ตะลึง!!! ผลวิจัยชี้แอลกอฮอล์ ส่งผลต่อเศรษฐกิจกว่า 2 แสนล้านบาท

ข่าวเทคโนโลยี Thursday November 22, 2007 16:43 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--22 พ.ย.--สวรส.
ผลจากงานวิจัยเรื่อง “ผลกระทบทางสังคมและเศรษฐกิจของการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในประเทศไทย” โดยโครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ (HITAP) สนับสนุนโดยสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ได้รายงานการสูญเสียผลิตภาพจากการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในประเทศไทยไว้ว่า คนไทยที่บริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จะสูญเสียผลิตภาพการทำงาน ซึ่งเป็นผลจากการขาดงานเนื่องจากปัญหาสุขภาพ รวมถึงสูญเสียประสิทธิภาพไปในขณะทำงาน หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือทำให้สูญเสียโอกาสในการสร้างผลผลิตแก่สังคมโดยรวม คิดเป็นมูลค่าถึงประมาณ 62,638 ล้านบาท
ผศ.ดร.ภญ.มนทรัตม์ ถาวรเจริญทรัพย์ นักวิจัยโครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ (HITAP) และอาจารย์คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยว่าการศึกษาถึงผลกระทบของการดื่มใน 5 กลุ่มด้วยกัน โดยใช้ปริมาณแอลกอฮอล์ที่บริโภคต่อวันเป็นตัวแบ่ง ได้แก่ กลุ่มที่ 1.บริโภคตั้งแต่ 60 กรัมขึ้นไป ในเพศชาย และตั้งแต่ 40 กรัมขึ้นไป ในเพศหญิง ซึ่งถือเป็นการดื่มระดับอันตรายมาก กลุ่มที่ 2.บริโภค 40-59 กรัม ในเพศชาย และ 20-39 กรัม ในเพศหญิง ซึ่งถือเป็นระดับอันตราย กลุ่มที่ 3.บริโภคน้อยกว่า 40 กรัม ในเพศชาย และน้อยกว่า 20 กรัม ในเพศหญิง เรียกว่าดื่มบ้าง กลุ่มที่ 4.เคยดื่ม และหยุดดื่มมาไม่ต่ำกว่า 12 เดือน และ กลุ่มที่ 5.เป็นกลุ่มที่ไม่ดื่มเลย
“ผลการศึกษาเบื้องต้นพบว่า ผู้ที่ดื่มในระดับอันตรายมาก จะสูญเสียผลิตภาพการทำงานมากที่สุดคือ 13.9% หรือคิดเป็นการขาดงาน 30 วันต่อปี อันดับสองได้แก่ กลุ่มที่เคยดื่มมาก่อน สูญเสียผลิตภาพไป 13.2% หรือคิดเป็น 29 วันทำงานต่อปี ซึ่งตัวเลขดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า ผลกระทบของการบริโภคแอลกอฮอล์ไม่ได้เกิดขึ้นแค่เฉพาะในวันที่ดื่มเท่านั้น แต่อาจส่งผลระยะยาวคือปัญหาสุขภาพที่ติดตัวผู้ดื่มไปตลอด แม้จะหยุดดื่มแล้ว ก็ยังสามารถสร้างผลกระทบด้านลบให้กับทั้งชีวิตประจำวันของผู้ดื่มเอง รวมถึงภาคเศรษฐกิจโดยรวมได้ด้วย”
นอกจากนี้ยังพบว่า ในปี 2549 มีคนไทยที่เสียชีวิตก่อนวัยอันควรโดยมีสาเหตุจากแอลกอฮอล์ เป็นจำนวน 38,868 คน แบ่งเป็นชาย 33,887 คน เพศหญิง 4,981 คน ทำให้ประเทศไทยขาดโอกาสในการสร้างตัวเลขผลผลิตทางเศรษฐกิจไปอีก 128,365 ล้านบาทต่อปี
