ศอส.คาดการณ์มี 4 จังหวัดฝนตกหนัก 9 จังหวัดเสี่ยงภาวะน้ำล้นตลิ่ง

ข่าวทั่วไป Tuesday August 23, 2011 15:39 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--23 ส.ค.--ศอส. ศอส. รายงานสถานการณ์อุทกภัยคลี่คลายแล้ว 16 จังหวัด ยังคงมีสถานการณ์ใน 14 จังหวัด และจากการคาดการณ์จะมีฝนตกหนัก ใน 4 จังหวัด ได้แก่ อุบลราชธานี อำนาจเจริญ ศรีสะเกษ และตราด มีพื้นที่ต้องเฝ้าระวังน้ำล้นตลิ่งใน 9 จังหวัด แยกเป็น 4 จังหวัดลุ่มน้ำเจ้าพระยา และ 5 จังหวัดลุ่มน้ำโขง พร้อมแจ้งเตือนประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัย 8 จังหวัดเฝ้าระวังดินโคลนถล่ม ทั้งนี้ เตรียมเสนอรัฐบาลจัดตั้งศูนย์รับบริจาคช่วยเหลือผู้ประสบภัย และเน้นย้ำกรมการปกครองเร่งตรวจสอบความต้องการและการให้ความช่วยเหลือของอำเภอ นายชนม์ชื่น บุญญานุสาสน์ รองปลัดกระทรวงมหาดไทย ประธานการประชุมศูนย์สนับสนุนการอำนวยการและการบริหารสถานการณ์อุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม (ศอส.) เปิดเผยว่า ภาวะฝนตกหนักอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้เกิดสถานการณ์อุทกภัยในหลายพื้นที่ โดยมีจังหวัดประกาศเป็นพื้นที่ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน (อุทกภัย) รวม 30 จังหวัด 283 อำเภอ 1,879 ตำบล 15,274 หมู่บ้าน ราษฎรได้รับความเดือดร้อน 940,961 ครัวเรือน 3,484,587 คน ผู้เสียชีวิต 41 ราย สูญหาย 1 คน จากเหตุการณ์ดินโคลนถล่มที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน ปัจจุบันสถานการณ์อุทกภัยคลี่คลายแล้ว 16 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดน่าน แพร่ ลำพูน ลำปาง เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน อุตรดิตถ์ ตาก เลย หนองคาย นครพนม มุกดาหาร อุดรธานี บึงกาฬ สกลนคร และประจวบคีรีขันธ์ ยังคงมีสถานการณ์อุทกภัยใน 14 จังหวัด รวม 90 อำเภอ 614 ตำบล 4,642 หมู่บ้าน ราษฎรเดือดร้อน 379,274 ครัวเรือน 1,142,712 คน ได้แก่ สุโขทัย พิจิตร พิษณุโลก กำแพงเพชร นครสวรรค์ เพชรบูรณ์ นครนายก พระนครศรีอยุธยา อ่างทอง ชัยนาท ร้อยเอ็ด กาฬสินธุ์ อุบลราชธานี และปราจีนบุรี พื้นที่การเกษตรคาดว่าจะเสียหาย 2,392,974 ไร่ พื้นที่ประมงคาดว่าจะเสียหาย 15,634 ไร่ ปศุสัตว์ได้รับผลกระทบ 1,569,474 ตัว น้ำท่วมเส้นทางคมนาคม 17 สายทาง ใน 8 จังหวัด ได้แก่ สุโขทัย พิจิตร พิษณุโลก เพชรบูรณ์ น่าน เชียงราย นครสวรรค์ และพระนครศรีอยุธยา สัญจรผ่านไม่ได้ 4 เส้นทาง (จังหวัดสุโขทัย 2 เส้นทาง เพชรบูรณ์และน่าน จังหวัดละ 1 เส้นทาง) ทางหลวงชนบทสัญจรผ่านไม่ได้ 15 สายทาง ใน 6 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ 4 สาย นครสวรรค์ 2 สาย พิจิตร 4 สาย พิษณุโลก 4 สาย นครพนม 2 สาย และร้อยเอ็ด 2 สาย นายชนม์ชื่น กล่าวต่อไปว่า จากการติดตามคาดหมายลักษณะอากาศ พบว่า แม้ในภาพรวมประเทศไทยจะมีปริมาณฝนอยู่เกณฑ์ลดลง แต่พื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ด้านจังหวัดอุบลราชธานี อำนาจเจริญ และศรีสะเกษ จะมีฝนตกเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะในวันที่ 26 สิงหาคม 2554 ขณะที่พื้นที่ ภาคตะวันออก บริเวณจังหวัดตราด ที่อำเภอเกาะช้าง อำเภอคลองใหญ่ จะยังคงมีฝนตกชุกต่อเนื่องอีก 1 - 2 วัน จึงขอฝากเตือนประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัยของทั้ง 4 จังหวัด โดยเฉพาะบริเวณที่ลุ่มต่ำริมฝั่งแม่น้ำ ที่ลาดเชิงเขา เตรียมรับมืออันตรายที่อาจเกิดจากภาวะฝนตกหนักในระยะนี้ไว้ด้วย ทั้งนี้ ยังต้องเฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงภาวะน้ำล้นตลิ่งใน 9 จังหวัด แยกเป็น 4 จังหวัดภาคกลางในพื้นที่ลุ่มต่ำริมสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ได้แก่ ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุยา และ 5 จังหวัดในพื้นที่ลุ่มน้ำโขงและลำน้ำสาขาของลำน้ำโขง บริเวณจังหวัดหนองคาย นครพนม มุกดาหาร อำนาจเจริญ และบึงกาฬ เนื่องจากการตรวจสอบปริมาณน้ำที่ไหลผ่านลุ่มน้ำเจ้าพระยาบริเวณจังหวัดนครสวรรค์ คาดว่าจะอยู่ในเกณฑ์สูงสุดประมาณ 2,200 — 2,400 ลูกบาศก์เมตร/วินาที ส่งผลให้ระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้นอีกประมาณ 20 เซนติเมตร ส่วนลุ่มน้ำโขงจะมีปริมาณน้ำเพิ่มขึ้น ถึงระดับวิกฤตที่จังหวัดหนองคาย ระดับน้ำอยู่ในเกณฑ์สูงสุดช่วงวันที่ 24 — 25 สิงหาคม 2554 ซึ่งอาจส่งผลให้ภาวะน้ำล้นตลิ่งขยายวงกว้างมากขึ้น จึงขอฝากเตือน ให้ประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ริมฝั่งแม่น้ำของทั้ง 9 จังหวัดเตรียมรับมือภาวะน้ำล้นตลิ่ง โดยขนย้ายสิ่งของขึ้นที่สูงและปฏิบัติตามประกาศแจ้งเตือน อย่างเคร่งครัด สำหรับพื้นที่ที่ยังต้องเฝ้าระวังดินถล่ม มี 8 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย (อำเภอแม่สาย อำเภอแม่จัน อำเภอแม่ฟ้าหลวง อำเภอเทิง) พะเยา (อำเภอปง อำเภอเชียงคำ อำเภอจุน อำเภอดอกคำใต้) น่าน (อำเภอบ่อเกลือ อำเภอปัว อำเภอเฉลิมพระเกียรติ อำเภอสองแคว อำเภอเชียงกลาง อำเภอบ้านหลวง อำเภอท่าวังผา) ลำปาง (อำเภอแม่ทะ อำเภอห้างฉัตร อำเภองาว อำเภอแจ้ห่ม) เชียงใหม่ (อำเภอฝาง อำเภอแม่อาย) พิษณุโลก (อำเภอเนินมะปราง) เพชรบูรณ์ (อำเภอหล่มเก่า) ตราด (อำเภอเกาะช้าง อำเภอคลองใหญ่) ขอให้ประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ลาดเชิงเขาของ 8 จังหวัด เฝ้าระวังติดตามสถานการณ์ภัย หากสังเกตพบสัญญาณเปลี่ยนแปลงทางธรรมชาติ ให้รีบอพยพออกจากพื้นที่ไปตามเส้นทางที่ปลอดภัย ทั้งนี้ ศอส. ได้ประสานเขื่อนสิริกิติ์ควบคุมการระบายน้ำให้อยู่ในอัตรา 650 ลูกบาศก์เมตร/วินาที เพื่อมิให้ส่งผลกระทบมากขึ้นต่อพื้นที่น้ำท่วมบริเวณท้ายเขื่อน โดยเฉพาะจังหวัดอุตรดิตถ์ และพิษณุโลก พร้อมเตรียมเสนอรัฐบาลจัดตั้งศูนย์รับบริจาค โดยมีสำนักนายกรัฐมนตรีเป็นศูนย์กลาง ในการรับบริจาค รวมถึงสั่งการให้กรมการปกครองจัดส่งเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ตรวจสอบความต้องการของผู้ประสบภัยและการให้ความช่วยเหลือของอำเภอ เพื่อให้การช่วยเหลือเป็นไปอย่างรวดเร็วและทั่วถึง กรณีมีการนำเสนอข่าวข้อร้องเรียนความเดือดร้อนของผู้ประสบภัยในพื้นที่ใด ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดตรวจสอบข้อเท็จจริง พร้อมชี้แจงสื่อมวลชนในพื้นที่โดยด่วน เพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องแก่ผู้ประสบภัยเกี่ยวกับแนวทางการช่วยเหลือผู้ประสบภัย สำหรับการนำเสนอข่าวสถานการณ์อุทกภัยที่อำเภอบางบาล จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ของสื่อมวลชน ศอส. ได้ตรวจสอบไปยังจังหวัดพระนครศรีอยุธยาแล้ว พบว่า จังหวัดได้ประกาศให้พื้นที่อำเภอบางบาลเป็นพื้นที่ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน (น้ำท่วม) พร้อมจัดเต็นท์ที่พักชั่วคราว สุขาเคลื่อนที่ออกให้บริการแก่ผู้ประสบภัยในเบื้องต้นแล้ว ทั้งนี้ ได้สั่งการให้ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต 1 ปทุมธานี จัดหาเต็นท์ที่พักอาศัยเพิ่มเติมให้กับผู้ประสบภัยในพื้นที่อำเภอบางบาล และเนื่องจากประชาชนบางส่วนได้ไปตั้งที่พักอาศัยบริเวณริมถนน ในอำเภอบางบาล จึงฝากเตือนผู้ขับขี่ให้เพิ่มความระมัดระวัง ในการเดินทางผ่านเส้นทางดังกล่าวไว้ด้วย ท้ายนี้ ได้เน้นย้ำให้สมาชิกอาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน อาสาสมัครสาธารณสุข ผู้นำท้องถิ่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน แจ้งเตือนประชาชน ให้เพิ่มความระมัดระวังในการใช้ชีวิตในช่วงน้ำท่วมขัง เพื่อป้องกันอันตรายและอุบัติภัยในช่วงน้ำท่วม

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