กรุงเทพฯ--19 ส.ค.--ไอเดียเวิร์คส์
“การทำงานคือการสร้างคุณค่าให้ตัวเอง ไม่ใช่เป็นการแลกเปลี่ยนเงินตรา หากเราคิดแค่นั้นก็จบ เงินเป็นสิ่งที่ตามมาในภายหลัง แค่แถมมาเท่านั้น ทัศนคตินี้เองที่จะทำให้การทำงานก้าวหน้าต่อไปได้”
ข้อคิดดี ๆ จากปาฐกถาพิเศษเรื่อง “การอ่านกับชีวิต” จากรองศาสตราจารย์ ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวไว้ในงานมอบรางวัลหนังสือดีเด่น “เซเว่นบุ๊คอวอร์ด” ซึ่งปีนี้จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 8 ประจำปี 2554 ณ โรงแรมตวันนา เมื่อเร็ว ๆ นี้
“เซเว่นบุ๊คอวอร์ด” เวทีประกวดหนังสือระดับชาติที่จัดขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพื่อเฟ้นหานักเขียนไทยฝีมือดีได้แสดงผลงานเขียนคุณภาพสู่เส้นทางสายหนังสือ ปัจจุบันก้าวสู่ปีที่ 8 โดยมีต้นกำเนิดมาตั้งแต่ปี 2547 จัดโดย บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) ร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการ สำนักงานการศึกษากรุงเทพมหานคร วัตถุประสงค์เพื่อคัดเลือกและส่งเสริมหนังสือดีมีคุณภาพให้กับสังคมไทย เป็นการส่งเสริมการอ่านและเป็นทางเลือกอีกทางหนึ่งให้กับคนไทยโดยเฉพาะอย่างยิ่งกับเยาวชน โดยแบ่งการประกวดเป็น 7 ประเภท คือ กวีนิพนธ์ นวนิยาย วรรณกรรมสำหรับเยาวชน รวมเรื่องสั้น สารคดี (สารคดีชาติพันธุ์วิทยา) นิยายภาพ (การ์ตูน) และรางวัลนักเขียนรุ่นเยาว์
รองศาสตราจารย์ ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวถึงความสำคัญของการอ่านว่า เป็นกระบวนการของการสร้างชีวิตให้มีค่า เพราะทำให้เกิดทักษะสำคัญ 4 ประการคือ 1.อ่านออกเขียนได้ 2.อ่านได้ใจความ 3.อ่านแล้ววิเคราะห์และสรุปได้ และ 4.อ่านระหว่างบรรทัดได้ หมายถึง สามารถเข้าใจความหมายที่แอบแฝงมา
“ประโยชน์ของการอ่านคือสามารถสร้างความเป็นคน เป็นหน้าต่างที่ให้ความรู้และสร้างทักษะทำให้เป็นคนที่มีคุณค่าในตนเองมากขึ้น สร้างจินตนาการซึ่งเป็นบ่อเกิดของความคิดริเริ่ม ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการทำงานต่าง ๆ แม้ปัจจุบันรูปแบบของการอ่านจะเกิดรูปแบบแปลกใหม่มากขึ้น เช่น การ์ตูนนิยายภาพ หนังสืออิเล็คทรอนิกส์ที่มีเสียงหรือภาพเคลื่อนไหว ฯลฯ เพื่อให้สอดคล้องกับโลกปัจจุบันก็ตาม แต่นั่นก็คือการอ่านทั้งสิ้น ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญและหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะใครที่ไม่อ่านหนังสือย่อมไม่แตกต่างจากคนอ่านหนังสือไม่ออก การอ่านจึงสร้างให้คนมีคุณภาพตลอดชีวิตได้ ขอชื่นชมวิสัยทัศน์อันกว้างไกลของผู้บริหารบริษัท ซี.พี.ออลล์ จำกัด (มหาชน) องค์กรเอกชนที่ดำเนินการเรื่องการอ่านมาอย่างต่อเนื่องและยาวนาน เป็นแบบอย่างที่ดีของสังคม ในอันส่งเสริมนักเขียนรุ่นใหม่ที่มีคุณภาพและคัดเลือกหนังสือดีมีประโยชน์ออกสู่สังคมมาโดยตลอด เพื่อปลูกฝังนิสัยรักการอ่านให้เกิดขึ้นในคนไทยต่อไป” รองศาสตราจารย์ ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ กล่าว
