ผลการประชุมคณะกรรมการบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน)

ข่าวท่องเที่ยว Friday August 19, 2011 16:25 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--19 ส.ค.--การบินไทย วันนี้ ( ศุกร์ที่ 19 สิงหาคม 2554 ) ณ สำนักงานใหญ่ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ได้มีการประชุมคณะกรรมการบริษัทฯ โดยมี นายอำพน กิตติอำพน ประธานกรรมการบริษัทฯ เป็นประธานการประชุม มีวาระสำคัญ สรุปได้ดังนี้ 1. เรื่องการนำเสนอผลงานของบริษัท Priestman Goode U.K. ในการเป็นผู้ออกแบบตกแต่งภายในเครื่องบิน คณะกรรมการบริษัทฯ ได้รับทราบถึงโครงการปรับปรุงและพัฒนาผลิตภัณฑ์บนเครื่องบินและการบริการ โดยการนำเสนอผลงานของบริษัท Priestman Goode U.K.ที่ได้รับการว่าจ้างให้เป็นผู้ออกแบบตกแต่งภายในเครื่องบินในทุกชั้นโดยสารสำหรับฝูงบินของการบินไทยในอนาคต ในวงเงินการว่าจ้างจำนวนประมาณ 80 ล้านบาท และมีสัญญาว่าจ้าง 4 ปี ซึ่งคาดว่าหลังจากดำเนินการแล้วเสร็จ จะช่วยเพิ่มความสะดวกสบายและตอบสนองต่อความพึงพอใจแก่ผู้ใช้บริการ รวมทั้งทำให้ผลิตภัณฑ์บริการบนเครื่องบินของบริษัทฯ มีความกลมกลืนสวยงามควบคู่ไปกับการพัฒนาเทคโนโลยีของผลิตภัณฑ์บนเครื่องบินภายใต้แนวคิดความเป็นไทยร่วมสมัย หรือ Thai Contemporary Style ซึ่งการออกแบบจะพิจารณาจากภาพรวมและหลักสำคัญในการดำเนินธุรกิจและการบริการของการบินไทย ได้แก่ ขนาดของเครื่องบิน ลำตัวกว้าง ลำตัวแคบ พิสัยการบิน รูปแบบในการให้บริการของพนักงานต้อนรับบนเครื่องบินในแต่ละชั้นโดยสาร และในทุกรายละเอียดของผลิตภัณฑ์เพื่อให้เกิดความสวยงาม เหมาะสมในการใช้งาน เหมาะสมกับเส้นทางบินและ เกิดประโยชน์สูงสุดในการดำเนินธุรกิจ ซึ่งการออกแบบครั้งนี้จะเป็นพื้นฐานที่การบินไทยจะใช้เป็นแนวคิดหลักในการตกแต่งเครื่องบินของฝูงบินในอนาคตให้มีรูปลักษณ์ในทิศทางเดียวกัน อาทิ เครื่องบินโบอิ้ง 777-300 ER จำนวน 6 ลำ เครื่องบินโบอิ้ง 787 จำนวน 8 ลำ ที่จะมีการเพิ่มเติมการออกแบบส่วนต่างๆ เช่น เก้าอี้ที่นั่ง ห้องครัว และห้องน้ำ รวมถึงอุปกรณ์ของใช้ในการให้บริการ โดยจะแล้วเสร็จและรับมอบเข้าประจำฝูงบินประมาณปี พ.ศ. 2557 นอกจากนี้ บริษัท Priestman Goode U.K.ยังจะเป็นที่ปรึกษาในการกำหนดสีสันและรูปลักษณ์อุปกรณ์บริการบนเครื่องบินต่างๆ อาทิ หมอน ผ้าห่ม สีของเบาะที่นั่ง ซึ่งวัสดุที่ใช้จะต้องมีสีสันสวยงามกลมกลืนให้เป็นไปตามแนวคิดในการออกแบบ รวมถึงการออกแบบตกแต่งเครื่องบินของสายการบินภูมิภาคของการบินไทยที่จะ เปิดดำเนินการประมาณกลางปี 2555 ที่จะใช้เครื่องบินแอร์บัส 320 จำนวน 6 ลำ ที่จะทำการรับมอบเข้าประจำฝูงบินประมาณปี พ.