กรุงเทพฯ--22 พ.ย.--ปภ.
กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ประสานแจ้ง 8 จังหวัดภาคเหนือตอนบน ได้แก่ จังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ลำพูน ลำปาง พะเยา แพร่ และน่าน เตรียมการป้องกันและแก้ไขปัญหาหมอกควันและไฟป่าในช่วงอากาศแห้ง โดยให้จังหวัดจัดตั้งศูนย์อำนวยการแก้ไขปัญหาหมอกควันและไฟป่าในระดับจังหวัดและอำเภอ กำหนดมาตรการควบคุมการเผาขยะมูลฝอยและหญ้าริมข้างทางในพื้นที่ชุมชนและเกษตรกรรม รณรงค์ให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุม ปัญหาในระดับชุมชนเพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาในระยะยาว
นายอนุชา โมกขะเวส อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2550 - กุมภาพันธ์ 2551 สภาพอากาศโดยทั่วไปของทุกภาคเริ่มมีอากาศหนาวเย็นสภาพอากาศแห้งแล้ง ทำให้มีความเสี่ยงต่อการเกิดอัคคีภัยหรือไฟป่าเพิ่มมากขึ้น เพื่อเตรียมความพร้อมในการป้องกันและแก้ไขปัญหาหมอกควัน และไฟป่าในช่วงอากาศแห้ง กรม ปภ. จึงได้แจ้งให้ 8 จังหวัด ภาคเหนือตอนบน ได้แก่ จังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ลำพูน ลำปาง พะเยา แพร่ และน่าน จัดตั้งศูนย์อำนวยการแก้ไขปัญหาหมอกควันและไฟป่าระดับจังหวัดและระดับอำเภอและประสาน ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องบูรณาการการปฏิบัติงานตามแผนปฏิบัติการและมาตรการที่จังหวัดกำหนดในระหว่างเดือนพฤศจิกายน 2550 — เมษายน 2551 เน้นการดำเนินการ ทั้งมาตรการควบคุม การป้องกัน และการมีส่วนร่วม โดยจัดระบบการจัดเก็บ การคัดแยกและการจัดการขยะมูลฝอยอย่างถูกวิธี ห้ามเผาขยะมูลฝอยในเขตพื้นที่ชุมชนและเผาหญ้าบริเวณริมทาง รวมถึงเผาพื้นที่เกษตรกรรมโดยเด็ดขาด ส่งเสริมการใช้เทคโนโลยี การเกษตรปลอดการเผา ส่วนในพื้นที่ป่าอนุรักษ์และป่าสงวนแห่งชาติให้เตรียมความพร้อมในการควบคุมและระงับเหตุไฟป่า โดยให้สนธิกำลังจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น อาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือนและกองทัพภาคในการปฏิบัติการกรณีวิกฤติไฟป่า ตลอดจนส่งเสริมการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในการดูแลรักษาพื้นที่และป้องกันไฟป่าอย่างจริงจัง อีกทั้งเน้นการรณรงค์เผยแพร่ข้อมูลข่าวสารสถานการณ์หมอกควันและไฟป่า รวมถึงผลกระทบของหมอกควันที่มีต่อสุขภาพอนามัยและสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ประชาชนทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมในการป้องกันและแก้ไขปัญหาหมอกควันและไฟป่า ตั้งแต่การเฝ้าระวัง ป้องกัน ควบคุม และแก้ไขปัญหา รวมทั้งการจัดทำแผนปฏิบัติการฯ ภายใต้กรอบ พัฒนาระบบข้อมูล ศูนย์การเรียนรู้ การจัดการทรัพยากร และการป้องกันแก้ไขปัญหาหมอกควันภาคประชาชน รณรงค์สร้างความเข้าใจ สร้างจิตสำนึกความรับผิดชอบในการแก้ไขปัญหาวิกฤตสิ่งแวดล้อม ปัญหามลพิษหากเกิดสถานการณ์หมอกควันและไฟป่ารุนแรง และมาตรการขอความร่วมมือที่กำหนดไว้ใช้ไม่ได้ผล ให้ดำเนินการตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างเข้มงวด เพื่อลดผลกระทบจากไฟป่าที่มีต่อสุขภาพของประชาชน รวมทั้งการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจของจังหวัด สุดท้ายนี้ หากประชาชนในพื้นที่ใดได้รับความเดือดร้อนจากสถานการณ์หมอกควันและไฟป่า สามารถติดต่อขอความช่วยเหลือได้ที่ สายด่วนสาธารณภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อประสานและให้การช่วยเหลือ โดยด่วนต่อไป