ผศ.ดร.ภญ.มนทรัตม์ กล่าวต่อว่าผลจากงานวิจัยดังกล่าวยังชี้เห็นถึงภาระของประเทศที่ต้องคอยแบกรับ ซึ่งหมายถึงเงินภาษีที่มาจากประชาชนทุกคน ต้องนำไปใช้ในการรักษาพยาบาลผู้ป่วยจากการดื่มแอลกอฮอล์ เป็นมูลค่าถึง 5,623 ล้านบาทต่อปีอีกด้วย โดยแบ่งเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับผู้ป่วยใน 2,072 ล้านบาท ผู้ป่วยนอก 2,299 ล้านบาท และค่าใช้จ่ายในการรักษาการบาดเจ็บที่เกิดจากแอลกอฮอล์ ได้แก่ อุบัติเหตุการขนส่ง การฆ่าตัวตาย และการจมน้ำอีก 1,252 ล้านบาท
ด้านต้นทุนในการฟ้องร้องคดีที่มีสาเหตุจากแอลกอฮอล์ รวมถึงต้นทุนในการดำเนินคดีโดยตำรวจนั้น จากการประเมินเบื้องต้นของทีมวิจัย พบว่ามีมูลค่าทั้งสิ้น 171 ล้านบาทต่อปี ส่วนทรัพย์สินที่เสียหายจากอุบัติเหตุจราจรมีมูลค่าประมาณ 779 ล้านบาทต่อปี
“ในปี 2549 รัฐบาลจัดเก็บภาษีจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้ทั้งสิ้น 72,871 ล้านบาท ขณะที่ผลกระทบเชิงลบที่เกิดจากการบริโภคแอลกอฮอล์มีมูลค่าประมาณ 197,576 ล้านบาท ดังนั้นรัฐบาลจำเป็นต้องหามาตรการในการลดผลกระทบเชิงลบต่อสังคมเพื่อสร้างสมดุลระหว่างรายรับของรัฐเพื่อการจัดสวัสดิการแก่สังคมและผลกระทบเชิงลบจากการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์”
ด้าน ดร.นพ.ยศ ตีระวัฒนานนท์ หัวหน้าโครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ (HITAP) กล่าวว่าผลการศึกษาแสดงให้เห็นชัดเจนว่าแอลกอฮอล์ไม่ใช่เรื่องของผู้ขายกับผู้ดื่มเท่านั้น เพราะแอลกอฮอล์ยังส่งผลในวงกว้างกับสังคมรวมทั้งระบบสุขภาพ ถ้าเราแก้ไขปัญหาเรื่องแอลกอฮอล์ไม่ได้ แพทย์และพยาบาลจะมีภาระงานเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ หรือแม้กระทั่งในแรงงานที่ต้องขาดประสิทธิภาพในการทำงานหรือมีประสิทธิภาพการทำงานที่ลดลง และตัวเลขการศึกษาเป็นการประมาณการแบบระมัดระวังเป็นอย่างยิ่ง บางอย่างยังต่ำกว่าความเป็นจริง และต้องขอบคุณหน่วยงานต่างๆที่ให้การสนับสนุนงานวิจัยนี้ อาทิ สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ศูนย์วิจัยปัญหาสุรา (ศวส.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และหน่วยงานอื่นๆที่ร่วมรณรงค์ลดการดื่มแอลกอฮอล์ด้วย
อย่างไรก็ตามแม้ว่ารัฐบาลจะออกกฎหมายหรือมีมาตรการบังคับออกมา อาทิ พระราชบัญญัติสุรา พ.ศ.2493 ซึ่งเป็นกฎหมายหลักเกี่ยวกับการดำเนินธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับสุรา การรณรงค์ในช่วงเทศกาลสำคัญต่างๆ รวมถึงการห้ามโฆษณาผ่านทางโทรทัศน์โดยจำกัดช่วงเวลาออกอากาศ แต่ปริมาณการบริโภคแอลกอฮอล์ของคนไทยยังเพิ่มสูงขึ้นทุกปี ทั้งนี้ประชาชนควรหันมาสนในการดูแลสุขภาพของตนเอง รวมถึงการตระหนักว่าการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไม่เพียงส่งผลกระทบต่อตนเอง แต่ยังส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมโดยรวมของประเทศอีกด้วย
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อ
ฝ่ายประชาสัมพันธ์สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.)
โทร.02-2701350-4 ต่อ 105

แท็ก สาธารณสุข  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