ศ. 2555 - 2558 โดยจะออกแบบตกแต่งภายในด้วย รูปลักษณ์ (Identity) ใหม่ และส่วนอื่นๆ เช่น เครื่องแบบพนักงาน, การออกแบบลวดลายเพื่อ ตกแต่งข้างลำตัวเครื่องบินด้านนอก เป็นต้น ทั้งนี้ บริษัท Priestman Goode U.K. ที่ได้รับการว่าจ้างนั้น เป็นบริษัทชั้นนำในด้านการ ออกแบบภายในห้องโดยสารบนเครื่องบินจากประเทศอังกฤษ และมีชื่อเสียงระดับโลก นอกจากนี้ การคัดเลือกบริษัท Priestman Goode U.K. ให้เป็นผู้ออกแบบตกแต่งภายในเครื่องบินในครั้งนี้ ยังได้รับความร่วมมือจากผู้ชำนาญการและบุคคลที่มีชื่อเสียงในด้านออกแบบตกแต่งภายใน ที่มีชื่อเสียงของประเทศไทยมาช่วยเป็นที่ปรึกษาในการคัดเลือกอีกด้วย 2. เรื่องกฎบัตรคณะกรรมการส่งเสริมกิจการเพื่อสังคม (Corporate Social Responsibility Committee Charter) คณะกรรมการบริษัทฯ มีมติอนุมัติการยกร่างกฎบัตรคณะกรรมการส่งเสริมกิจการ เพื่อสังคม (Corporate Social Responsibility Committee Charter) ซึ่งมีสาระสำคัญประกอบด้วย 2.1. องค์ประกอบและคุณสมบัติ ได้แก่ คณะกรรมการส่งเสริมกิจการเพื่อสังคม ประกอบด้วย กรรมการบริษัทฯ อย่างน้อยจำนวน 3 คน และกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ เป็นกรรมการโดยตำแหน่ง และประธานกรรมการบริษัทฯ เป็นที่ปรึกษา มีผู้บริหารระดับสูง ในสายงานดำรงตำแหน่งเป็นเลขานุการกรรมการส่งเสริมกิจการเพื่อสังคมโดยตำแหน่ง ซึ่ง คณะกรรมการจะได้รับการแต่งตั้งจากคณะกรรมการบริษัทฯ โดยมีวาระอยู่ในตำแหน่งตามที่ คณะกรรมการบริษัทฯ มอบหมาย 2.2 ขอบเขตและอำนาจหน้าที่ คือ ให้คำปรึกษา และคำแนะนำในการดำเนินการ ส่งเสริมกิจการเพื่อสังคมทั้งมวลของบริษัทฯ กำหนดนโยบายและแนวทางที่ชัดเจนของบริษัทฯ ต่อการมีส่วนร่วมรับผิดชอบต่อสังคม เพื่อแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นและทุ่มเทของบริษัทฯ ในการบริหารจัดการด้านสิ่งแวดล้อมผสมผสานแนวคิดและนวัตกรรมในรูปแบบสีเขียว (Green Innovation) จัดทำโครงการเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อมที่สอดคล้องกับแนวคิด “การเดินทาง แบบรักษ์สิ่งแวดล้อม” (Travel Green) โดยชักนำผู้มีส่วนร่วม ทั้งผู้ถือหุ้น ผู้โดยสาร คู่ค้า และพนักงานทุกคน เข้าร่วมในทุกกิจกรรมอย่างต่อเนื่องจัดกิจกรรมเพื่อสร้างความตระหนักและ ปลูกฝังจิตสำนึกให้พนักงานในทุกระดับชั้นในการคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมและสังคมและให้ ความเห็นชอบในกิจกรรมและการดำเนินการที่เกี่ยวกับการมีส่วนร่วมของบริษัทฯ ในเรื่องเกี่ยวกับการสนับสนุนสาธารณประโยชน์และสาธารณกุศลสื่อสารและประชาสัมพันธ์กิจกรรมเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อมของบริษัทฯ และจัดทำรายงานด้านอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม (CSR Report) ต่อสาธารณชนอย่างสม่ำเสมอ ตลอดจนดำเนินการอื่นๆ ตามที่คณะกรรมการบริษัทฯ มอบหมาย 3. เรื่องแผนธุรกิจและแผนการลงทุนของหน่วยธุรกิจการบินราคาประหยัด คณะกรรมการบริษัทฯ มีมติอนุมัติแผนธุรกิจ และแผนการลงทุนของหน่วยธุรกิจการบินราคาประหยัด โดยมีโครงสร้างการบริหารจัดการเป็นหน่วยธุรกิจ ที่ยังคงเป็นส่วนหนึ่งของ การบินไทย โดยไม่ได้แยกไปจัดตั้งบริษัทใหม่ และไม่ใช่สายการบินใหม่ แต่ยังคงใช้ Airline code เป็น TG เช่นเดียวกับทุกเที่ยวบินของการบินไทย แต่หน่วยธุรกิจใหม่จะมีการบริหารงานและคณะกรรมการบริหารที่แยกออกเป็นอีกส่วนหนึ่ง เพื่อเพิ่มความคล่องตัวในการดำเนินงานหน่วยธุรกิจการบินใหม่ จะนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่เป็น Light Premium ซึ่งไม่ใช่ผลิตภัณฑ์ในลักษณะเดียวกันกับสายการบินต้นทุนต่ำ แต่จะเป็น Sub-brand ของการบินไทยที่ต้องการสร้างความแตกต่างเพื่อเป็นทางเลือกใหม่ให้แก่ลูกค้า โดยผลิตภัณฑ์ใหม่จะมีภาพลักษณ์ที่มีความทันสมัยเน้นความรวดเร็วของการให้บริการ และมีระดับราคาและการบริการที่เหมาะสมกับ เส้นทางบิน โดยลูกค้าจะได้รับสิทธิประโยชน์ต่างๆ เช่น บริการอาหารเครื่องดื่ม การเลือกที่นั่ง น้ำหนักกระเป๋าสัมภาระ รวมทั้งการสะสมไมล์ เช่นเดียวกับทุกเที่ยวบินของการบินไทย ในราคาที่คุ้มค่า หน่วยธุรกิจการบินใหม่ จะทำการบินออกจากท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ โดยใช้ เครื่องบินแอร์บัส เอ 320 ความจุ 174 ที่นั่ง ซึ่งเหมาะสมกับตลาดเส้นทางบินรอง เน้นเส้นทางบินระยะใกล้ ระยะเวลาการบินประมาณ 1-2 ชั่วโมง ตอบสนองความต้องการของลูกค้าที่ต้องการเน้นที่ความถี่ของเที่ยวบิน โดยมีตารางบินที่สอดคล้องและรองรับการเชื่อมต่อกับเที่ยวบินหลักของ การบินไทย หน่วยธุรกิจการบินใหม่จะเริ่มทำการบินในปี 2555 โดยเริ่มจากเส้นทางภายในประเทศ ได้แก่ อุบลราชธานี อุดรธานี ขอนแก่น เชียงราย และสุราษฎร์ธานี จากนั้นในปี 2556 จะเริ่มทำการบินในตลาดต่างประเทศ โดยมุ่งเน้นตลาดอาเซียน จีน และอินเดีย ด้านบุคลากรของหน่วยธุรกิจฯ จะเริ่มดำเนินการรับสมัคร