กรุงเทพฯ--18 ส.ค.--ก.ล.ต.
ก.ล.ต. เปิดตัวเลขนายจ้างจัดตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเพิ่มขึ้นในไตรมาส 2 ปี 2554 กว่า 8% จากปี 2553และให้การตอบรับการจัดตั้งกองทุนที่มีนโยบายการลงทุนที่หลากหลาย (employee’s choice) เป็นอย่างดี ในขณะที่ ก.ล.ต. กำลังปรับปรุงหลักเกณฑ์ employee’s choice ให้กองทุนและสมาชิกมีการกระจายความเสี่ยงอย่างเหมาะสม สอดคล้องกับแนวปฏิบัติสากล เนื่องจากเป็นเงินออมเพื่อใช้ในยามเกษียณ
นายประเวช องอาจสิทธิกุล ผู้ช่วยเลขาธิการอาวุโส ก.ล.ต. กล่าวว่า “กองทุนสำรองเลี้ยงชีพของไทยมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดย ณ สิ้นไตรมาส 2/2554 มูลค่าทรัพย์สินสุทธิอยู่ที่ 595,228 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 3.8% จากสิ้นปี 2553) มีนายจ้างที่จัดตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพให้ลูกจ้างทั้งสิ้น 10,806 ราย (เพิ่มขึ้น 8.3% จากสิ้นปี 2553) มีสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพทั้งสิ้น 2.2 ล้านคน (เพิ่มขึ้น 3.7% จากสิ้นปี 2553) และหลังจากมีการแก้ไขพระราชบัญญัติกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ พ.ศ. 2530 เมื่อปี 2551 มีสมาชิกที่เกษียณอายุหรือออกจากงานด้วยเหตุอื่น ๆ ขอคงเงินไว้ในระบบทั้งสิ้น 2,189 ราย (เพิ่มขึ้น 11.3% จากสิ้นปี 2553) คิดเป็นยอดเงินทั้งสิ้น 3,013 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 20.9% จากสิ้นปี 2553) ซึ่งเป็นสัญญาณที่ดีที่สมาชิกให้ความสำคัญกับการออมเงินไว้ในระบบอย่างต่อเนื่องเพื่อเก็บไว้ใช้ในยามเกษียณมากขึ้น
ที่ผ่านมา ก.ล.ต. ได้สนับสนุนบริษัทและหน่วยงานต่าง ๆ ให้จัดตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพให้แก่ลูกจ้างในรูปแบบ employee’s choice พร้อมทั้งสนับสนุนให้ลูกจ้างที่เป็นสมาชิกกองทุนเลือกนโยบายที่เหมาะสมกับความเสี่ยงของตนเอง ซึ่งได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี โดย ณ สิ้นไตรมาส 2/2554 มีกองทุนที่จัดให้มีหลายนโยบายการลงทุนแล้วทั้งสิ้น 86 กองทุน (เพิ่มขึ้น 14.7% จากสิ้นปี 2553) และมีนายจ้างที่จัดให้มี employee’s choice จำนวน 2,465 ราย (เพิ่มขึ้น 39.7% จากสิ้นปี 2553)
นอกจากนี้ ก.ล.ต. กำลังปรับปรุงหลักเกณฑ์ของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพให้มีความเหมาะสม และสมาชิกกองทุนไม่ได้รับความเสี่ยงจากการลงทุนมากเกินไปจนกระทบต่อเงินออมที่จะใช้ในยามเกษียณ ซึ่งเป็นการรองรับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่มี employee’s choice และสอดคล้องกับหลักสากลในการกำกับดูแลการลงทุนของกองทุนการออมเพื่อยามเกษียณ (pension fund) โดยเรื่องที่เกี่ยวข้องกับสมาชิกโดยตรงมี 2 เรื่อง ได้แก่
(1) สมาชิกกองทุนจะต้องรู้ว่ากำลังตัดสินใจลงทุนในนโยบายที่มีความเสี่ยงสูง โดยกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่มี employee’s choice บริษัทจัดการต้องจัดทำการประเมินระดับความเสี่ยง (suitability test) และให้คำแนะนำที่เหมาะสมแก่สมาชิกที่เลือกลงทุนในนโยบายที่มีความเสี่ยงสูง (เฉพาะนโยบายลงทุนในหลักทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำน้อยกว่าร้อยละ 50 ของมูลค่าเงินกองทุนรายสมาชิก) (2) เพิ่มทางเลือกในการลงทุนและให้มีการกระจายความเสี่ยงที่เหมาะสม โดยให้กองทุนสำรองเลี้ยงชีพสามารถลงทุนในกลุ่มทรัพย์สินทางเลือกเช่น กองทุนรวมสินค้าโภคภัณฑ์หรือตราสารที่อ้างอิงราคาสินค้าโภคภัณฑ์ กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานได้ไม่เกินร้อยละ 15 ของมูลค่าสินทรัพย์สุทธิ (NAV) รายกองทุนหรือรายนโยบายการลงทุนแล้วแต่กรณี”