กรุงเทพฯ--17 ส.ค.--กลุ่มการประชาสัมพันธ์ สำนักงานปลัดกระทรวงการคลัง
“กระทรวงการคลัง” เรียกหน่วยงานมอบนโยบายเร่งด่วน ช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย 23 จังหวัด จากอิทธิพลพายุโซนร้อน “นกเตน” และมาตรการด้านภาษี
นายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผยภายหลังรับมอบนโยบายจากนายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เช้าวันนี้ ว่า ให้เร่งดำเนินการเร่งด่วนเกี่ยวกับกรณีที่เกิดอุทกภัยตามอิทธิพลของพายุโซนร้อน “นกเตน” (NOCK — TEN) ทางภาคตะวันออก-เฉียงเหนือ ตอนบนของประเทศไทย ซึ่งก่อให้เกิดความเดือดร้อน แก่ประชาชนในพื้นที่ประสบภัยพิบัติ ทั้ง 23 จังหวัด 222 อำเภอ 1,519 ตำบล 12,517 หมู่บ้าน ได้แก่ จังหวัดแพร่ เชียงใหม่ สุโขทัย น่าน ลำพูน ลำปาง แม่ฮ่องสอน อุตรดิตถ์ พิจิตร พิษณุโลก ตาก นครสวรรค์ นครพนม อุบลราชธานี อุดรธานี หนองคาย มุกดาหาร บึงกาฬ สกลนคร เลย เพชรบูรณ์ ประจวบคีรีขันธ์ และจังหวัดพระนครศรีอยุธยา
“เพื่อเป็นการบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่ผู้ประสบภัย พร้อมทั้งให้จังหวัดที่ประสบภัยพิบัติสามารถช่วยเหลือประชาชนที่เดือดร้อนได้อย่างรวดเร็ว ทันต่อสถานการณ์ จึงได้มอบนโยบายให้กรมบัญชีกลางดำเนินการเร่งด่วนเรื่องความคล่องตัวในการเบิกจ่ายเงินทดรองราชการของจังหวัดที่ประสบภัยพิบัติ ทั้ง 23 จังหวัด ที่มีอยู่ในอำนาจของผู้ว่าราชการจังหวัด จังหวัดละ 50 ล้านบาท ซึ่งเป็นไปตามหลักเกณฑ์การช่วยเหลือตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยเงินทดรองเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ.2546 และที่แก้ไขเพิ่มเติม” นายอารีพงศ์ กล่าว
นายรังสรรค์ ศรีวรศาสตร์ อธิบดีกรมบัญชีกลาง กล่าวเพิ่มเติมว่า ได้สั่งการให้สำนักงานคลังจังหวัดในพื้นที่ประสบภัยพิบัติ เป็นผู้ประสานงานกับผู้ว่าราชการจังหวัดในเรื่องการเร่งรัดให้มีการเบิกจ่ายเงินเพื่อให้ทันต่อสถานการณ์ในการช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่ประชาชนในเขตพื้นที่ดังกล่าวแล้ว กรณีที่มีปัญหาด้านการเบิกจ่ายทางกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย สามารถประสานงานกับกรมบัญชีกลางได้โดยตรงทันที สำหรับการเบิกจ่ายเงินทดรองราชการ ข้อมูลล่าสุด ณ วันที่ 13 สิงหาคม 2554 จังหวัดที่ประสบภัยพิบัติได้เบิกจ่ายแล้วจำนวน 97.319 ล้านบาท โดยจังหวัดที่เบิกจ่ายสูงสุดตามลำดับ คือ จังหวัดสุโขทัย ขอเบิกแล้ว 49.839 ล้านบาท และจังหวัดแพร่จำนวน 29.357ล้านบาท และจากการประสานงานกับ กรมป้องกันฯ ทราบว่ากำลังขออนุมัติขยายวงเงินทดรองฯ ของจังหวัดสุโขทัยเข้ามา อย่างไรก็ดี หากจังหวัดใดคาดการณ์ได้ว่าจะใช้เงินเกินกว่าวงเงิน 50 ล้านบาท ก็สามารถขอตกลงมาก่อนได้ ผ่านกรมป้องกันฯ โดยกรมบัญชีกลางสามารถอนุมัติเพิ่มเติมได้อีกจังหวัดละไม่เกิน 200 ล้านบาท
“ทั้งนี้ สำหรับหลักเกณฑ์การช่วยเหลือทางด้านการเกษตร ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ขอปรับหลักเกณฑ์และวิธีการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ.2551 กรมบัญชีกลางได้ให้ความเห็นชอบในเบื้องต้นแล้ว โดยเป็นกรอบหลักเกณฑ์และวิธีปฏิบัติปลีกย่อยต่าง ๆ เกี่ยวกับการให้ความช่วยเหลือด้านการเกษตร เพื่อให้เหมาะสมกับความเสียหายที่ได้รับจริง” นายรังสรรค์ กล่าว
นอกจากนี้ ทางกระทรวงการคลังยังมีมาตรการภาษี กรณีบุคคลธรรมดาที่บริจาคผ่านหน่วยงานราชการสามารถนำเงินที่บริจาคมาหักเป็นค่าลดหย่อนได้ และกรณีบริษัท/ห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลสามารถนำเงินหรือทรัพย์สินที่บริจาคมาหักเป็นรายจ่ายในการคำนวณภาษีเงินได้ และยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มที่นำสินค้าไปบริจาคเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัย ด้วย