กรุงเทพฯ--22 ส.ค.--คอร์แอนด์พีค
สภาหอการค้าแห่งประเทศไทยฯ ร่วมกับสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เดินหน้าเตรียมความพร้อมให้ผู้ประกอบการ SMEs ไทย จัดโครงการ “พัฒนาผู้ประกอบการ SMEs สู่เส้นทางการลงทุนในภูมิภาคอาเซียนใหม่ (CLMV)” พร้อมช่วยแนะแนวให้กับกลุ่มประเทศอาเซียนใหม่ ทั้ง เวียตนาม ลาว กัมพูชาและพม่า เผย "AEC and SMEs Challenges: Next Steps (Phase 2)" จะเป็นก้าวสำคัญที่จะกระตุ้นให้ภาครัฐและเอกชนไทยตื่นตัวเป็นเอกภาพมากขึ้น
นายดุสิต นนทะนาคร ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยถึง การเตรียมความพร้อมในการรวมตัวกันเป็นประชาคมเขตเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community: AEC)ในปี 2558 ว่า ในปีนี้นับเป็นปีที่ 2 ติดต่อกันที่สภาหอการค้าแห่งประเทศไทยฯ ได้ร่วมมือกับสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม(สสว.)จัดงาน"AEC and SMEs Challenges: Next Steps (Phase 2)" โดยได้ส่งเสริมบทบาทการสร้างความพร้อมให้กับกลุ่มประเทศอาเซียนใหม่ ซึ่ง ประกอบด้วย เวียตนาม ลาว กัมพูชาและพม่า และได้จัดโครงการ “พัฒนาผู้ประกอบการ SMEs สู่เส้นทางการลงทุนในภูมิภาคอาเซียนใหม่ (CLMV)” เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ประกอบการของไทย ได้แสวงหาช่องทางการลงทุนในอาเซียน
นายดุสิตกล่าวว่าการจัดงาน"AEC and SMEs Challenges: Next Steps (Phase 2)" เป็นการรองรับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น เมื่อมีประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community AEC ) ในปี 2558 จะนำมาซึ่งทั้งปัญหาและโอกาส ในการเตรียมความพร้อมของแต่ละองค์กร การเกิดขึ้นของ AEC จะมีความเปลี่ยนแปลงเริ่มตั้งแต่ขนาดของตลาดที่ใหญ่ขึ้น จากจำนวนประชากรที่รวมกันถึงประมาณ 600 ล้านคน ทำให้ต้องเร่งพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพให้กับผู้ประกอบการที่ร่วมการอบรมและส่งเสริมให้เกิดฐานการผลิตและตลาดเดียวกัน เพื่อนำไปสู่อำนาจต่อรองกับประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก ซึ่งหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย มีความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาผู้ประกอบการ เพื่อให้มีศักยภาพในการแข่งขันในระดับนานาชาติ ด้วยการหาลู่ทางเข้าไปลงทุนในอาเซียน ซึ่งจะเป็นโอกาสให้ผู้ประกอบการต้องเตรียมความพร้อมและมุ่งพัฒนาขีดความสามารถในทุก ๆ ด้าน
ในด้านการลงทุน นับเป็นประเด็นสำคัญในการขยายตลาดและสร้างเครือข่ายทางธุรกิจ แต่ในทางปฎิบัตินั้นการลงทุนมีอุปสรรคและขั้นตอนค่อนข้างมาก ทั้งปัญหาด้านกฎหมายและกฎระเบียบในแต่ละประเทศ ที่มีข้อจำกัดด้านการลงทุน รวมไปถึงความแตกต่างกันของวัฒนธรรมประเพณี ชนชาติและศาสนา ที่ส่งผลกระทบกับผู้ประกอบการในการลงทุนในต่างประเทศ ดังนั้นการพัฒนาและให้ความรู้กับผู้ประกอบการที่มีความสนใจในการลงทุนและประกอบธุรกิจในกลุ่มประเทศอาเซียนใหม่ ให้ทราบถึงลู่ทางการลงทุน พื้นฐานทางวัฒนธรรม ประเพณีรวมทั้งวิธีการธุรกิจ
“โอกาสสำหรับการร่วมมือกับบริษัทในประเทศอื่น ๆ ในอาเซียนจะมีความได้เปรียบในการแข่งขัน ในแต่ละด้านที่แตกต่างกัน ซึ่งธุรกิจในอาเซียน จะมีการแสวงหาพันธมิตรทางธุรกิจ ที่จะส่งเสริมศักยภาพซึ่งกันและกัน ทั้งในด้านการผลิตวัตถุดิบ การตลาดและช่องทางการจัดจำหน่าย โดยปัจจุบันมีการจัดตั้ง Source ASEAN Full Service Alliance (SAFSA) เพื่อประสานความร่วมมือระหว่างผู้ผลิต ในการแบ่งบทบาทระหว่างประเทศที่มีความได้เปรียบในการผลิตสินค้า upstream และ down stream เพื่อให้อุตสาหกรรมต่าง ๆ ของอาเซียนสามารถแข่งขันกันได้อย่างเท่าเทียมในตลาดโลก”
