กรุงเทพฯ--23 ส.ค.--สสวท.
การแข่งขันคอมพิวเตอร์โอลิมปิกระหว่างประเทศ ครั้งที่ 23 (The 23rd International Olympiad in Informatics: IOI 2011) ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ จัดขึ้นที่โรงแรมรอยัล คลิฟ บีช รีสอร์ท เมืองพัทยา เมื่อวันที่ 22 — 29 กรกฎาคม 2554 ที่ผ่านมา โดยมีสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) กระทรวงศึกษาธิการ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องผนึกกำลังขับเคลื่อน ถือเป็นเวทีของเด็กเก่งระดับโลกที่จะมารวมตัวประชันฝีมือและพิสูจน์ความรู้ความสามารถด้านการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์
ฉะนั้นการเฟ้นหาสุดยอดเยาวชนหัวกระทิทางด้านการเขียนโปรแกรม จึงเป็นเรื่องหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องใช้ข้อสอบเป็นตัววัดผลถึงความสามารถในเรื่องดังกล่าว ดังนั้น การออกข้อสอบและการพิจารณาคัดเลือกข้อสอบที่ใช้ในการแข่งขันคอมพิวเตอร์โอลิมปิกครั้งนี้ จึงมีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าการจัดงาน เพราะข้อสอบทุกข้อจะต้องเป็นไปตามมาตรฐาน IOI
ผลการสอบแข่งขันเก็บคะแนนวันแรก มีผู้เข้าแข่งขันทำคะแนนเต็ม 300 คะแนน ทั้งสิ้น 17 คน จากประเทศจีน 3 คน โครเอเชีย 3 คน โปรแลนด์ 2 คน เบลาลุส บราซิล เบลเยียม บัลแกเรีย ฝรั่งเศล รัสเซีย สิงคโปร์ ไต้หวัน และประเทศไทยโดยนายพศิน มนูรังษี ขณะที่การสอบแข่งขันวันที่ 2 ก็มีผู้เข้าแข่งขันทำคะแนนเต็ม 300 คะแนน คือ ประเทศเบลาลุส ส่งผลให้ “เกนเนดี้ โคราตเควิช” เด็กอัจริยะครองแชมป์โลก 3 สมัยซ้อน สามารถทำคะแนนเต็ม 600 คะแนนได้ โดยใช้เวลาตั้งแต่เข้าแข่งขันไป 7 ชั่วโมงครึ่ง
ผลดังกล่าว จึงเป็นที่มาของคำถามที่เกิดขึ้นอย่างมากมายว่า “ประเทศไทยในฐานะเจ้าภาพมีหลักเกณฑ์ในการออกข้อสอบและพิจารณาคัดเลือกข้อสอบกันอย่างไร ? ”
เรื่องนี้ ผศ. ดร. จิตร์ทัศน์ ฝักเจริญผล อาจารย์คณะวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในฐานะประธานอนุกรรมการฝ่ายออกข้อสอบและตรวจข้อสอบฯ การแข่งขันคอมพิวเตอร์โอลิมปิกระหว่างประเทศ ครั้งที่ 23 ได้ชี้แจงถึงหลักเกณฑ์และกระบวนการในการคัดเลือกข้อสอบว่า การพิจารณาข้อสอบทั้งหมด 6 ข้อ จะคัดเลือกทั้งข้อยากและง่ายปะปนกัน ซึ่งข้อสอบจะต้องสร้างสรรค์และน่าสนใจ ขณะเดียวกันหากให้บุคคลภายนอกที่ไม่ใช่ผู้แข่งขันพิจารณาข้อสอบดังกล่าว จะต้องเกิดความเข้าใจในข้อสอบนั้น ๆ ด้วยเช่นกัน
