กรุงเทพฯ--22 พ.ย.--คสช.
ในวันศุกร์ที่ 23 พฤศจิกายน นี้ เวลา 13.30-16.30 น. ที่ตึกบัญชาการ ทำเนียบรัฐบาล จะมีการประชุมคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คสช.) โดยนายกรัฐมนตรีมอบหมายให้นายไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานกรรมการฯ เป็นการประชุมครั้งแรกหลังจากพ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติประกาศใช้อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 20 มีนาคมที่ผ่านมา ทั้งนี้ คสช. มีหน้าที่จัดทำธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ สนับสนุนกระบวนการพัฒนานโยบายและยุทธศาสตร์ด้านสุขภาพแบบมีส่วนร่วม จัดให้มีสมัชชาสุขภาพ และให้ข้อเสนอแนะหรือให้คำปรึกษาต่อ ครม. เกี่ยวกับนโยบายและยุทธศาสตร์ด้านสุขภาพ
ในการประชุมนัดแรกมีการพิจารณาวาระสำคัญ เช่น การแต่งตั้งคณะกรรมการกำลังคนด้านสุขภาพแห่งชาติ หลังจากที่ ครม.อนุมัติแผนยุทธศาสตร์ทศวรรษกำลังคนด้านสุขภาพแห่งชาติ ในระยะ 10 ปี ตั้งแต่ พ.ศ.2550-2559 และแต่งตั้งคณะกรรมการกำลังคนด้านสุขภาพแห่งชาติ นั้น ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขได้พิจารณาเห็นว่าตามเงื่อนไขยุทธศาสตร์ที่ 1 กำหนดว่า การแต่งตั้งคณะกรรมการกำลังคนด้านสุขภาพแห่งชาติในระยะแรกให้เป็นคณะกรรมการที่แต่งตั้งโดยมติ ครม. แต่ให้อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ คสช.ตาม พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ กระทรวงสาธารณสุขจึงเสนอให้ คสช.พิจารณาแต่งตั้งกรรมการกำลังคนด้านสุขภาพขึ้นตามเจตนารมณ์ของ ครม. ทั้งนี้มีกรรมการรวมไม่เกิน 30 คน มีหน้าที่ให้คำปรึกษาและข้อเสนอต่อ ครม.ในการขับเคลื่อนและผลักดันการทำงานตามแผนยุทธศาสตร์กำลังคนฯ และให้คำปรึกษาและข้อเสนอแนะต่อ ครม. ในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับกำลังคนด้านสุขภาพตามที่หน่วยงานต่างๆ เสนอ ครม. เพื่อให้สอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์
นอกจากนี้ คสช. จะมีการพิจารณาให้ความเห็นชอบต่อระบบและกลไกการจัดทำธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งเป็นกรอบและแนวทางในการกำหนดนโยบาย ยุทธศาสตร์และการดำเนินงานด้านสุขภาพของประเทศ โดยในเดือนมกราคม-มีนาคม 2551 จะมีการยกร่างและรับฟังความเห็นต่อ “กรอบการจัดทำธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งาติ หลังจากนั้นจะมีการยกร่างธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งต้องรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนผ่านการสื่อสารกับสังคมและรับฟังความเห็นผ่านสมัชชาสุขภาพ และวิธีการอื่นๆ จนสามารถสรุปเป็น “ร่างธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ” นำเข้าสู่การรับฟังความคิดเห็นในสมัชชาสุขภาพแห่งชาติปี 2551 ต่อไป คาดว่าธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติฉบับแรกจะสามารถประกาศใช้ได้ประมาณต้นปี 2552
คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติทั้ง 39 คน มาจากฝ่ายการเมือง ได้แก่ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ประธานสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และผู้แทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มาจากการสรรหากันเอง ได้แก่ นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน ผู้ว่าการกรุงเทพมหานคร นายวิจัย อัมราลิขิต นายกเทศมนตรีเทศบาลเมืองพนัสนิคม จ.ชลบุรี นพ.ชัยพร ทองประเสริฐ นายก อบจ.อำนาจเจริญ และนายธีรศักดิ์ พานิชวิทย์ นายก อบต.บ้านหม้อ จ.เพชรบุรี ฝ่ายวิชาการ วิชาชีพ ได้แก่ ศ.นพ.สมศักดิ์ โล่เลขา แพทยสภา ศ.(พิเศษ) พลโทพิศาล เทพสิทธา ทันตแพทยสภา ภก.ศ(พิเศษ) ดร.ภาวิช ทองโรจน์ สภาเภสัชกรรม ศ.เกียรติคุณ ดร.วิจิตร ศรีสุพรรณ สภาการพยาบาล นางสุมนา ตัณฑเศรษฐี สภากายภาพบำบัด รศ.สมชาย วิริยะยุทธกร สภาเทคนิคการแพทย์ นพ.วิชัย โชควิวัฒน ผู้แทนคณะกรรมการวิชาชีพที่จัดตั้งขึ้นตาม กม.ว่าด้วยการประกอบโรคศิลปะ และผู้ทรงคุณวุฒิที่ไม่ประกอบวิชาชีพซึ่งมาจากการสรรหา ได้แก่ นายยรรยงชัย โควัฒนาภรณ์ ด้านนโยบายสาธารณะ บริหาร รัฐศาสตร์ นิติศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ นายพงษ์ศักดิ์ พยัฆวิเชียร ด้านสื่อสารมวลชน เทคโนโลยีสารสนเทศ นางศิรินา ปวโรฬารวิทยา ด้านธุรกิจ ดร.เสรี พงศ์พิศ ด้านพัฒนาสังคมและชุมชนท้องถิ่น รศ.กฤตยา อาชวนิจกุล ด้านพัฒนาประชาชนกลุ่มเป้าหมายเฉพาะ นายสุรินทร์ กิจนิตย์ชีว์ ด้านผู้เคยดำรงตำแหน่งในคณะกรรมการปฏิรูประบบสุขภาพแห่งชาติ และฝ่ายองค์กรเอกชนที่ไม่แสวงหากำไรซึ่งมาจากการเลือกกันเองใน 13 เขต ได้แก่ รศ.จิราพร ลิ้มปานานนท์ นางดวงพร อิฐรัตน์ นายสุพัฒน์ ธนะพิงค์พงษ์ นายธีรวัฒน์ ศรีปฐมสวัสดิ์ รศ.ดร.วิรัติ ปานศิลา รศ.ศิริชัยย์ ชัยชนะวงศ์ นายสุชาติ สูงเรือง นายณรงค์ ตั้งศิริชัย นายสุรพงษ์ พรมเท้า นายสนั่น วุฒิ นางมาริษา เนตรใจบุญ นายคล่อง ชื่นอารมณ์ และ นพ.ประพจน์ เภตรากาศ มี นพ.อำพล จินดาวัฒนะ ปฎิบัติหน้าที่เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ เป็นเลขานุการ