ด้านนายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมหรือสสว.กล่าวว่า เมื่อมีประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community AEC ) ในปี 2558 การขยายการค้าการลงทุนไปในประเทศอื่น ๆ ในอาเซียน สามารถทำได้สะดวก เนื่องจากจะขจัดอุปสรรคการกีดกันทางการค้า ทั้งทางด้านภาษีและไม่ใช่ภาษี โดยจะมีการเปิดเสรีมากขึ้น รวมถึงการโยกย้ายเงินทุนระหว่างประเทศจะทำได้ง่ายขึ้น ทั้งนี้ในการพิจารณาขยายการลงทุนแต่ละองค์กร จะต้องให้ความสำคัญกับการหาพันธมิตรที่ดี ทำความเข้าใจตลาดและลูกค้า การเตรียมความพร้อมในด้านบุคลากร ทั้งทางด้านภาษาและการทำงานภายใต้วัฒนธรรมที่แตกต่าง รวมถึงการทำธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบ โดยคำนึงถึงท้องถิ่นที่เข้าไปลงทุนด้วย
นอกจากนี้โอกาสในการสรรหาบุคลากรในวิชาชีพที่ขาดแคลนจากประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาค อันเนื่องมาจากการเปิดเสรีและรับรองมาตรฐานระหว่างกันของบุคลากรวิชาชีพ ซึ่งในด้านหนึ่งจะเป็นโอกาสที่ดีของประเทศไทย แต่ในอีกด้านหนึ่ง ก็อาจเป็นปัญหาสำหรับองค์กรธุรกิจที่อยู่ในประเทศ อาจเกิดปัญหาสมองไหลและขาดแคลนบุคลากร และยังมีประเด็นในเรื่องของการบริหารจัดการกำลังคน ที่มาจากหลากหลายวัฒนธรรม ที่บริษัทต่างๆ จะต้องเรียนรู้ และปรับระบบการบริหารงานบุคลากรเพื่อรองรับในเรื่องนี้ ซึ่งประเทศไทยจะต้องมีการเตรียมความพร้อมของบุคลากรระดับบริหาร ที่อาจต้องไปทำงานในกลุ่มประเทศในภูมิภาคอาเซียนอื่น ๆ ด้วย
“ในปี 2558 ประเทศไทยและประเทศสมาชิกของอาเซียนจะรวมตัวกันเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community : AEC) อย่างสมบูรณ์ ผ่านแผนประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC Blueprint) ที่ประกอบด้วย การเป็นตลาดเดียวและฐานการผลิตร่วมกัน การเพิ่มศักยภาพการแข่งขัน การพัฒนาที่เท่าเทียมกัน และการเชื่อมโยงกับตลาดโลก แต่ในขณะเดียวกันผู้ประกอบการเอสเอ็มอีภายในประเทศไทย ยังขาดความตื่นตัว ทำให้สสว. ต้องผลักดันให้เอสเอ็มอีในทุกภาคส่วน ได้หันมามองไปข้างหน้า เพื่อที่จะเตรียมตัวในการวางแผนกันแต่เนิ่น ๆ ก่อนที่ต่างชาติจะเข้ามาลงทุนและแข่งขันกับธุรกิจ SMEs ของไทยอย่างเต็มรูปแบบ”
ปัจจุบันประเทศไทยมีผู้ประกอบการเอสเอ็มอี จำนวนกว่า 2.9 ล้านกิจการ คิดเป็นร้อยละ 99.6 ของจำนวนวิสาหกิจทั้งหมด โดยอยู่ในภาคการผลิต จำนวน 545,098 กิจการ ภาคการค้าและซ่อมบำรุง จำนวน 1,383,391 กิจการ และภาคบริการ จำนวน 983,610 กิจการ ก่อให้เกิดการจ้างงานกว่า 10.5 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 77.8 ของการจ้างงานรวมทั้งประเทศ สร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ หรือ GDP SMEs ถึง 3.75 ล้านล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 37.1 ของมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งในแต่ละปีจะมีผู้ประกอบเพิ่มขึ้นทุกปี แต่ในขณะนี้ในภาคธุรกิจเอสเอ็มอี ยังไม่ได้รับข้อมูลข่าวสารที่จำเป็นเกี่ยวกับเรื่องประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนอย่างทั่วถึง ในขณะที่ประเทศสมาชิกอาเซียนอื่น ๆ ได้มีการเตรียมความพร้อมในการเป็น AEC ด้วยการขยายการค้า การลงทุนในประเทศสมาชิกอาเซียนด้วยกัน และประเทศคู่เจรจากับอาเซียนอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น ผู้ประกอบการ SMEs ไทย จำเป็นที่จะต้องพัฒนาศักยภาพอย่างเร่งด่วนและเตรียมรองรับกับการเปิดตลาดการค้าเสรี ต้องมีการผลิตสินค้าให้ตรงกับมาตรฐานสากล และพร้อมรับที่จะมีกติกาทางการค้าที่เปลี่ยนแปลง โดยทุกอย่างจะไร้พรมแดนเสมือนหนึ่งเป็นประเทศเดียวกัน
สื่อมวลชนสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ
คุณธนศักย์ อุทิศชลานนท์ (โป้ง) ที่ปรึกษาประชาสัมพันธ์บริษัท คอร์แอนด์พีค จำกัด
โทรศัพท์ 02-439-4600 ต่อ 8202
อีเมล์ : Tanasaku@corepeak.com