นายก่อศักดิ์ ไชยรัศมีศักดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) ผู้บริหารเซเว่น อีเลฟเว่น ร้านอิ่มสะดวกของคนไทย กล่าวว่า บริษัทฯ มีความภูมิใจอย่างยิ่งที่มีส่วนร่วมเป็นภาคีเครือข่ายเรื่องการส่งเสริมการอ่านและมีบทบาทในการร่วมสร้างสังคมไทยสู่สังคมแห่งการอ่านและการเรียนรู้มาเป็นเวลาเกือบสองทศวรรษ ผ่านโครงการประกวดหนังสือดีเด่นรางวัลเซเว่นบุ๊คอวอร์ด และโครงการด้านส่งเสริมการอ่านการเขียนการเรียนรู้อื่น ๆ เป็นภาพสะท้อนถึงพันธกิจอันมุ่งมั่นของเรา เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาได้มอบหนังสือรางวัลเซเว่นบุ๊คอวอร์ดและหนังสือดีๆ จากบุ๊คสไมล์ให้แก่ห้องสมุดกรุงเทพมหานครกว่า 2,500 เล่มเพื่อร่วมสนับสนุนโครงการกรุงเทพมหานครเป็นมหานครแห่งการอ่านด้วย เชื่อมั่นว่าหากทุกภาคส่วนในสังคมไทย ประสานความร่วมมือกันอย่างจริงจังและต่อเนื่อง เป้าหมายในการขับเคลื่อนและหล่อหลอมให้คนไทยมีนิสัยรักการอ่านเพื่อสร้างสังคมไทยสู่สังคมแห่งการอ่านและการเรียนรู้อย่างยั่งยืนจะสำเร็จได้อย่างแน่นอน” นายก่อศักดิ์ กล่าว
ด้าน กฤษณา อโศกสิน ศิลปินแห่งชาติสาขาวรรณศิลป์ รางวัลชนะเลิศประเภทนวนิยาย กล่าวว่า “น้ำเล่นไฟ” นำเสนอคุณค่าของอาชีพเกษตรกรรมผ่านเรื่องราวของครอบครัวเกษตรกรหัวก้าวหน้าที่ดำเนินรอยตามพระราชดำริโดยยึดหลักทฤษฎีใหม่ และความพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเป็นหลัก ตัวละครเป็นผู้มีน้ำใจ มีคุณธรรมจริยธรรม ดำเนินเรื่องราวไปพร้อมกับครอบครัวของเศรษฐีเจ้าของตลาดสดสมัยใหม่ สำหรับข้อคิดที่ได้คือเชิดชูคุณธรรมของผู้ประกอบการด้านเกษตรและตลาดสด ที่ต้องการให้บุคคลทั้งสองนี้เป็นต้นแบบที่ดีให้กับสังคมต่อไป
“ข้อมูลที่นำมาเขียนส่วนใหญ่คือจากประสบการณ์และความรู้รอบตัว รวมถึงข้อมูลบางส่วนที่ต้องหามาเสริมเพิ่มเติมด้วย สำหรับนักเขียนแล้วบางครั้งเราความรู้มีจำกัด การหาความรู้ใหม่ ๆ เข้ามาเสริมเป็นสิ่งที่สำคัญมาก โดยเฉพาะเทคนิคการผูกเรื่องมีเงื่อนปมเพื่อคลี่คลายต่อไปได้ จะสามารถเรียกร้องความสนใจของผู้อ่านได้อย่างดีในการติดตามเรื่องราวต่อไป นอกจากนี้เรื่องการใช้ภาษา ลีลา สำนวนก็สำคัญมากเป็นอันดับต้น ๆ ซึ่งนักเขียนควรมีภาษาที่ดีเพื่อจูงใจและดึงดูดให้ผู้อ่านติดตามตั้งแต่ต้นจนจบ สำหรับนักเขียนหน้าใหม่อยากให้ยึดหลักที่ ดร.วรากรณ์ กล่าวไว้ข้างต้นว่า ไม่ควรให้ความสำคัญกับเรื่องรางวัลหรือเงินเป็นหลัก แต่ควรเห็นคุณค่าของการทำงานมากกว่า งานเป็นชีวิตจิตใจของเราที่ต้องมาก่อนเสมอ ถ้ารักงานเขียนก็พยายามทุ่มเททำให้ดีที่สุด แล้วผลลัพธ์ที่ดีต่าง ๆ ก็จะตามมาเอง” เจ้าของรางวัลชนะเลิศประเภทนวนิยาย กล่าว
