กรุงเทพฯ--21 พ.ย.--
สภาพห้องที่แออัดๆท่ามกลางบรรยากาศที่แสนจะร้อนอบอ้าวกอปรกับกลิ่นยาที่คละคลุ้ง ไม่เพียงสร้างความอึดอัดให้ผู้ป่วยซึ่งต้องนอนพักฟื้นในโรงพยาบาล หากแต่ผมที่ยาวรุงรัง หนวดเคราที่ยาวเฟิ้มได้สร้างความหงุดหงิดและรำคาญใจให้ผู้ป่วยยิ่งนัก ทว่าวันนี้ห้องพักผู้ป่วยในตึกศัลยกรรม 2 โรงพยาบาลพระนั่งเกล้าเริ่มเปลี่ยนไป ผู้ป่วยหลายคนเริ่มมีใบหน้าที่สดใส ผมที่ถูกตัดสั้นจนได้ทรงและหนวดเคราที่ถูกโกนอย่างเกลี้ยงเกลา กลายเป็นภาพที่ทำให้ผู้พบเห็นแอบอมยิ้มไม่ได้
“ไม่มีแล้วผู้ป่วยหน้าตาโทรมๆ มีแต่สดใส สดชื่น” ลุงสกล กุลประดิษฐ์ อายุ 71 ปี อดีตผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ใหญ่ระยะที่ 2 พูดขึ้นด้วยใบหน้าที่ยิ้มแย้ม ขณะที่สายตายังคงจ้องมองปลายกรรไกรที่ค่อยๆเล็มผมบนปลายหวีอย่างคล่องแคล่ว ลุงเคยป่วยเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ตอนปลายปี 2545 มานอนที่ตึกศัลยกรรม 2 โรงพยาบาลพระนั่งเกล้าเพื่อทำการผ่าตัดเนื้อร้ายบริเวณลำไส้ใหญ่
“ระหว่างนอนอยู่ที่โรงพยาบาลก็ได้พบเห็นผู้ป่วยส่วนใหญ่มีผมยาวรุงรัง หนวดเครายาวมาก กอปรกับใบหน้าที่ซีดเซียวจากอาการป่วยยิ่งทำให้ดูโทรม อีกทั้งอากาศที่ร้อนจัด อบอ้าวยิ่งทำให้ผู้ป่วยเครียดและหงุดหงิด ผู้ป่วยที่ต้องนอนอยู่บนเตียงทั้งวัน ไม่มีอะไรให้ทำ หนังสือก็ไม่มีให้อ่าน จะค่อนข้างเบื่อ นั่งมองผู้ป่วยที่อยู่เตียงรอบข้าง เห็นแล้วก็ไม่สบายใจ ในใจก็คิดว่าอยากช่วยเพราะตนเองมีอาชีพตัดผม ถ้าได้เข้าไปโกนหนวด ตัดผมให้เขาสักหน่อย หน้าตาคงจะสดใสขึ้นมากทีเดียว จึงตั้งใจไว้ว่าถ้าหายป่วยจะกลับมาช่วยตัดผมให้”
ลุงสกล กล่าวว่า หลังจากผ่าตัดได้เข้ารับการรักษาด้วยวิธีเคมีบำบัดต่อมาระยะหนึ่ง แต่ด้วยกำลังใจที่ดีจึงต่อสู้และหายจากโรคมะเร็งได้ในที่สุด กระทั่งปี 2548 ร่างกายแข็งแรง มีความพร้อมจึงหวนกลับมาสมัครเข้าร่วมเป็นอาสาสมัครโรงพยาบาลพระนั่งเกล้าเพื่อช่วยตัดผมให้ผู้ป่วย วันแรกที่มาเดินเข้าไปถามผู้ป่วยที่เตียงเลยว่า “ตัดผม โกนหนวดมั้ยครับ ลุงมาช่วยทำให้ฟรี จะได้สบายตัว ” ซึ่งแรกๆแม้ผู้ป่วยก็จะแปลกใจ แต่ก็มีหลายคนอยากตัดผมและบอกว่าพรุ่งนี้หมอให้ผมกลับบ้านแล้ว กำลังคิดพอดีว่าจะไปตัดผมที่ไหน เพราะว่ารำคาญมาก รู้สึกรุงรังไปหมด พอเห็นเรามาช่วยตัด ก็ดีใจ ขอบคุณเหมือนเทวดามาโปรด ผู้ป่วยบางคนนอนซม หน้าตาดูแย่มากคิดว่าอาการหนัก แต่เมื่อได้สอบถามกลับพบว่าอาการดีขึ้นมากจะได้กลับบ้านแล้ว พอได้ตัดผมและโกนหนวด ผู้ป่วยก็หน้าตาสดชื่นแจ่มใส
