กรุงเทพฯ--24 ส.ค.--ศอส.
ศูนย์สนับสนุนการอำนวยการบริหารสถานการณ์อุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม (ศอส.) โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย คาดการณ์ปริมาณน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาตอนกลางและแม่น้ำโขงตอนบนเพิ่มขึ้น พร้อมแจ้งเตือน 8 จังหวัดริมฝั่งแม่น้ำเฝ้าระวังน้ำล้นตลิ่ง ส่วน 5 จังหวัดภาคเหนือเสี่ยงภัยดินถล่ม สั่งกำชับจังหวัดแจ้งเตือนประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัยผ่านทุกช่องทาง
นายวิบูลย์ สงวนพงศ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ประธานการประชุมศูนย์สนับสนุนการอำนวยการบริหารสถานการณ์อุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม (ศอส.) เปิดเผยว่า ภาวะฝนตกหนักอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้เกิดสถานการณ์อุทกภัยในหลายพื้นที่ โดยมีจังหวัดประกาศเป็นพื้นที่ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน (อุทกภัย) รวม 30 จังหวัด 283 อำเภอ 1,879 ตำบล 15,274 หมู่บ้าน ได้แก่ แพร่ เชียงใหม่ สุโขทัย น่าน ลำพูน ลำปาง แม่ฮ่องสอน อุตรดิตถ์ พิจิตร พิษณุโลก ตาก กำแพงเพชร นครสวรรค์ นครพนม ร้อยเอ็ด กาฬสินธุ์ อุบลราชธานี อุดรธานี หนองคาย มุกดาหาร บึงกาฬ สกลนคร เลย เพชรบูรณ์ ประจวบคีรีขันธ์ นครนายก ปราจีนบุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา และชัยนาท ราษฎรได้รับความเดือดร้อน 940,961 ครัวเรือน 3,484,587 คน ปัจจุบันสถานการณ์อุทกภัยคลี่คลายแล้ว 16 จังหวัด ได้แก่ น่าน แพร่ ลำพูน ลำปาง เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน อุตรดิตถ์ ตาก เลย หนองคาย นครพนม มุกดาหาร อุดรธานี บึงกาฬ สกลนคร และประจวบคีรีขันธ์ ยังคงมีสถานการณ์อุทกภัยใน 14 จังหวัด รวม 90 อำเภอ 614 ตำบล 4,642 หมู่บ้าน ราษฎรเดือดร้อน 379,274 ครัวเรือน 1,142,712 คน ได้แก่ สุโขทัย พิจิตร พิษณุโลก กำแพงเพชร นครสวรรค์ เพชรบูรณ์ นครนายก พระนครศรีอยุธยา อ่างทอง ชัยนาท ร้อยเอ็ด กาฬสินธุ์ อุบลราชธานี และปราจีนบุรี พื้นที่การเกษตรคาดว่าจะเสียหาย 2,392,974 ไร่ พื้นที่ประมงคาดว่าจะเสียหาย 15,634 ไร่ ปศุสัตว์ได้รับผลกระทบ 1,569,474 ตัว เส้นทางคมนาคมสัญจรไม่ได้ 14 เส้นทางในพื้นที่ 8 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ นครสวรรค์ พิจิตร พิษณุโลก แม่ฮ่องสอน สุโขทัย เพชรบูรณ์ และนครพนม
นายวิบูลย์ กล่าวต่อไปว่า จากการติดตามคาดหมายลักษณะอากาศ พบว่า แม้ในช่วง 2-3 วันข้างหน้า ปริมาณฝนในภาคเหนือ จะลดลงแต่ปริมาณน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาที่ไหลผ่านจังหวัดนครสวรรค์ยังมีแนวโน้มอยู่ในเกณฑ์สูงสุดไม่เกิน 2,300 — 2,400 ลูกบาศก์เมตร/วินาที ส่งผลให้ระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้นไม่เกิน 30 เซนติเมตร ทำให้ต้องเฝ้าระวังในเขตพื้นที่ลุ่มต่ำริมสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณจังหวัดชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง และพระนครศรีอยุธยา นอกจากนี้ เนื่องจากยังมีฝนตกหนักในจังหวัดเชียงรายอย่างต่อเนื่อง ทำให้ระดับน้ำในลำน้ำโขงตอนบนเพิ่มขึ้น ส่งผลให้พื้นที่ที่อยู่ติดลำน้ำสาขาของลำน้ำโขงตอนบนบริเวณจังหวัดเชียงรายยังคงมีน้ำท่วมขังต่อไปอีก ส่วนลำน้ำโขงบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือด้านจังหวัดหนองคาย นครพนม มุกดาหาร รวมถึงลำน้ำสาขาของแม่น้ำโขง ได้แก่ ลำน้ำสงคราม ลำน้ำก่ำ ลำน้ำห้วยมุก และลำน้ำห้วยแข้ ยังมีระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง
“ ศอส. ได้ประสานแจ้งเตือน 8 จังหวัด ได้แก่ ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา เชียงราย หนองคาย นครพนม และมุกดาหาร ให้ติดตามสถานการณ์น้ำและเฝ้าระวังน้ำล้นตลิ่งอย่างใกล้ชิด พร้อมแจ้งเตือนประชาชนที่อาศัยอยู่ริมฝั่งแม่น้ำให้เตรียม ขนย้ายสิ่งของขึ้นที่สูงและติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด หากมีประกาศแจ้งเตือนให้ปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด นอกจากนี้ จากการประสานกับกรมทรัพยากรธรณีพบว่า ฝนที่ตกหนักอย่างต่อเนื่องในพื้นที่ภาคเหนือ ทำให้ดินที่ชุ่มน้ำอยู่แล้ว อาจพังถล่มลงมาได้ โดยเฉพาะพื้นที่เสี่ยงภัยบริเวณที่ลาดเชิงเขาใน 5 จังหวัดภาคเหนือ ได้แก่ เชียงราย (อำเภอแม่สาย อำเภอแม่จัน อำเภอเทิง) พะเยา (อำเภอปง อำเภอเชียงคำ อำเภอจุน) น่าน (อำเภอบ่อเกลือ อำเภอปัว อำเภอเฉลิมพระเกียรติ อำเภอท่าวังผา) ลำปาง (อำเภอแม่ทะ อำเภอห้างฉัตร อำเภอแจ้ห่ม) เชียงใหม่ (อำเภอฝาง อำเภอแม่อาย) ขอให้ประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ดังกล่าว เฝ้าระวังติดตามสถานการณ์ภัย โดยสังเกตสัญญาณเปลี่ยนแปลงทางธรรมชาติ หากพบสิ่งบอกเหตุ เช่น มีเสียงดังมาจากป่าต้นน้ำ สัตว์ป่าแตกตื่น ระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้นและเปลี่ยนเป็น สีเดียวกับสีดินบนภูเขา ให้รีบอพยพออกจากพื้นที่ไปตามเส้นทางที่ปลอดภัยและพ้นจากแนวการไหลของน้ำ” นายวิบูลย์กล่าว
ทั้งนี้ ศอส.ได้สั่งกำชับ 8 จังหวัดเสี่ยงน้ำล้นตลิ่งและ 5 จังหวัดเสี่ยงภัยดินถล่มจัดเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เตรียมอุปกรณ์เครื่องมือและกำลังเจ้าหน้าที่ให้พร้อมปฏิบัติหน้าที่ในทันทีที่เกิดภัย พร้อมเน้นย้ำให้แจ้งเตือนประชาชนที่อาศัยในพื้นที่เสี่ยงภัยเตรียมพร้อมรับสถานการณ์ภัยผ่านทุกช่องทาง