ส่วน องค์ บรรจุน รางวัลชนะเลิศประเภทสารคดี กล่าวว่า “สยามหลากเผ่าหลายพันธุ์” เป็นบทความที่ได้มาจากการสัมภาษณ์บุคคลต่าง ๆ ถึง 22 คนจากหลากหลายเผ่าพันธุ์จากชุมชนต่างๆ ในประเทศไทย ที่ทุกคนมีความภูมิใจในเผ่าพันธุ์ของตน รักและพร้อมเสียสละให้ประเทศไทย และพร้อมจะรักษาเอกลักษณ์ชาติพันธุ์ของตนไว้ การเขียนหนังสือสารคดี สิ่งสำคัญประการหนึ่งคือต้องมีข้อมูลที่น่าเชื่อถือและตั้งอยู่บนพื้นฐานของความเป็นจริง รวมถึงเคารพและเข้าใจผู้อื่น ส่วนการเขียนสามารถหยิบยืมกลยุทธ์นวนิยายหรือเรื่องสั้นมาใช้ได้ เพื่อจะได้ไม่ดูเป็นทางการมากเกินไป อ่านด้วยภาษาเข้าใจง่าย สนุกและเพลิดเพลิน เราสามารถโยนคำถามเพื่อจุดประกายความคิดให้กับสังคมได้ สำหรับข้อคิดของหนังสือเล่มนี้อย่างน้อยก็ทำให้ผู้อ่านได้รู้จักตัวเอง ท่ามกลางสังคมไทยที่มีความหลากหลายซึ่งทุกคนสามารถอยู่ร่วมกันได้โดยสันติ
“การประกวดหนังสือดีเด่นเซเว่นบุ๊คอวอร์ด เปิดกว้างให้คนที่รักงานเขียนหนังสือจริง ๆ เพราะสามารถส่งผลงานเข้ามาได้ไม่ว่าจะประกอบอาชีพใด แม้ตนเรียนด้านธุรกิจและไม่มีพื้นฐานด้านการเขียนเหมือนคนอื่นก็ยังมีโอกาส เนื่องจากเขียนงานด้วยใจรักและมีความสุขที่ได้ทำ คิดว่าเวทีนี้เป็นเหมือนน้ำหล่อเลี้ยงให้คนเขียนหนังสือได้มีกำลังใจต่อไปและพร้อมจะผลิตงานเขียนที่ดีมีคุณภาพยิ่งขึ้น อีกทั้งผู้อ่านได้เลือกหาหนังสือดีที่ผ่านสายตาของผู้ทรงคุณวุฒิมาแล้ว ซึ่งสิ่งเหล่านี้ไปด้วยกันได้และก่อให้เกิดประโยชน์กับทุกฝ่ายมากที่สุด” องค์ บรรจุน กล่าว
ขณะที่ ชนประเสริฐ คินทรักษ์ เจ้าของรางวัลชนะเลิศประเภทวรรณกรรมสำหรับเยาวชนกล่าวว่า สำหรับหนังสือ “นักล่าผู้น่ารัก” ได้แรงบันดาลใจมาจากหนังสือเล่มแรกคือ “บันทึกสี่เท้า จากหัวใจผู้ไร้บ้าน” ที่ร้องขอความเป็นธรรมให้กับสุนัขจรจัดที่ถูกทอดทิ้ง สำหรับเล่มนี้จะเน้นเรื่องราวชีวิตของสุนัขสองตัวที่มีภูมิหลังและพฤติกรรมที่แตกต่างกันและต้องร่วมผจญภัยจนเกิดมิตรภาพแน่นแฟ้น ข้อคิดที่อยากให้กับเยาวชนไว้คือ ใครก็ตามที่คิดจะรับสุนัขสักตัวเข้ามาในชีวิต พร้อมหรือยังกับการจะรักพวกเขาไปจนตายจากกัน และอย่ามองพวกเขาเพียงแค่เป็นสิ่งของที่อยู่ในบ้าน เป็นของขวัญที่ให้แค่วันใดวันหนึ่ง เมื่อสิ้นประโยชน์ก็เปลี่ยนเป็นทอดทิ้ง นำไปสู่ปัญหาสังคมที่ใหญ่โตขึ้น
“เนื่องจากเรียนด้านสถาปัตย์ฯ มาหลักการเขียนจึงไม่เหมือนใคร เพราะใช้หลักการออกแบบคือจะกำหนดและวางแผนการเขียนอย่างมีขั้นตอน ตั้งแต่แนวคิดของเรื่อง การวางโครงเรื่องจนครบทุกตอนแล้วค่อยใส่รายละเอียดลงไปทีหลัง แล้วขัดเกลาด้วยสำนวนภาษา สิ่งที่ยากคือต้องคิดว่าจะทำอย่างไรให้ผู้อ่านรักตัวละครของเรา ไม่ว่าเกิดวิกฤติใดคนอ่านก็จะเอาใจช่วย สำหรับนักเขียนหน้าใหม่อยากแนะนำให้เขียนในสิ่งที่เรารู้จริงและเป็นเรื่องที่เราสนใจจะทำให้เขียนได้ง่ายขึ้น หากมีโอกาสควรเข้าอบรมงานเขียนกับวิทยากรหรือนักเขียนที่มีคุณวุฒิและประสบการณ์ เพราะนั่นเป็นโอกาสที่ดีมากในการรับคำวิจารณ์จากท่านเหล่านั้น อีกทั้งควรรับฟังคำวิจารณ์จากคนอื่นที่อ่านงานเราเพื่อฟังหลาย ๆ ความเห็นนำมาปรับแก้ไขงานเขียนให้พัฒนาและดีมากยิ่งขึ้น” ชนประเสริฐ กล่าว
