สปส.ย้ำกองทุนเงินทดแทนคุ้มครองลูกจ้างประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยจากการทำงาน

ข่าวทั่วไป Wednesday November 21, 2007 14:39 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--21 พ.ย.--สปส.
สำนักงานประกันสังคม (สปส.) ย้ำกองทุนเงินทดแทนให้ความคุ้มครองลูกจ้าง กรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยเนื่องจากการทำงาน พร้อมทั้ง ให้การดูแลกรณีสูญเสียอวัยวะหรือสูญเสียสมรรถภาพในการทำงาน
นายสุรินทร์ จิรวิศิษฎ์ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กล่าวว่า สำนักงานประกันสังคม มีกองทุนเงินทดแทนที่มีหน้าที่ดูแลให้ความคุ้มครองลูกจ้างตั้งแต่วันแรกที่เข้าทำงาน แล้วเกิดประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยเนื่องจากการทำงาน โดยนายจ้างต้องแจ้งการประสบอันตรายตามแบบแจ้งการประสบอันตราย (กท.16) พร้อมสำเนาหนังสือส่งตัวลูกจ้างเข้ารักษาพยาบาล (กท.44) ส่งให้สำนักงานประกันสังคมภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ลูกจ้างประสบอันตราย ทั้งนี้ ลูกจ้างที่ประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยมีสิทธิได้รับค่ารักษาพยาบาลเท่าที่จ่ายจริงตามความจำเป็นไม่เกิน 35,000 บาท หากมีความรุนแรงตามที่กำหนดในกฎกระทรวงสามารถเบิกเพิ่มได้วงเงินสูงสุดถึง 200,000 บาท ซึ่งหากลูกจ้างเข้ารักษาพยาบาลในสถานพยาบาลในความตกลงของกองทุนเงินทดแทน นายจ้าง ลูกจ้างไม่ต้องจ่ายค่ารักษาพยาบาล โรงพยาบาลจะส่งใบแจ้งหนี้มาเรียกเก็บจากสำนักงานประกันสังคมภายหลัง แต่ถ้าเข้ารักษาพยาบาลในสถานพยาบาลที่ไม่อยู่ในความตกลงของกองทุนเงินทดแทน นายจ้าง ลูกจ้างต้อง ทดรองจ่ายค่ารักษาไปก่อนแล้วนำใบเสร็จค่ารักษาพยาบาลมาเบิกคืนจากกองทุนภายใน 90 วัน และหากลูกจ้างไม่สามารถทำงานได้ติดต่อกันเกิน 3 วัน จะได้รับค่าทดแทนร้อยละ 60 ของค่าจ้าง รายเดือน โดยจ่ายตั้งแต่วันแรกไปตลอดระยะเวลาที่ไม่สามารถทำงานได้แต่ไม่เกิน 1 ปี
นายสุรินทร์ กล่าวอีกว่า ในกรณีที่ลูกจ้างสูญเสียอวัยวะหรือสูญเสียสมรรถภาพในการทำงานของอวัยวะบางส่วน จะได้รับค่าทดแทนร้อยละ 60 ของค่าจ้างรายเดือนตามประเภทของการสูญเสียแต่ ไม่เกิน 10 ปี พร้อมทั้ง สามารถเข้ารับการฟื้นฟูสมรรถภาพในการทำงานได้ โดยมีค่าใช้จ่ายในการฟื้นฟูฯ ด้านการแพทย์และอาชีพไม่เกิน 20,000 บาท และค่าใช้จ่ายในการผ่าตัดเพื่อประโยชน์การฟื้นฟูสมรรถภาพในการทำงานไม่เกิน 20,000 บาท หากนายจ้าง ลูกจ้างมีข้อสงสัย สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานประกันสังคมเขตพื้นที่/จังหวัด และสำนักงานกองทุนเงินทดแทน โทร.0-2956-2726-7 หรือสายด่วน 1506 ได้ทุกวันไม่เว้นวันหยุดราชการ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