กรุงเทพฯ--18 ส.ค.--ธนบุรินทร์ เอเซีย แปซิฟิค
(ซิดนีย์) แควนตัส กรุ๊ป ประกาศกลยุทธ์การดำเนินงานใหม่เฟสแรกเพื่อนำธุรกิจให้มีความทันสมัย เน้นเรื่องลูกค้า และธุรกิจการบินทั่วโลกที่มีการแข่งขันกันสูง
มร.อลัน จอยส์ ประธานกรรมการบริหาร สายการบิน แควนตัส เปิดเผยว่า “วันนี้ การสร้างแบรนด์ของ แควนตัสในเส้นทางบินนานาชาติเริ่มขึ้นอีกครั้ง ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา แควนตัสเป็นสายการบินที่ยิ่งใหญ่และมีประวัติความเป็นมาที่น่าภาคภูมิใจ อย่างไรก็ตาม แควนตัสกำลังประสบปัญหาทางการเงินและมีส่วนแบ่งการตลาดที่ลดลง ดังนั้นเพื่อนำธุรกิจให้กลับมาเป็นบวกอีกครั้ง เราจึงจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงตัวเอง”
“ในเส้นทางบินนานาชาติ แควนตัส ใช้เงินทุนเป็นจำนวนมหาศาล และค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานมีสูง กว่าสายการบินคู่แข่งหลักๆ ราว 20% ดังนั้น การอยู่นิ่งเฉยหรือทำอะไรแบบขอไปทีคงไม่ใช่สิ่งที่ควรทำ ในการนี้ แควนตัส ได้วางกลยุทธ์การทำงานสำหรับระยะเวลา 5 ปี ซึ่งมีวัตถุประสงค์ว่า แควนตัส ในเส้นทางบินนานาชาติต้องกลับมามีกำไรอีกครั้งในระยะเวลาอันสั้นเป็นอันดับแรก”
“การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ถือว่าเป็นภารกิจที่ยิ่งใหญ่ แควนตัส กรุ๊ป เป็นองค์กรที่ใหญ่ มั่นคง และมีผลกำไร โดยดำเนินงานในตลาดต่างๆ ในรูปแบบโมเดลธุรกิจที่ต่างกันไป โดยเรามีแบรนด์ที่แข็งแกร่ง ทั้ง เจ็ทสตาร์ แควนตัสในเส้นทางบินภายในประเทศ และแควนตัส ลิ้งค์ และ แควนตัส เฟรท รวมไปถึง แควนตัส ฟรีเคว่น ฟลายเออร์ โดย คาดว่าเราจะสามารถยืนหยัดด้วยความแข็งแกร่ง ด้วยอัตราการเติบโตที่มีความเป็นไปได้ในทุกตลาดทั่วโลก และแทนที่จะเน้นกับการเป็นสายการบินนานาชาติที่มีฐานอยู่ที่ประเทศออสเตรเลียเท่านั้น แควนตัส จะเข้ามามีบทบาทในภูมิภาคเอเชีย และตลาดต่างๆ ทั่วโลกมากขึ้น”
“แควนตัส จะยังคงความเป็นสายการบินระดับพรีเมี่ยมที่ดีที่สุดสำหรับนักเดินทางออสเตรเลียทั่วโลก โปรแกรมสะสมไมล์ แควนตัส ฟรีเคว่น ฟลายเออร์ จะมอบสิทธิประโยชน์อย่างดีที่สุด อีกทั้งจะมอบสิทธิประโยชน์แก่ลูกค้าที่มีความภักดีในแบรนด์ และดึงดูดลูกค้าใหม่ๆ ขณะเดียวกัน จะดำเนินธุรกิจอย่างชาญฉลาด และมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นในขณะที่ต้นทุนต่ำลง พร้อมทั้งเป็นการสร้างคุณค่าและความเชื่อมั่นให้กับผู้ถือหุ้นของเรา”
“นับตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป เราจะสร้างความแข็งแกร่งให้กับแควนตัสสำหรับลูกค้า พนักงาน และผู้ถือหุ้นของเรา”
สำหรับแผนงานที่ท้าทายธุรกิจของแควนตัสเส้นทางบินนานาชาติ แบ่งออกเป็น 4 ด้านด้วยกัน
1. เปิดเกทเวย์สู่ทั่วโลก
2. เติบโตในตลาดเอเชีย
3. เป็นสายการบินที่ดีที่สุดสำหรับนักเดินทางทั่วโลก
4. ธุรกิจมีความแข็งแกร่ง และมีการเติบโต
ในการบรรลุเป้าหมายดังกล่าว จะมีการเปลี่ยนแปลงในด้านต่างๆ
- กลยุทธ์ด้านเกทเวย์ เพื่อเป็นการเชื่อมลูกค้าแควนตัสให้เดินทางไปยังเมืองหลักๆ ทั่วโลก ผ่านเครือข่ายสายการบินที่เป็นพันธมิตรร่วมกัน รวมถึงพันธมิตรการบินวันเวิลด์ ซึ่งกลยุทธ์ต่างๆ ได้แก่
- การเปิดให้บริการเที่ยวบินตรงไปยังซานดิเอโก ซึ่งถือเป็นจุดที่เข้าถึงได้ดีที่สุดสำหรับชาวออสเตรเลียเพื่อต่อไปยังอเมริกาใต้ ซึ่งเป็นฐานที่ตั้งของสายการบิน แลนชิลี พันธมิตรการบินในกลุ่มวันเวิลด์ ซึ่งจะให้บริการแทนที่กรุงบัวโนสไอเรส ประเทศอาร์เจนติน่า
- การปรับโครงสร้างสำหรับข้อตกลงการให้บริการร่วมกันระหว่างแควนตัส และ บริติช แอร์ไลน์ส ในการสร้างความแข็งแกร่งให้กับสายการบินในการใช้ประเทศสิงคโปร์เป็นฮับ หรือศูนย์กลางการบิน โดยการให้บริการด้วยเครื่องบินแอร์บัส A380 จากเมลเบิร์น และซิดนีย์ไปสิงคโปร์ และต่อไปกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ
- การพัฒนาข้อตกลงทางด้านธุรกิจของแควนตัสกับสายการบิน อเมริกัน แอร์ไลน์ส ซึ่งขึ้นอยู่กับให้บริการของ แควนตัส ไปเมืองดัลลัส และ ฟอร์ตเวิร์ท
- ขยายโอกาสการทำงานกับสายการบิน มาเลเซีย แอร์ไลน์ส ซึ่งเป็นสมาชิกพันธมิตรการบิน วันเวิลด์
- การลงทุนในผลิตภัณฑ์และการบริการ เพื่อให้มั่นใจว่าลูกค้าของสายการบิน แควนตัส ได้รับมาตรฐานการบินสูงสุดระดับโลก
- ในปลายปี พ.ศ.2554 แควนตัส จะมีเครื่องบิน แอร์บัส A380 ให้บริการทั้งหมด 12 ลำ และจะมีการปรับปรุงฝูงบินโบอิ้ง 747 แรก จำนวน 9 ลำ ให้เป็นห้องโดยสารเหมือนเครื่องบินแอร์บัส A380 โดยจะเริ่มให้บริการภายใน 3 เดือนข้างหน้า
- จะมีการสร้างห้องพักรับรองผู้โดยสารระดับพรีเมี่ยมใหม่ที่ประเทศสิงคโปร์ ประเทศฮ่องกง และลอสแองเจลิส ประเทศสหรัฐอเมริกา
- ให้บริการด้วยเครื่องบินโบอิ้ง 737-800 แบบใหม่ ในเส้นทางผ่านทะเลทัสมัน และเปิดให้บริการ “แควนตัส ฟาสเตอร์ สมาร์ทเตอร์ เช็คอิน” สำหรับเที่ยวบินระหว่างประเทศออสเตรเลียและนิวซีแลนด์
- มุ่งมั่นเพิ่มโอกาสเพื่อมอบสิทธิประโยชน์แก่สมาชิกสะสมไมล์ แควนตัส ฟรีเคว่น ฟลายเออร์ มอบโบนัสสำหรับลูกค้าแควนตัสที่ใช้บริการบ่อยที่สุด รวมถึงพัฒนาเน็ทเวิร์ค และพันธมิตร การบิน