ปิดท้ายที่ “The Duang” เจ้าของรางวัลชนะเลิศประเภท “นิยายภาพ (การ์ตูน)” กล่าวว่า ผลงาน “MY INSPIRATION” เป็นการรวมผลงานการ์ตูนสั้น 7 เรื่องที่เป็นปัญหาสะท้อนสังคมออกมาในเรื่องต่าง ๆ เช่น เรื่อง RETURN สะท้อนปัญหาของวัยรุ่นโดยเฉพาะการมีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควร เรื่อง ไข่ ตัวแทนของเด็กที่ถูกทอดทิ้ง เป็นต้น เนื้อเรื่องต่าง ๆ ให้คุณค่าแง่คิดด้านปรัชญาและสังคมในรูปแบบของการ์ตูนที่สนุก มีหลากหลายแง่มุมที่สื่อสารด้านจิตใจและความคิดที่ลุ่มลึก ประกอบกับเทคนิคการวาดภาพที่สวยงามทันสมัยที่ประสานกับเนื้อเรื่องอย่างลงตัว
“แต่ละเรื่องในเล่มนี้จะมีความสนุกไม่เหมือนกัน การทำงานตรงนี้สนุกกับการตีความชื่อเรื่องในแบบของเรา จากโจทย์คำเดียวที่ได้มาเช่นคำว่า ไข่ ช็อกโกแลต เชือก ฯลฯ เป็นต้น เพื่อทำออกมาเป็นเนื้อเรื่องที่สนุกและชวนติดตาม สำหรับนักเขียนการ์ตูนส่วนใหญ่มักจะโตมากับเรื่องสั้นเพราะสามารถสรุปเรื่องราวได้ภายในจำนวนหน้ากระดาษที่จำกัดและได้ใจความ แต่สำหรับนักเขียนหน้าใหม่ที่อยากเขียนนิยายภาพ แนะนำว่าควรหัดเขียนเรื่องสั้นก่อนในเรื่องที่เราเข้าใจและรู้จริง ไม่ควรเลือกเขียนเรื่องยาวพวกมหากาพย์หลายเล่มจบ เพราะถ้าเราเบื่อคนอ่านจะยิ่งเบื่อมากกว่า ดีใจที่มีเวทีเซเว่นบุ๊คอวอร์ดเพราะเปิดโอกาสให้คนที่เขียนหนังสือแล้วมีปัญหาว่าไม่รู้จะส่งผลงานที่ไหนได้มีโอกาสส่งเข้ามา เชื่อว่าหากทุกคนได้โอกาสดี ๆ แล้ว จะพัฒนาตนเองให้มากขึ้นสมกับโอกาสที่ได้รับและเชื่อว่าอนาคตก็จะดีขึ้นไปเรื่อย ๆ เช่นกัน” เดอะดวง กล่าวสรุป
สำหรับคนที่สนใจด้านงานเขียนอย่ารอช้า!! ขณะนี้ โครงการประกวดหนังสือดีเด่น เซเว่นบุ๊คอวอร์ด ครั้งที่ 9 ประจำปี 2555 เริ่มเปิดรับผลงานแล้วตั้งแต่กันยายน 2554 - มกราคม 2555 แบ่งรางวัลไว้ 7 ประเภทคือ กวีนิพนธ์ นวนิยาย นิยายภาพ (การ์ตูน) รวมเรื่องสั้น วรรณกรรมสำหรับเยาวชน สารคดี (ทั่วไป) และรางวัลนักเขียนรุ่นเยาว์ โดยผู้ชนะเลิศแต่ละประเภทจะได้รับโล่พระราชทานจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีและเงินรางวัลหนึ่งแสนบาท สนใจสอบถามรายละเอียดได้ที่โทร 0-2648-2901-2 หรือดูรายละเอียดเพิ่มเติมที่ www.pr7eleven.com
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่
บริษัทไอเดียเวิร์คส์ คอมมิวนิเคชั่นส์ จำกัด
คุณอาร์โนลด์ ทวีเพ็ชร
คุณศุภมาศ พูลสวัสดิ์