กรุงเทพฯ--23 ส.ค.--สสวท.
3 ปีเครือข่ายครูฯ สร้างพี่เลี้ยงวิชาการครูวิทย์ - คณิตสสวท.กระตุ้นทุกฝ่ายตระหนักความสำคัญการสอบ PISA ปี 2555เร่งแนวสอนให้เด็กไทยคิด วิเคราะห์ ประยุกต์ความรู้ เพื่อแก้ปัญหาในชีวิตประจำวันได้
รศ.ดร.ธัชชัย สุมิตร ประธานกรรมการสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) เปิดเผยว่าตามที่ได้ดำเนินโครงการพัฒนาเครือข่ายการเรียนรู้ผู้สอนวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ ช่วงชั้นที่ 1 — 3 ซึ่งเป็นโครงการนำร่องใน 10 จังหวัด โดยเพิ่มความรู้แก่ครูทั้งด้านการเรียน การสอน และการวิจัยในชั้นเรียนเพื่อทำหน้าที่ครูพี่เลี้ยงวิชาการที่เข้มแข็ง จากการประเมินผลการทำงานพบว่าเกิดประสิทธิผลสามารถสร้างเครือข่ายแลกเปลี่ยนเรียนรู้ พัฒนาการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ได้ ซึ่งในที่ประชุมปฏิบัติการ 3 ปีของการพัฒนาเครือข่ายการเรียนรู้สู่ก้าวต่อไปอย่างยั่งยืน ก็ได้ขอให้ครูช่วยเหลือกันแลกเปลี่ยนแนะนำความรู้ เพื่อเป็นเครือข่ายวิชาการที่ต่อเนื่องจากครูสู่ครูเพิ่มประสิทธิภาพการสอน
ที่สำคัญเดือนสิงหาคม พศ.2555 จะมีการสุ่มตัวอย่างโรงเรียนเพื่อทดสอบผลการเรียนรู้ของนักเรียนช่วงอายุ 15 ปีตามโครงการประเมินผลนักเรียนระดับนานาชาติ PISA (The Program for International Student Assessment ) โดยทดสอบ 3 ด้านคือการอ่าน คณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ ขอฝากคุณครูและผู้บริหารโรงเรียนช่วยเร่งสร้างความตระหนักให้นักเรียนและทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เห็นความสำคัญของการสอบนี้เพราะเป็นแนวข้อสอบที่วัดทักษะในกระบวนการเรียนรู้ของเด็กว่านำความรู้ไปใช้ประโยชน์ด้านใดได้บ้างและสามารถแก้ปัญหาได้หรือไม่ ที่สำคัญเป็นการวัดความรู้ทุกด้านของนักเรียนในการประยุกต์ใช้เพื่อแก้ปัญหาในชีวิตประจำวัน สะท้อนความมานะพยายามด้านการอ่านและวิเคราะห์เพื่อหาคำตอบ ซึ่งปัจจุบันเด็กส่วนใหญ่อ่อนแอเรื่องนี้เนื่องจากคุ้นเคยกับการเลือกข้อตอบเท่านั้น
ผลการประเมิน PISA มีบทบาทสำคัญที่เชื่อมโยงสู่การปรับปรุงคุณภาพการศึกษา จึงหวังให้โรงเรียนให้ความสำคัญต่อแนวการสอนที่กระตุ้นให้นักเรียนเรียนรู้ด้วยความเข้าใจ รู้จักคิด วิเคราะห์ หาคำตอบด้วยเหตุผล สามารถนำความรู้ทั้งวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ รวมถึงวิชาอื่นๆ มาประยุกต์ร่วมกันแก้ปัญหาด้านต่างๆในชีวิตได้ซึ่งนับเป็นแนวทางขั้นต้นที่จะยกระดับนักเรียนไทย
ที่ผ่านมาคะแนนของนักเรียนไทยไม่ดีนักเมื่อเทียบกับชาติอื่นๆในกลุ่มประเทศ OECD ซึ่งมีฐานะเศรษฐกิจเข้มแข็งกว่าไทยโดยเฉพาะบางประเทศในเอเชียเช่น จีนเซี่ยงไฮ้ ใช้หลักสูตรที่เป็นแนวทางเดียวกับการวัดผล PISA ทำให้นักเรียนมีคะแนนอยู่ในเกณฑ์ดี นอกจากนี้ผลการเรียนของนักเรียนในกลุ่มประเทศ OECD ยังมีความสัมพันธ์กับฐานะผู้ปกครองและภูมิลำเนา แตกต่างจากไทยซึ่งเด็กที่ทำคะแนนดีส่วนใหญ่อยู่โรงเรียนในเขตกรุงเทพฯ ในขณะที่จังหวัดรอบนอกเขตกรุงเทพฯทำคะแนนทดสอบไม่ดีนักเมื่อเทียบกับจังหวัดที่อยู่ห่างไกลซึ่งฐานะผู้ปกครองโดยเฉลี่ยต่ำกว่าจังหวัดที่อยู่รอบๆ กรุงเทพฯ