กรุงเทพฯ--24 ส.ค.--ศ.ศ.ป.
ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ โชว์แฟชั่นผ้าทอมือศิลปาชีพ กลาง Royal Park กรุงลอนดอน นักออกแบบชั้นนำต่างชื่นชมและยอมรับ พร้อมเปิดสายตาสื่อต่างชาติเผยแพร่งานศิลปาชีพและศิลปหัตถกรรมไทย
ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (ศ.ศ.ป.) ร่วมกับกรมส่งเสริมการส่งออก โดยสำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ กรุงลอนดอน ประเทศสหราชอาณาจักร จัดงานแสดงแฟชั่นเสื้อผ้าทอมือจากมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ ออกแบบโดยนักออกแบบไทยรุ่นใหม่ ส่งผลให้งานผ้าทอมือศิลปาชีพและงานศิลปหัตถกรรมไทยเป็นที่รู้จัก และยอมรับในความมีเอกลักษณ์และสวยงาม และเป็นจุดเริ่มต้นในการสร้างเครือข่ายทางการค้าและพันธมิตรด้านการประชาสัมพันธ์ได้เป็นอย่างดี
นางพิมพาพรรณ ชาญศิลป์ ผู้อำนวยการ ศ.ศ.ป. กล่าวว่า ด้วยบทบาทและหน้าที่หลักของ ศ.ศ.ป. ในการส่งเสริมและสนับสนุนงานด้านการตลาด การเผยแพร่องค์ความรู้ของงานศิลปาชีพและศิลปหัตถกรรมพื้นบ้านของไทยให้เป็นที่รู้จักและยอมรับในตลาดต่างประเทศ จึงจัดกิจกรรมแสดงผลงานการออกแบบเสื้อผ้าทอมือจากมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ เพื่อสนับสนุนและเผยแพร่ภาพลักษณ์ของงานศิลปาชีพ ในสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ให้เป็นที่รู้จักและได้รับการยอมรับในต่างประเทศ โดยใช้ชื่องานว่า “Re Make Re Model” ณ Serpentine Pavilion, Royal Park กรุงลอนดอน โดยในงานได้รับเกียรติจากท่านเอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงลอนดอน และผู้ใหญ่ฝ่ายไทยประจำหน่วยงานต่างๆในลอนดอน ให้การต้อนรับอย่างสมเกียรติ ในงานจัดให้มีการแสดงแบบการตัดเย็บเสื้อผ้าทั้งหมด 32 ชุด จากนักออกแบบ 3 ท่านได้แก่ คุณสรดา ไทยวรนนท์ คุณทรรศวศิน ขจีนิกร และคุณปรรณ์ สารสาส โดยใช้วัตถุดิบในการตัดเย็บชิ้นงานทั้งเสื้อผ้าและเครื่องประดับ จากผ้าฝ้าย ผ้าไหมและผ้าชาวเขา ได้รับการตอบรับจากนักออกแบบมืออาชีพและห้องเสื้อชั้นนำต่างชื่นชมในความสวยงามอันเป็นเอกลักษณ์ของผ้าทอมือไทยและฝีมือการออกแบบตัดเย็บของนักออกแบบรุ่นใหม่ชาวไทย ถึงกับมีการเทียบเชิญเข้าร่วมทีมออกแบบในห้องเสื้อชั้นนำในยุโรป และได้รับการตีพิมพ์ผลงานที่จัดแสดงในนิตยสาร VOUGE และ ELLE ของอังกฤษอีกด้วย
ในงานได้รับเกียรติจาก นาย จิมมี่ ชู นักออกแบบแฟชั่นชั้นนำของโลก กล่าวให้ความมั่นใจกับอนาคตของผ้าไทยว่า มีความสวยงามและเป็นเอกลักษณ์ในตัว สามารถนำมาประยุกต์เป็นชิ้นงานได้อีกหลายงาน มีจุดขายในเรื่องราวด้านความรักและความห่วงใยที่สมเด็จพระนางเจ้าฯ ทรงมีต่อพสกนิกรชาวไทย และผ้าไทยในปัจจุบันมีการพัฒนาเพื่อเข้าสู่ตลาดไปมาก มั่นใจว่ามีโอกาสในการต่อยอดทางธุรกิจได้แน่นอน
นางพิมพาพรรณ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในวันที่ 4 สิงหาคม 2554 ยังมีการจัดกิจกรรม “Thai Handicrafts At Your Enchantment” ณ Saatchi Gallery ภายในงานจัดแสดงนิทรรศการแนะนำผลิตภัณฑ์ศิลปาชีพและศิลปหัตถกรรมไทย ประเภท ผลิตภัณฑ์จักสาน เครื่องทอง เครื่องเคลือบดินเผา เครื่องประดับและผลิตภัณฑ์ผ้าทอมือชนิดต่างๆ และผลิตภัณฑ์ผ้าแปรรูป นำเสนอให้เห็นถึงศักยภาพงานฝีมือคนไทยในการสร้างสรรค์งานประดิษฐ์จากมือที่มีคุณภาพ มีคุณค่าและมีความเป็นเอกลักษณ์ให้เป็นที่รู้จัก เข้าใจ และยังได้ให้ข้อมูลกับผู้แทนการค้างานศิลปะ ผู้แทนจากหน่วยงาน Craft center สื่อมวลชนต่างชาติ และนักเขียนงานศิลปวัฒนธรรมต่างชาติ ได้สัมผัสและทราบข้อมูลของกลุ่มผลิตภัณฑ์ต่างๆอย่างใกล้ชิด ซึ่งหวังว่าหลังจากนี้ จะสามารถสร้างการรับรู้และได้พันธมิตรร่วมในการประชาสัมพันธ์งานศิลปาชีพและศิลปหัตถกรรมไทยในตลาดสากลได้กว้างขวางมากยิ่งขึ้น