กรุงเทพฯ--17 ส.ค.--PRdd
หลังจากที่ราคาหุ้นในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) ได้พุ่งขึ้นต้อนรับผลการเลือกตั้งในเดือนกรกฎาคม สัปดาห์ที่ผ่านมาตลาดหุ้นทั่วโลกรวมไปถึงประเทศไทยไทยก็ได้ดิ่งลงเหวอีกครั้ง อันเนื่องมาจากปัจจัยภายนอกประเทศ ดังเช่น การลดอันดับความน่าเชื่อถือของสหรัฐ และการกลับมาของวิกฤตหนี้เสียในยุโรป ส่งผลกระทบในแง่ลบกับเศรษฐกิจของไทย โดยเฉพาะอุตสาหกรรมการส่งออก
สาเหตุที่ทำให้ดัชนีตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ร่วงลงจาก 1,124 จุด มาอยู่ที่ 1,043 จุด ภายในเวลา 4 วันทำการ น่าจะมาจากการที่นักลงทุนต่างชาติโยกเงินจากตลาดหุ้นไปลงทุนในสินทรัพย์ที่ “ปลอดภัย” เช่น ตั๋วเงินคลังของสหรัฐ ทองคำ และเงินสกุลสวิสฟรังค์ ซึ่งการที่มีเงินจำนวนมากแห่เข้ามาลงทุนในสินทรัพย์ดังกล่าว อาจทำให้เกิดสภาวะฟองสบู่ของสินทรัพย์ดังกล่าวได้
ถึงแม้ว่าเงินลงทุนจากต่างชาติในตลาดหลักทรัพย์ฯจะช่วยทำให้เกิดสภาพคล่อง อีกทั้งเพิ่มทางเลือกให้กับบริษัทในประเทศในการระดมทุนและสามารถทำให้ราคาของหุ้นบางตัวปรับขึ้นได้โดยเฉพาะกรณีที่มูลค่าของหุ้นตัวนั้น(P/E) ต่ำกว่ามูลค่าหุ้นของบริษัทในอุตสาหกรรมเดียวกันที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ต่างประเทศ อย่างไรก็ตาม อย่างที่เราได้เห็นในสัปดาห์ที่ผ่านมา รวมทั้งเหตุการณ์ในอดีตช่วงปี 2551-2552 มูลค่าตลาดของตลาดหลักทรัพย์ฯ ก็สามารถหายไปในเวลาชั่วข้ามคืน เมื่อนักลงทุนจากต่างชาติเทขายหุ้นในเวลาไล่เลี่ยกัน แล้วในกรณีนี้ นักลงทุนในประเทศจะสามารถรับมืออย่างไรได้บ้าง
อย่างแรกเลย สิ่งที่นักลงทุนสามารถทำได้ในสภาวะเช่นนี้คือ การซื้อของในราคาถูก ไม่ว่าจะเป็นกองทุนรวมดัชนีหุ้น กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) กองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) หรือ การเข้าซื้อหุ้นที่มีปัจจัยพื้นฐานดี ด้วยแนวคิดที่ว่า เมื่อเหตุการณ์เลวร้ายนอกประเทศได้จบลงแล้ว นักลงทุนต่างชาติก็จะกลับเข้ามาในประเทศไทยอีก ซึ่งจะช่วยดันดัชนีตลาดหลักทรัพย์ไทย ให้กลับขึ้นไประดับเดิมหรือสูงกว่า เหมือนอย่างที่วอเรนต์ บัฟเฟ็ต เคยกล่าวไว้ว่า นักลงทุนควรจะกลัวเมื่อคนอื่นโลภ และควรจะโลภเมื่อคนอื่นกลัว ซึ่งกลยุทธ์ดังกล่าวนี้ จะได้ผลดีก็ต่อเมื่อ
1. นักลงทุนมีเงินเพียงพอที่จะช้อนซื้อหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ฯ และสามารถถือได้ในระยะเวลานาน
2. นักลงทุนสามารถมั่นใจว่าสภาวะตลาดจะไม่แย่มากไปกว่านี้ ซึ่งถ้าทำได้จริงคนส่วนใหญ่ก็คงเป็นเศรษฐีกันหมดแล้ว
แต่ก็เป็นที่รู้กันว่า การลงทุนในหุ้นไม่ได้เหมาะกับความเสี่ยงที่ยอมรับได้และสภาพคล่องของทุกคน ผลิตภัณฑ์การลงทุนอื่นที่มีความเสี่ยงต่ำมากๆ เช่น เงินฝากประจำ หรือพันธบัตรรัฐบาลที่สามารถให้ผลตอบแทนที่มั่นคงกว่า แต่ปัญหาก็คือเครื่องมือทางการเงินเหล่านี้อาจจะไม่มีประสิทธิภาพเท่าไหร่ในสภาวะที่เงินเฟ้อสูง ซึ่งก็มีแนวโน้มที่จะสูงขึ้นไปเรื่อยๆตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลใหม่
ในโอกาสนี้ กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ จึงน่าจะเป็นการลงทุนที่เหมาะสมมากกว่า สำหรับนักลงทุนที่คิดว่าการลงทุนในหุ้นมีความเสี่ยงสูง แต่ในขณะเดียวกันก็ยังอยากได้ผลตอบแทนสม่ำเสมอและสูงกว่าอัตราเงินเฟ้อ ทั้งนี้เพราะกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ส่วนใหญ่มีการจ่ายเงินปันผลทุกๆไตรมาส ในอัตราผลตอบแทนระหว่าง 7-10% ต่อปีของราคาตลาด ซึ่งสูงกว่าอัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลหรือเงินฝากประจำอย่างเห็นได้ชัด และการที่กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์มีการจ่ายเงินปันผลที่สม่ำเสมอ ทำให้ราคาตลาดของหน่วยลงทุนไม่แกว่งตัวมากนักเมื่อเทียบกับหุ้น ซึ่งต้องยอมรับว่าเวลาที่ตลาดหุ้นพุ่งขึ้นแรงๆ ราคาตลาดของกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์จะเพิ่มในอัตราที่ไม่สูงเท่าหุ้นสามัญทั่วไป ในทางกลับกันในภาวะตลาดหุ้นขาลง ราคาตลาดของกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ก็ไม่ปรับลงมากเท่ากับหุ้นด้วยเช่นกัน ดังนั้นนักลงทุนสามารถมองกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ว่าอยู่ระหว่างหุ้นและพันธบัตรทั้งในแง่ของความเสี่ยงและผลตอบแทน
ที่กล่าวมาทั้งหมดนั้น ไม่ได้หมายความว่านักลงทุนควรจะขายทุกอย่างเพื่อมาลงทุนในกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ เพราะอย่างไรก็ตาม การกระจายความเสี่ยงก็เป็นหัวใจที่สำคัญที่สุดของการลงทุน แต่ต้องการจะชี้ให้เห็นว่า ช่วงเวลานี้อาจจะเป็นเวลาที่เหมาะสมที่เริ่มมอง หรือลงทุนเพิ่มในกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์