สำหรับข้อสอบที่ใช้ในการแข่งขันครั้งนี้ มีประเทศสมาชิกส่งข้อสอบเข้าร่วม 26 ข้อ ขณะที่ประเทศไทยออกเอง 4-5 ข้อ จากนั้นประเทศไทยจะให้ทีมงาน ซึ่งเป็นบุคคลากรที่มีความรู้ความสามารถและเป็นผู้ทรงคุณวุฒิทำหน้าที่พิจารณาคัดเลือกข้อสอบให้เหลือ 10 ข้อ ต่อจากนั้นคณะกรรมการจะพิจารณาคัดเลือกข้อสอบให้เหลือเพียง 6 ข้อ
อุปสรรคของการพิจารณาคัดเลือกข้อสอบนั้น มีเพียงเรื่องของการรวมตัวของทีมงานซึ่งส่วนใหญ่เป็นอดีตเจ้าของเหรียญรางวัลจากการแข่งขันคอมพิวเตอร์โอลิมปิกรุ่นก่อน ๆ เพราะหลายคนกำลังศึกษาอยู่ต่างประเทศ กว่าจะมีการรวมตัวเพื่อดำเนินการคัดเลือกข้อสอบก็ใกล้เวลาเปิดการแข่งขันคอมพิวเตอร์โอลิมปิกเข้ามาทุกขณะ
“โจทย์การแข่งขันมุ่งให้ผู้เข้าแข่งขันเขียนโปรแกรมด้วยภาษาคอมพิวเตอร์ต่างๆ ให้แก้โจทย์และเขียนโปรแกรมตามโจทย์ ซึ่งข้อสอบที่ใช้ในการแข่งขันคอมพิวเตอร์โอลิมปิกครั้ง 23 นี้สามารถสะท้อนและวัดผลเยาวชนที่เข้าร่วมการแข่งขันทางด้านการคิด วิเคราะห์ และแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบ รวมทั้งสามารถนำสิ่งเหล่านี้ไปใช้ในชีวิตประจำวันได้เป็นอย่างดี“
ขณะเดียวกันในการสอบแข่งขันทั้ง 2 วันจะมีการกำหนดระยะเวลาในการสอบ ทำให้ผู้เข้าร่วมแข่งขันทุกคนจะต้องจัดสรรเวลาและแบ่งเวลาในการทำข้อสอบให้ดี รวมทั้งควบคุมสติและอารมณ์ให้อยู่ในระดับปกติท่ามกลางความกดดัน เพื่อให้สามารถทำข้อสอบได้ภายในเวลาน้อยที่สุดหรือเสร็จทันตามที่กำหนด
“ผมชอบและพอใจข้อสอบทุกข้อที่ใช้ในการสอบแข่งขันคอมพิวเตอร์โอลิมปิกครั้งนี้มาก โดยเฉพาะข้อสอบที่ใช้สอบในวันสุดท้ายจะท้าทายและน่าสนใจมากกว่าข้อสอบในวันแรกเป็น อย่างมาก ซึ่งหลักเกณฑ์ในการให้คะแนนจะแบ่งเป็นส่วน ๆ ตามความยากง่ายของคำตอบ คอมพิวเตอร์ จะทำหน้าที่ตรวจข้อสอบจากผู้เข้าร่วมแข่งขันทุกคน ซึ่งจะสามารถทราบผลคะแนนได้ทันที” ผศ. ดร. จิตร์ทัศน์กล่าว
เหล่านี้เป็นที่น่ายินดีว่าประเทศไทยมีหลักเกณฑ์ในการออกข้อสอบและคัดเลือกอย่างมีคุณภาพและตรงตามมาตรฐาน IOI รวมทั้งมีบุคลากรทางไอทีระดับแนวหน้าที่สามารถจัดทำออกและตรวจข้อสอบได้อย่างเป็นระบบ และแม่นยำจนเป็นที่ยอมรับในระดับโลก
และนับว่าเวทีการการแข่งขันคอมพิวเตอร์โอลิมปิกระหว่างประเทศ ครั้งที่ 23 นี้จึงเป็นเวทีหนึ่งที่ไทยได้โอกาสแสดงศักยภาพของนักวิชาการคอมพิวเตอร์ชาวไทยให้ระบือไกลไปทั่วโลก