และคัดเลือกพนักงานในปลายปี 2554 เปิดให้บริการจำหน่ายบัตรโดยสารภายในต้นปี 2555 และจะเริ่มทำการบินประมาณเดือนกรกฎาคม 2555 4. เรื่องการคัดเลือกชื่อผลิตภัณฑ์ของหน่วยธุรกิจการบินราคาประหยัด คณะกรรมการบริษัทฯ มีมติเห็นชอบให้หน่วยธุรกิจการบินราคาประหยัดใช้ชื่อผลิตภัณฑ์ว่า THAI Smile ซึ่งเป็นผลจากการที่บริษัทฯ ได้เชิญชวนพนักงานร่วมประกวดตั้งชื่อหน่วยธุรกิจการบินราคาประหยัด โดยมีพนักงานส่งชื่อเข้าร่วมประกวดจากหน่วยต่างๆ ทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ เป็นจำนวน 2,229 ชื่อ ทั้งนี้ มีขั้นตอนการคัดเลือกชื่อ โดยให้ฝ่ายบริหารฯ คัดเลือกชื่อในรอบแรก กรรมการที่เป็นบุคคลในวงการนักโฆษณาประชาสัมพันธ์และสื่อมวลชนจากภายนอกร่วมคัดเลือกในรอบที่ 2 และคณะกรรมการบริหารกลยุทธ์คัดเลือกในรอบที่ 3 ซึ่งสามารถสรุปชื่อผลิตภัณฑ์ของหน่วยธุรกิจการบินราคาประหยัดที่ผ่านการคัดเลือกทั้ง 3 รอบ จำนวน 10 ชื่อ ให้คณะกรรมการบริษัทฯ คัดเลือกเป็นรอบสุดท้าย ซึ่งมีเกณฑ์ในการพิจารณาคัดเลือกชื่อที่เหมาะสมกับผลิตภัณฑ์ของธุรกิจการบินราคาประหยัดที่ต้องการสื่อภาพลักษณ์ภายใต้แนวคิด Trendy — Friendly —Worthy Travel 5. เรื่องโครงสร้างหน่วยธุรกิจการบินราคาประหยัด คณะกรรมการบริษัทฯ มีมติอนุมัติโครงสร้างของหน่วยธุรกิจการบินราคาประหยัดเพื่อให้การบริหารงานของหน่วยธุรกิจการบินราคาประหยัดเป็นไปได้ด้วยความคล่องตัว และสามารถให้บริการลูกค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ จึงต้องกำหนดให้มีคณะกรรมการบริหารธุรกิจการบินราคาประหยัด (Low-fare Executive Management: LEM) รายงานตรงกับคณะกรรมการบริหารบริษัทฯ และคณะกรรมการบริษัทฯ เช่นเดียวกับหน่วยธุรกิจอื่น ทั้งนี้ ด้วยรูปแบบการดำเนินธุรกิจที่เน้นเฉพาะการดำเนินกิจกรรมหลัก ทำให้หน่วยธุรกิจการบินราคาประหยัดจัดโครงสร้างองค์กร ในรูปแบบแนวราบและกระชับ (Flat & Lean) ประกอบด้วยกรรมการผู้จัดการหน่วยธุรกิจการบินราคาประหยัด ระดับผู้อำนวยการใหญ่ เป็น ผู้บริหารสูงสุดของหน่วยธุรกิจ และมีหน่วยงานหลัก ได้แก่ ส่วนงานปฏิบัติการ ส่วนงานบริหารการจัดจำหน่ายและรายได้ ส่วนงานสื่อสารการตลาดและบริการลูกค้า และฝ่ายบริหารงานทั่วไป โดยคณะกรรมการบริษัท ฯ มีมติโยกย้ายนายวรเนติ หล้าพระบาง ผู้อำนวยการใหญ่ฝ่ายกลยุทธ์และแผน ดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการหน่วยธุรกิจการบินราคาประหยัด

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