันโรค การมีมาตรฐานการรักษาเดียวกัน
(3.4) ให้มีนโยบายระบบสวัสดิการทุกกลุ่มคน
2. 19 นโยบายด้านเศรษฐกิจพอเพียง
รัฐต้องส่งเสริมการดำเนินงานตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง โดยกำหนดให้ประเทศไทย
เป็นแผ่นดินของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ถวายเป็นพระราชสักการะแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในมหามงคลสมัยพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษาครบ 84 พรรษา กำหนดให้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเป็นนโยบายของชาติและวาระของชาติ แต่งตั้งคณะกรรมการปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงแห่งชาติ มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานกรรมการ เพื่อขับเคลื่อนปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงไปสู่การปฏิบัติให้บังเกิดผลเป็นรูปธรรม
ซึ่งในช่วงท้าย นายโอกาสฯ กล่าวว่า นโยบายของรัฐบาลหากจะนำมาใช้จริงก็ขอให้สอดคล้องกับสถานการณ์ของเศรษฐกิจโลกและสถานะของภาคธุรกิจ และมีความจำเป็นเร่งด่วน ส่วนนโยบายที่อาจมีผลกระทบต่อขีดความสามารถในระยะยาวควรจะมีการทบทวนหรือปรับเปลี่ยนให้เหมาะกับสถานการณ์และจัดทำเป็นแผนหรือ Road Map มีระยะเวลาที่ชัดเจนเพื่อให้ภาคการผลิตมีระยะเวลาผ่องถ่ายและปรับตัวซึ่งจะส่งผลต่อความยั่งยืนของเศรษฐกิจไทย