- การยกระดับในภูมิภาคเอเชีย ซึ่งถือว่าเป็นภูมิภาคที่การโดยสารโดยเครื่องบินมีอัตราการเติบโตสูงสุด
- แควนตัส กรุ๊ป จะลงทุนในสายการบินพรีเมี่ยมใหม่ ที่มีฐานอยู่ในเอเชีย เพื่อสร้างความชำนาญให้กับ แควนตัสภายใต้ชื่อใหม่ เครื่องบินใหม่ ภาพลักษณ์และความรู้สึกใหม่ๆ ทั้งนี้ที่ตั้งของ สายการบินใหม่กำลังอยู่ในขั้นตอนสรุป และจะมีการประกาศให้ทราบในอนาคตอันใกล้
- การเปิดตัวสายการบิน เจ็ทสตาร์ แจแปน สายการบินต้นทุนต่ำที่จะให้บริการในเส้นทางบินภายในประเทศภายในสิ้นปี พ.ศ.2555 และภายในระยะเวลา 1 ปี หลังจากนั้น จะให้บริการในเส้นทางบินนานาชาติ โดยจะมีการใช้สัญลักษณ์ของสายการบิน แจแปน แอร์ไลน์ส และมิตซูบิชิเข้าไปด้วย
- มั่นใจในเรื่องความแข็งแกร่ง ความอยู่รอดของธุรกิจในเรื่องค่าใช้จ่ายด้านเงินทุน เน้นโอกาสการเติบโต โดยการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวอยู่ในส่วนของฝูงบินที่ให้บริการของแควนตัส กรุ๊ป
- จะมีการเพิ่มจำนวนเครื่องบินแอร์บัส A320 จำนวนระหว่าง 106-110 ลำ เพื่อรองรับการเติบโตและการขยายเส้นทางบินใหม่ๆ รวมถึง เจ็ทสตาร์ แจแปน และสายการบินพรีเมี่ยมในเอเชีย
- ในจำนวนนี้ เครื่องบินที่จะนำเข้ามาประจำการดังกล่าวจำนวน 28-32 ลำ จะเป็นรุ่น A320 รุ่นแบบปัจจุบัน และที่เหลืออีก 78 ลำ จะเป็นรุ่น A320neo แบบประหยัดพลังงาน
- มีการเลื่อนการส่งมอบเครื่องบินแควนตัส A380 จำนวน 6 ลำ ออกไปจนถึงประมาณ 6 ปี เพื่อลดภาระการลดทุนของแควนตัส กรุ๊ป และเพื่อให้มั่นใจว่างบดุลของแควนตัส กรุ๊ป ยังคงความแข็งแกร่ง
- การปลดระวางเครื่องบินโบอิ้ง 747 เป็นผลจากการปรับเปลี่ยนการดำเนินงานในเส้นทางบินต่างประเทศ
- การปรับปรุงผลิตภัณฑ์และการบริการภายในห้องโดยสารของเครื่องบินโบอิ้ง 747 โดยใช้ผลิตภัณฑ์จากเครื่องบินแอร์บัส A380 แทน พร้อมทั้งปรับปรุงผลิตภัณฑ์และบริการภายในห้องโดยสารเครื่องบินแอร์บัส A380 เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและสอดคล้องกับ
ความต้องการของตลาด
อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนแปลงต่างๆ ดังกล่าวจะมีผลต่อการจ้างงานจากการปลดระวางเครื่องบินที่มีอายุการใช้งานนานและการเปลี่ยนแปลงเน็ทเวิร์ค ซึ่งจะทำให้มีการลดพนักงานราว 1,000 คน ทั้งนี้จะมีการแจ้งรายละเอียดแก่พนักงานได้ทราบในลำดับต่อไป และในส่วนของพนักงานที่อาจจะได้รับผลกระทบจะมีการให้ค่าชดเชย อย่างไรก็ตาม แควนตัส กรุ๊ป จะพยายามลดจำนวนพนักงานให้น้อยที่สุด