อัคคีภัยช่วงอากาศหนาว...ร้ายแรงและควบคุมยาก

ข่าวทั่วไป Thursday November 22, 2007 10:49 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--22 พ.ย.--ปภ.
ลักษณะสภาพอากาศของประเทศไทยขณะนี้ มวลอากาศเย็นจากประเทศจีนแผ่ลงมาปกคลุมพื้นที่ประเทศไทย ทำให้อากาศเริ่มหนาวเย็นลง ความชื้นในอากาศจะลดลง และมีลมกระโชกแรง ซึ่งหากประชาชนปฏิบัติตนด้วยความประมาท ขาดความระมัดระวัง สูบบุหรี่แล้วไม่ดับให้สนิท ไม่ดับไฟหลังใช้เตาหุงต้มไม่สนิท การเผาขยะในที่โล่งแจ้ง ไฟฟ้าลัดวงจร รวมทั้งการจุดธูปเทียนบูชาพระ ก็อาจส่งผลทำให้บ้านเรือนที่สร้างจากไม้ที่อยู่ในชุมชนแออัด มีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดเพลิงไหม้ ซึ่งจะยากต่อการควบคุมเพลิง
สาเหตุและวิธีการป้องกันอัคคีภัยในช่วงอากาศหนาว
1. การสูบบุหรี่ ปัจจุบันอาจพบเห็นบ่อยครั้งที่สาเหตุของการเกิดเพลิงไหม้ นั้นมาจากการสูบบุหรี่และโยนก้นบุหรี่โดยไม่ดับให้สนิทลงบนพื้นหญ้าแห้ง บนกองขยะ หรือตามสถานที่ต่างๆ ซึ่งมีความเสี่ยงสูงมากในการที่จะทำให้เกิดเพลิงไหม้ขึ้น ดังนั้น เมื่อสูบบุหรี่เสร็จควรดับไฟที่ก้นบุหรี่ให้สนิททุกครั้ง และควรทิ้งก้นบุหรี่ในบริเวณที่จัดเตรียมไว้ เช่น ถังขยะที่มีกระบะทรายอยู่ด้านบน เป็นต้น และไม่ควรสูบบุหรี่บนที่นอน เนื่องจากหากเผลอหลับในขณะที่บุหรี่ยังไม่ดับ สะเก็ดไฟอาจหล่นไปติดที่นอนทำให้เกิดเพลิงไหม้ลุกลามได้ สำหรับผู้ที่สูบบุหรี่ขณะขับรถ ไม่ควรทิ้งก้นบุหรี่ที่ยังดับไม่สนิทลงบนพื้นหรือพงหญ้าสองข้างทางอย่างเด็ดขาด เนื่องจากอาจมีวัสดุที่ติดไฟได้ง่าย เช่น กิ่งไม้หรือใบไม้แห้ง ซึ่งจะเป็นเชื้อเพลิงอย่างดีในการก่อให้เกิดเพลิงไหม้
2. การดับไฟในเตาหุงต้มไม่สนิท สำหรับผู้ที่ใช้เตาถ่านในการหุงต้มอาหาร หลังจากประกอบอาหารเสร็จแล้วทุกครั้ง ควรดูแลดับไฟให้สนิท ไม่ควรปล่อยให้ถ่านหรือฟืนในเตานั้นมอดดับเองในเตาเป็นอันขาด เพราะหากเกิดลมพัดไฟที่ยังดับไม่สนิทอาจอาจคุขึ้นมาอีกได้ และหากมีลูกไฟปลิวไปติดบริเวณใกล้เคียงอาจทำให้เกิดเพลิงไหม้ได้ ส่วนบ้านเรือนที่ใช้เตาแก๊สในการประกอบอาหารต้องหมั่นตรวจสอบเตาแก๊ส และถังแก๊สให้อยู่ในสภาพที่พร้อมใช้งานเสมอ หากมีกลิ่นแก๊สรั่วไหลให้รีบปิดวาล์วที่ถังแก๊สและแจ้งช่างมาดำเนินการแก้ไข และหลังจากใช้งานเตาแก๊สต้องปิดวาล์วเตาแก๊สและถังแก๊สให้เรียบร้อยทุกครั้ง
3. การเผาขยะในที่โล่งแจ้ง เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดเพลิงไหม้บ่อยครั้ง เมื่อต้องการเผาขยะต้องทำด้วยความระมัดระวัง เพราะหากเพลิงลุกลามจะยากต่อการควบคุม เนื่องจากอยู่ในที่โล่งแจ้งซึ่งมีลมพัดแรง ดังนั้น ควรเผาขยะในเตาเผาขยะ หรือในถังโลหะ และไม่ควรเผาขยะในขณะที่ลมพัดแรงโดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่อากาศหนาว และขณะเผาขยะควรเฝ้าดูแลอยู่ใกล้ๆ พร้อมจัดเตรียมถังใส่น้ำไว้ในบริเวณที่มีการเผาขยะ เพื่อเตรียมการป้องกันไฟลุกลาม ไม่ควรปล่อยให้กองไฟมอดดับลงเอง ควรใช้น้ำราดขี้เถ้าที่ยังมีควันคุกรุ่นให้ดับสนิทเสียก่อน เพราะอาจก่อให้เกิดเพลิงไหม้ได้
