กรุงเทพฯ--22 พ.ย.--พพ.
วันนี้ (22 พ.ย.2550) นายคุรุจิต นาครทัพ รองปลัดกระทรวงพลังงาน เป็นประธานเปิดงานการสัมมนา “โครงการสิทธิประโยชน์ทางภาษีเพื่อการอนุรักษ์พลังงาน” ระยะที่ 2 ณ สโมสรกองทัพบก
นายคุรุจิต กล่าวว่า การสัมมนาดังกล่าวเป็นการสร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง และให้ทราบถึงประโยชน์ที่จะได้รับจากการอนุรักษ์พลังงาน ทั้งต่อสถานประกอบการเองและต่อประเทศชาติ ซึ่งการที่จะผลักดันให้สถานประกอบการสามารถดำเนินมาตรการอนุรักษ์พลังงานนั้น ภาครัฐจะต้องมีกลไกในการสร้างแรงจูงใจที่เหมาะสมควบคู่กันไปด้วย และการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีนี้ ก็เป็นอีกกลไกหนึ่งที่สามารถโน้มน้าวให้สถานประกอบการเกิดความมั่นใจที่จะลงทุนด้านการอนุรักษ์พลังงาน โดยโครงการนำร่องฯ ในระยะที่ 1 มีผู้สมัครเข้าร่วมโครงการ ทั้งหมด 160 แห่ง คณะกรรมการพิจารณาสิทธิประโยชน์ทางภาษีในโครงการฯ ได้พิจารณาเห็นชอบให้สถานประกอบการเข้าร่วมโครงการเป็นจำนวน 119 ราย ในจำนวนผู้ที่ผ่านการเห็นชอบให้เข้าร่วมโครงการฯ มีผู้ประกอบการได้รับเงินภาษีสนับสนุนตามผลประหยัดจริงเป็นจำนวน 75 ราย และสามารถผลักดันให้สถานประกอบการในโครงการฯ ทั้งหมด ดำเนินมาตรการอนุรักษ์พลังงานทั้งหมด 109 มาตรการ เป็นมาตรการด้านไฟฟ้า จำนวน 76 มาตรการ คิดเป็นพลังงานไฟฟ้าที่ประหยัดได้ 41 ล้านหน่วย/ปี มาตรการด้านความร้อน จำนวน 34 มาตรการ คิดเป็นพลังงานความร้อนที่ประหยัดได้ 712.3 ล้านเมกกะจูล/ปี คิดเป็นพลังงานรวมที่ประหยัดได้ 401.5 ล้านบาท/ปี หรือ 19.90 Ktoe/ปี โดยสถานประกอบการเกิดการลงทุนรวม 546.2 ล้านบาท ด้วยการสนับสนุนเงินภาษีเพียง 43 ล้านบาทเท่านั้น นอกจากนี้แล้ว สถานประกอบการยังได้รับความรู้ด้านการอนุรักษ์พลังงานและการตรวจวัดพลังงานจากที่ปรึกษาตรวจสอบ ซึ่งถือได้ว่าเป็นการถ่ายทอดองค์ความรู้ ที่ครบวงจรด้านการอนุรักษ์พลังงานเพิ่มเติมอีกทางหนึ่ง
นายพานิช พงศ์พิโรดม อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน กล่าวเพิ่มเติมว่าหลังจากสิ้นสุดโครงการนำร่องฯ ยังมีสถานประกอบการแสดงความประสงค์จะเข้าร่วมโครงการฯ อย่างต่อเนื่อง พพ. จึงได้จัดทำโครงการสิทธิประโยชน์ทางภาษีเพื่อการอนุรักษ์พลังงานระยะ2 ขึ้น โดยมีงบดำเนินการในวงเงินสนับสนุนให้แก่สถานประกอบการรวม 100 ล้านบาท ซึ่งรูปแบบการดำเนินโครงการฯ จะให้การสนับสนุนแก่สถานประกอบการกลุ่มเป้าหมายทุกภูมิภาคทั่วประเทศที่ดำเนินมาตรการอนุรักษ์พลังงานในปี 2551 โดยจ่ายเงินสนับสนุนทดแทนภาษีที่สถานประกอบการต้องชำระ อันเนื่องมาจากสถานประกอบการมีกำไรมากขึ้นจากการลดต้นทุนด้านพลังงาน ทั้งนี้เงินสนับสนุนไม่เกินแห่งละ 2 ล้านบาท ซึ่ง พพ. คาดว่าจะสามารถกระตุ้นให้สถานประกอบการทั่วประเทศ จำนวนถึง 140 ราย เข้าร่วมโครงการ คิดเป็นพลังงานรวมที่ประหยัดได้ไม่น้อยกว่า 500 ล้านบาทต่อปี หรือ 20 Ktoe/ปี และจะทำให้ผู้ประกอบการเกิดความมั่นใจในการลงทุน ในการดำเนินมาตรการอนุรักษ์พลังงานอย่างยั่งยืนต่อไป