สหภาพยุโรปเดินหน้ายกระดับมาตรฐานส่งออกผักและผลไม้ไทย

ข่าวทั่วไป Thursday August 18, 2011 14:23 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--18 ส.ค.--Francom Asia สหภาพยุโรป (อียู) ให้ความช่วยเหลือทางวิชาการมุ่งปรับปรุงระบบควบคุม ตรวจสอบและรับรองเพื่อประกันความปลอดภัยและคุณภาพของผักและผลไม้ไทยที่ส่งออกไปยังอียู โดยจัดงานสัมมนาหลากหลายส่วนสำหรับเจ้าหน้าที่รัฐและภาคธุรกิจของไทย ตั้งแต่เดือนกรกฎาคมถึงกันยายน ศกนี้ งานสัมมนา ส่วนแรกเน้นในเรื่องสุขอนามัยพืช โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่เจ้าหน้าที่ไทยในด้านกฎข้อบังคับด้านสุขอนามัยพืชของอียู การควบคุมการนำเข้าของอียู การตรวจสอบและการรับรอง รวมถึงการควบคุมศัตรูพืชในช่วงก่อนและหลังการเก็บเกี่ยว เอกอัครราชทูต เดวิด ลิปแมน หัวหน้าคณะผู้แทนสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย กล่าวว่า ”อียูให้ความสำคัญกับสุขอนามัยและสุขอนามัยพืชเป็นอย่างมาก จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการนำระบบควบคุม ตรวจสอบและรับรองการส่งออกพืชและผลิตภัณฑ์จากพืชที่มีประสิทธิภาพมาใช้เพื่อป้องกันการปนเปื้อนจากเชื้อจุลินทรีย์ สารเคมีตกค้างจากยาฆ่าแมลงและศัตรูพืชในผักผลไม้สด การอบรมเชิงปฏิบัติการที่เราจัดขึ้นจะให้ความช่วยเหลือทางวิชาการในหลายระดับขั้นตั้งแต่ในระดับเกษตรกรไปยังขั้นตอนการส่งออก เพื่อเสริมสร้างความมั่นใจว่าผักผลไม้สดที่ส่งออกไปยังอียูมีความปลอดภัยและเปี่ยมไปด้วยคุณภาพ เราหวังเป็นอย่างยิ่งว่าความช่วยเหลือนี้จะช่วยสร้างความแข็งแกร่งให้กับระบบการควบคุมการส่งออกและการออกใบรับรองของประเทศไทย เพื่อจะได้ส่งออกผักและผลไม้ที่ปลอดภัยและมีคุณภาพให้กับอียูสืบต่อไป” นางภาวนาฎ บุนนาค ผู้อำนวยการกลุ่มพัฒนาระบบตรวจสอบคุณภาพสินค้า สำนักพัฒนาระบบและรับรองมาตรฐานสินค้าพืช กล่าวว่า “ทุกวันนี้ ภาคการเกษตรมีบทบาทสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจและสังคมไทยเป็นอย่างมาก จะเห็นได้จากที่จำนวนประชากรมากกว่าครึ่งของประเทศไทยทั้งหมดล้วนสร้างรายได้มาจากภาคการเกษตรทั้งสิ้น ดังนั้น จึงเป็นสิ่งสำคัญมากสำหรับเราที่จะต้องทำทุกวิถีทางเพื่อยกระดับสินค้าเกษตรที่เราผลิตเพื่อการส่งออกให้ได้มาตรฐานอันเข้มงวดที่ประเทศในสหภาพยุโรปกำหนดไว้” งานสัมมนาในส่วนที่สองเน้นเรื่องมาตรฐานความปลอดภัยและคุณภาพของผักผลไม้สด ซึ่งจะครอบคลุมถึงการฝึกอบรมด้านการควบคุมการจัดการในระบบ HACCP และ GMP สำหรับผู้ประกอบการคัดบรรจุสินค้าและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง นอกจากนี้ยังมีเนื้อหาเกี่ยวกับการใช้และการควบคุมสารเคมีกำจัดศัตรูพืชเพื่อลดความเสี่ยงของการปนเปื้อนจากเชื้อจุลินทรีย์และสารเคมีตกค้างจากยาฆ่าแมลงในผักผลไม้สดที่ส่งออกไปยังต่างประเทศ การอบรมส่วนสุดท้ายจะเน้นความสำคัญของการพัฒนาวิธีวิเคราะห์ของเจ้าหน้าที่ห้องปฏิบัติการของกรมวิชาการเกษตร เพื่อพัฒนาความรู้ความสามารถของเจ้าหน้าที่ห้องปฏิบัติการของไทยในการตรวจวิเคราะห์สารเคมีตกค้าง นำไปสู่การตอกย้ำความเชื่อมั่นของผู้บริโภคทั้งในประเทศไทยและในตลาดอียูถึงคุณภาพของผักและผลไม้จากประเทศไทย ประเทศไทยเป็นหนึ่งในผู้นำของโลกที่ผลิตและส่งออกสินค้าเกษตรจากภาคอุตสาหกรรมอาหารแปรรูปที่ได้มาตรฐานและมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง โดยในปี พ.ศ.2553 ประเทศไทยส่งออกพืชและผลิตภัณฑ์จากพืชไปยังอียูคิดเป็นมูลค่ารวมกันสูงกว่า 16,500 ล้านบาท (มากกว่า 412 ล้านยูโร) คำบรรยายภาพ (จากซ้ายไปขวา) นางภาวนาฎ บุนนาค ผู้อำนวยการกลุ่มพัฒนาระบบตรวจสอบคุณภาพสินค้า สำนักพัฒนาระบบและรับรองมาตรฐานสินค้าพืช, นางซิลวี มีอาเลต์ ผู้เชี่ยวชาญการฝึกอบรมด้าน HACCP, ดร.จอร์จ ฟูลเลอร์ ผู้ประสานงานโครงการและผู้เชี่ยวชาญด้านสารเคมีกำจัดศัตรูพืช และว่าที่ รต.ธงชัย วรวงศากุล ผู้อำนวยการกลุ่มพัฒนาระบบตรวจรับรองมาตรฐานสินค้า กรมวิชาการเกษตร ถ่ายรูปร่วมกันในงานสัมมนาปรับปรุงระบบควบคุมผักและผลไม้ รวมทั้งผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรจากประเทศไทย เมื่อเร็วๆนี้ หากต้องการข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ: คุณกุลวดี สุมาลย์นพ โทร. 02 305 2600 ต่อ 2644 อีเมล: kullwadee.sumalnop@ext.eeas.europa.eu คุณวันดี เลิศสุพงศ์กิจ โทร. 02 233 4329-30 ต่อ 19 อีเมล: wandeel@francomasia.com สหภาพยุโรปให้การสนับสนุนความช่วยเหลือทางวิชาการนี้ ผ่านโครงการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศไทยและสหภาพยุโรป ระยะที่ 2 หรือ TEC II โดยมีจุดประสงค์เพื่อส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแบบยั่งยืน และสนับสนุนบทบาททางเศรษฐกิจของประเทศไทยบนเวทีโลก ความช่วยเหลือภายใต้โครงการนี้แบ่งออกเป็นสองส่วน ส่วนแรกคือทุนสนับสนุนที่มอบให้แก่มหาวิทยาลัย องค์กรเอกชน หรือองค์กรภาคธุรกิจ เพื่อจัดทำโครงการต่างๆ และส่วนที่สองคือการสนับสนุนการหารือด้านนโยบาย (PDSC) ได้แก่ การให้ความช่วยเหลือทางวิชาการง การจัดสัมมนา การศึกษาวิจัย และการรณรงค์เพื่อกระตุ้นให้เกิดการหารือด้านนโยบายระหว่างประเทศไทยและสหภาพยุโรป

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