4. ไฟฟ้าลัดวงจร อาจมีสาเหตุมาจากสายไฟที่ใช้มีขนาดเล็กไม่สอดคล้องกับปริมาณกระแสไฟฟ้าที่ใช้กับเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้านเรือน รวมทั้งสายไฟที่ใช้เก่าชำรุดจนเสื่อมสภาพ การใช้ฟิวส์ไม่ถูกขนาดกับปริมาณการใช้ไฟฟ้าประจำบ้าน หากพบว่าฟิวส์ในบ้านขาดบ่อยๆ ควรรีบแก้ไขก่อนที่จะเกิดไฟฟ้าลัดวงจร ที่สำคัญไม่ควรเปิดเครื่องใช้ไฟฟ้า เช่น เตารีดไฟฟ้า เครื่องต้มน้ำไฟฟ้า พัดลม ทิ้งไว้เป็นเวลานาน เพราะอาจเป็นสาเหตุทำให้เกิดไฟฟ้าลัดวงจร ดังนั้น เพื่อเป็นการลดความเสี่ยงในการเกิดเพลิงไหม้จากสาเหตุ ดังกล่าว ควรตรวจตราซ่อมบำรุงสายไฟฟ้า เครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องทำความร้อนภายในบ้าน ให้อยู่ในสภาพที่สมบูรณ์และปลอดภัย ไม่ใช่สายไฟที่เก่าเปื่อยและมีรอยชำรุด เพราะเมื่อวางทับกันอยู่กับฝ้าเพดาน อาจทำให้ความชื้นเข้าไปทำให้เกิดไฟฟ้าลัดวงจรได้ ตลอดจนติดตั้งเครื่องตัดไฟอัตโนมัติไว้ในบ้านเรือน เพื่อตัดกระแสไฟฟ้าเมื่อเกิดไฟฟ้าลัดวงจร สำหรับอาคารสูงควรติดตั้งสายล่อฟ้าเพื่อป้องกันการเกิดฟ้าผ่าซึ่งเป็นสาเหตุของการเกิดเพลิงไหม้
5.การจุดธูปเทียนบูชาพระ เมื่อต้องจุดธูปเทียนบูชาพระ ควรปักไว้ในกระถางธูปและควรวางไว้ในที่ที่ปลอดภัย หากต้องไปธุระข้างนอกควรดับไฟให้สนิทเสียก่อน ไม่ควรทิ้งให้ไฟมอดดับเอง การเผากระดาษเงินกระดาษทอง ควรทำในภาชนะที่ทำจากโลหะที่ปิดได้ เพื่อป้องกันไฟลุกลาม และควรระมัดระวังไม่ให้กระดาษปลิวไปติดวัสดุอื่น หากจุดยากันยุง ควรจุดในภาชนะที่ปกปิดมิดชิดมีจานรอง หากเลิกใช้ควรดับให้สนิทเสียก่อน และระวังอย่าให้ขี้เถ้าจากยากันยุงพลัดตกลงพื้นบ้าน โดยเฉพาะพื้นบ้านที่เป็นไม้หรือวัสดุที่ติดไฟได้ง่าย เพราะอาจก่อให้เกิดเพลิงไหม้ขึ้นได้
การเตรียมการป้องกันเบื้องต้น
เบื้องต้นควรเตรียมตุ่มสำหรับใส่น้ำไว้ดับเพลิงหากเกิดเพลิงไหม้ เตรียมทรายและจัดวางเครื่องมือดับเพลิงเคมีไว้ในที่ที่สามารถหยิบมาใช้ได้สะดวก และต้องให้ทุกคนในครอบครัวรู้สถานที่เก็บและวิธีการใช้เครื่องมือดับเพลิงเคมี และจัดเตรียมช่องทางหนีไฟจากอาคารที่สามารถใช้ได้ทุกเวลา ควรฝึกซ้อมการหนีไฟให้เคยชิน หากเกิดเพลิงไหม้ที่ไม่รุนแรงมากนักให้ใช้ถังดับเพลิงควบคุมเพลิงเองในเบื้องต้น แต่ถ้าไม่สามารถควบคุมเพลิงเองได้ในเบื้องต้น ควรรีบแจ้งเจ้าหน้าที่ดับเพลิงทันที เมื่อเกิดเพลิงไหม้ไม่ควรใช้ลิฟต์ในขณะเกิดเพลิงไหม้ อย่ามัวแต่ห่วงทรัพย์สิน สิ่งของมีค่า ให้รีบออกจากพื้นที่ที่เกิดเพลิงไหม้โดยเร็วที่สุด เพื่อความปลอดภัยกับตัวเองและคนรอบข้าง
สุดท้ายนี้ แม้ว่าการเกิดอัคคีภัยนั้นจะไม่สามารถหลีกเลี่ยงหรือควบคุมไม่ให้เกิดได้ แต่เราสามารถที่จะป้องกันไม่ให้เกิดเพลิงไหม้ได้ โดยการเพิ่มความระมัดระวังในการใช้เครื่องมือหรืออุปกรณ์ที่อาจทำให้เกิดเพลิงไหม้ และหากมีความรู้พื้นฐานและปฏิบัติตนด้วยความระมัดระวังตามวิธีการดังกล่าว ก็จะทำให้สามารถลดความรุนแรงและความเสียหายจากการเกิดเพลิงไหม้ได้

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