เด็กๆผมยาวเมื่อตัดผมสั้นเรียบร้อย ก็ดูน่ารักสดใส คนไม่สบายใจ ใบหน้าเศร้า หมองคล้ำ ได้ตัดผมใหม่ก็เปลี่ยนเป็นคนใหม่ คนป่วยก็เช่นกันหากได้ตัดผมโกนหนวด ทำให้หน้าตาเกลี้ยงเกลา ความทุกข์ใจที่มีก็เสมือนได้ถูกตัดออกไปด้วย ศรีษะโล่งสบาย ไม่ร้อน จิตใจก็สบาย และเมื่อสุขภาพจิตดี สุขภาพทางกายก็ดีไปด้วย ทุกวันนี้ลุงจะมาตัดผมให้ผู้ป่วยทุกวันจันทร์กับวันพุธ เวียนไปตามตึกผู้ป่วยต่างๆเช่น ตึกศัลยกรรม ตึกเวชกรรม ตึกอายุรกรรม และตึกอุบัติเหตุ หากผู้ป่วยคนไหนลุกขึ้นเดินไหวก็จะพามาตัดที่ริมระเบียงทางเดิน แต่หากคนไข้ไม่สามารถลุกขึ้นได้ก็จะไปตัดให้ที่เตียงเลย ”
นอกจากช่วยตัดผมและโกนหนวดให้ผู้ป่วยมีหน้าตาแจ่มใสแล้ว ในระหว่างที่ตัดผมคุณลุงสกลยังทำหน้าที่เสมือนผู้พิทักษ์ใจ คอยพูดคุยขจัดความเหงาและความทุกข์ใจให้ผู้ป่วยและญาติ บางครั้งก็ให้กำลังใจและใช้ตัวเองเป็นต้นแบบในการต่อสู้กับโรคร้ายด้วย
“สิ่งสำคัญในการต่อสู้กับโรคคือจิตใจที่เข้มแข็งและการปล่อยวาง ผู้ป่วยทุกคนไม่เพียงเจ็บปวดทางร่างกาย แต่ยังมีความทุกข์ใจด้วย บางคนมีหน้าที่หาเลี้ยงครอบครัว เมื่อป่วยทำงานไม่ได้ ก็กังวลใจ เป็นห่วงลูก นอนเฉยๆไม่ได้ทำอะไรก็คิดฟุ้งซ่านไปเรื่อย ไม่มีทางระบาย ดังนั้นหากจิตใจไม่แข็งแรง อมทุกข์ กำลังใจที่ต่อสู้กับโรคก็ไม่มี การตัดผมอาจช่วยให้กายสบาย แต่ก็ต้องคำนึงถึงจิตใจด้วย ในระหว่างตัดผมให้ผู้ป่วยก็จะพูดคุยให้กำลังใจเสมอ อาทิ ผู้ป่วยกังวลใจเรื่องการผ่าตัดโรคไส้เลื่อน ก็จะบอกผู้ป่วยว่าผมเคยผ่ามาแล้ว 2 ครั้ง ไม่เป็นไร ไม่เจ็บหรอก หรือในกรณีผู้ป่วยมะเร็งจะเปิดแผลให้ดูเลย และว่าลุงก็เป็นมะเร็ง เคยผ่าตัดลำไส้ออกไปแล้วตั้งเยอะ ทุกวันนี้แข็งแรง ทำใจให้สบาย เดี๋ยวนี้หมอเก่ง ยาดี ผู้ป่วยก็มีกำลังใจขึ้นมา จากเดิมที่เคยคิดว่าคงไม่รอดก็เริ่มมีความหวังและหันกลับต่อสู้กับโรค”
จิตอาสาที่ช่วยผู้ป่วยโดยไม่หวังผลตอบแทน ไม่เพียงช่วยให้ผู้ป่วยสบายขึ้นแต่ผลที่ได้ตอบกลับมานั้น ยังช่วยให้ลุงสกลมีสุขภาพกายและใจที่แข็งแรงมากขึ้นด้วย ลุงสกล กล่าวว่า ทุกครั้งที่ตัดผมหรือโกนหนวดให้ผู้ป่วยเสร็จ เมื่อได้ยินคำว่า “ สบายจัง โล่งหัวดี” หรือเวลาที่พูดคุยให้กำลังใจแล้วผู้ป่วยบอก “ ผมจะสู้นะ จะต้องหาย ผ่านพ้นไปให้ได้เหมือนลุง” มันคือความอิ่มเอมใจ มีความสุขที่ได้เห็นผู้ป่วยมีแรงใจ ยิ้ม หัวเราะได้ มีครั้งหนึ่งตัดผมให้คุณลุงอายุประมาณ 70 ปี พอตัดเสร็จคุณลุงน้ำตาไหล พร้อมพูดด้วยน้ำเสียงที่สั่นเครือว่า “คนอย่างนี้ยังมีอยู่อีกหรือ” ทำให้เรารู้สึกตื้นตันใจมาก บางคนถึงขั้นขอกราบที่อกเลย สิ่งนี้คือคุณค่าทางใจที่ได้รับ ยาวิเศษที่ทำให้ผมแข็งแรงต่อสู้กับโรคร้ายได้ ทุกวันนี้แพทย์นัดผมตรวจติดตามโรคมะเร็งแค่ปีละ 1 ครั้งเอง ดังนั้นถ้าผู้ป่วยมีจิตใจที่ดี ภูมิต้านทานในร่างกายก็จะมากขึ้นด้วย” นาง ชลธิดา อนุกูล พยาบาลวิชาชีพระดับ 7 ตึกศัลยกรรม 2 โรงพยาบาลพระนั่งเกล้า กล่าวว่า รู้สึกดีมากที่คุณลุงมาช่วยตัดผมให้ผู้ป่วย เพราะพยาบาลช่วยได้แค่เพียงสระผมหรือโกนหนวดเท่านั้น ไม่สามารถตัดผมได้ หากผู้ป่วยต้องการตัดผม ญาติต้องไปจ้างช่างตัดผมที่บริเวณด้านหน้าโรงพยาบาลมาตัดให้ ซึ่งค่อนข้างลำบาก ขณะที่ผู้ป่วยบางคนไร้ญาติก็ไม่มีคนมาดูแล
“หลังจากที่ผู้ป่วยได้ตัดผมแล้ว จะเห็นการเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจนมาก หน้าตาแจ่มใส แพทย์ที่มาตรวจเมื่อได้เห็นก็ชอบ เพราะรู้สึกว่าผู้ป่วยอาการดีขึ้น ผู้ป่วยด้วยกันเองเห็นเพื่อนหน้าตาสดชื่นก็สบายใจ พยาบาลก็รู้สึกดี ญาติเห็นก็มีกำลังใจ ที่สำคัญคุณลุงยังเป็นกำลังใจที่ดีมากของผู้ป่วย เพราะบางครั้งคำแนะนำของแพทย์และพยาบาลก็ไม่สามารถสร้างความเชื่อมั่นได้เท่ากับผู้ป่วยที่เคยผ่านพ้นโรคร้ายได้มาก่อน”
ขณะที่ คุณลุงธรรม มูลหล้า อายุ 57 ปี ผู้ป่วยเส้นเลือดในสมองแตก ซึ่งได้รับบริการการตัดผมของลุงสกุลอยู่บ่อยครั้ง กล่าวว่า ชอบมาก เพราะไม่เพียงช่วยให้สบายตัวขึ้น แต่ยังเสมือนได้เพื่อนที่มาพูดคุยคลายเหงาด้วย
“เคยตัดผมที่ร้านลุงสกลมาก่อน แต่นานมากแล้ว ไม่เคยรู้มาก่อนว่าลุงมาตัดผมที่โรงพยาบาล กระทั่งเข้าโรงพยาบาลก็แปลกใจนิดหน่อย ตอนนี้เป็นขาประจำเพราะวนเวียนมานอนโรงพยาบาลหลายครั้งแล้ว ครั้งแรกยกหัวไม่ได้เลยต้องใช้คนช่วยยกศีรษะถึง 4 คน จึงจะสามารถตัดได้ ตอนที่ไม่ได้ตัดก็รำคาญมาก อากาศร้อน แต่เมื่อได้ตัดผมแล้วก็รู้สึกเบาสบาย ที่สำคัญคุยกันถูกคอมากตามประสาคนอายุคราวเดียวกัน บางครั้งคุณลุงก็ช่วยดูดวงให้ ดูอุปนิสัยจากวันเกิดหรืออายุ ก็เพลินดี มีเพื่อนเพิ่มขึ้น”
จิตปณิธานอันมุ่งมั่นของลุงสกล กุลประดิษฐ์ จากผู้ป่วยที่ได้เปลี่ยนมาเป็นผู้ให้ อาสาบำบัดโรคด้วยหัวใจ ปัจจุบันช่วยตัดผมให้ผู้ป่วยไปแล้วไม่ต่ำกว่า 1,400 ราย คือภาพที่สะท้อนให้เห็นว่า จิตอาสา เริ่มต้นได้ง่ายๆจากความรู้และศักยภาพที่เรามีอยู่ให้กับผู้อื่นในฐานะเพื่อนมนุษย์คนหนึ่ง ไม่จำกัดสถานที่และเวลา เริ่มง่ายๆวันนี้ที่ตัวเราและคนใกล้เคียง เพื่อให้สังคมจิตอาสาเกิดขึ้นทั่วทุกพื้นที่ในสังคมไทย
เรื่องและภาพประกอบโดย งานสื่อสารธารณะฯ แผนงานพัฒนาจิตเพื่อสุขภาพ มูลนิธิสดศรี-สฤษดิ์วงศ์
โดยการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) โทร.0-22701350-4 ต่อ 113,103