กรุงเทพฯ--24 ส.ค.--สป.
เมื่อวันที่ 23 ส.ค.54 สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ จัดสัมมนาเสริมสร้างความร่วมมือในการเสนอความเห็น เรื่อง การแก้ไขปัญหาคอร์รัปชั่นกับการพัฒนาประเทศ เพื่อรวบรวมข้อมูลและความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่ภาคเหนือเกี่ยวกับความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาการทุจริต ณ โรงแรมดุสิต ไอส์แลนด์ รีสอร์ท จ.เชียงราย
การสัมมนาเป็นการอภิปรายและพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันระหว่างวิทยากรที่ทำหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการตรวจสอบการทุจริตร่วมกับประชาชนในพื้นที่ภาคเหนือ ดร.อุทิศ ขาวเธียร ผู้ทรงคุณวุฒิสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ กล่าวถึงการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและการพัฒนาประเทศว่า การทุจริตในประเทศไทยนั้นมีความซับซ้อนมากยิ่งขึ้น ซึ่งสาเหตุหนึ่งมาจากการที่ประชาชนขาดความตระหนักถึงผลกระทบของการทุจริตคอร์รัปชั่น ป.ป.ช.นั้นเป็นแกนกลางในการกำหนดยุทธศาสตร์ชาติด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชั่น ที่มีสาระสำคัญคือการปลูกจิตสำนึก ค่านิยม และการสร้างวินัยและการมีส่วนร่วมในทุกภาคส่วน ตลอดจนกำหนดให้การศึกษาเป็นเครื่องมือในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ดร.อุทิศ กล่าวทิ้งท้ายว่า รัฐบาลที่ผ่านมาไม่เคยดำเนินการเรื่องการปราบปรามการคอร์รัปชั่นอย่างจริงจัง และต้องจับตาดูว่ารัฐบาลชุดใหม่จะทำเรื่องนี้ต่อไปอย่างไร
ด้านนายนพดล เพชรสว่าง ผู้อำนวยการสำนักปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ 4 (ป.ป.ท.) กล่าวว่า จากสถิติการสำรวจเรื่องการทุจริตพบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ยอมรับเรื่องการทุจริตคอร์รัปชั่นว่าเป็นเรื่องธรรมดา หากทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนดีขึ้น ตนเห็นว่าครอบครัวเป็นหน่วยสำคัญที่จะปลูกฝังเยาวชนให้มีจิตสำนึกที่ดีเพื่อป้องกันการทุจริตในอนาคต และโรงเรียนต้องปลูกฝังความซื่อสัตย์ สุจริต ศีลธรรม และจริยธรรมต่อจากครอบครัว อีกทั้งหน่วยงานภาครัฐต้องทำงานอย่างบูรณาการ โดยยึดหลักธรรมาภิบาลเป็นสำคัญ ตลอดจนสังคมไทยต้องสร้างความตระหนักว่าการคอร์รัปชั่นเป็นเรื่องน่ารังเกียจและทำให้คนทุจริตไม่มีที่ยืนในสังคม
นายนพดลฯ กล่าวเสริมว่า รัฐบาลชุดใหม่ที่มีนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี ได้แถลงนโยบายของรัฐบาลต่อรัฐสภา โดยกำหนดให้นโยบายด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริตอย่างจริงจัง เป็นนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาลข้อที่ 3 ที่จะดำเนินการให้บังเกิดผลอย่างเป็นรูปธรรมภายในเวลาหนึ่งปี และฝากถึงรัฐบาลชุดนี้ว่าอยากให้มีคณะกรรมการ ป.ป.ท. เกิดขึ้นอย่างเป็นทางการ เพื่อให้สามารถเข้ามาดำเนินงานแก้ไขปัญหาการทุจริตอย่างจริงจังตามนโยบายของรัฐบาล และปัจจุบันยังมีเรื่องที่เกี่ยวกับการคอร์รัปชั่นซึ่งรอการพิจารณาค้างอยู่ที่ ป.ป.ท.เป็นจำนวนนับพันเรื่อง
นายวิรุณ คำภิโล กรรมการหอการค้าไทย ได้ยกตัวเลขสถิติที่เกี่ยวกับการทุจริตคอร์รัปชั่น ในเดือนมิถุนายน 2554 ความรุนแรงของปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่นในปัจจุบันเพิ่มขึ้นสูงถึง 75% อย่างไรก็ตามการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนว่าเห็นด้วยหรือไม่ว่าการที่รัฐบาลทุจริตคอร์รัปชั่นแต่มีผลงานและทำประโยชน์ให้สังคมเป็นเรื่องรับได้ พบว่าประชาชน 61% ไม่เห็นด้วย และมีประชาชน 70% พร้อมที่จะแจ้งและรายงานเบาะแสเมื่อมีการทุจริตคอร์รัปชั่น
นายวิรุณฯ กล่าวต่อว่า เมื่อวันที่ 1 มิถุนายนที่ผ่านมา หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ได้รวมตัวกันเป็นภาคีเครือข่ายต่อต้านคอร์รัปชั่นและจัดสัมมนาเพื่อหาข้อเสนอในการแก้ไขปัญหาการคอร์รัปชั่น ประกอบด้วยสมาชิก 24องค์กร อาทิ หอการค้าไทย, สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย, หอการค้าต่างประเทศ, ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย, สำนักงาน ก.พ.ร., สำนักงาน ป.ป.ช เป็นต้น โดยเจตนาของภาคีคือเป็นศูนย์กลางในการดำเนินงานและสร้างจิตสำนึกเพื่อเปลี่ยนค่านิยมและนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นรูปธรรม
ด้านนางเยาวลักษณ์ สุขวิวัฒนพร อดีตเลขาธิการสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กล่าวถึงแนวทางในการแก้ไขปัญหาคอร์รัปชั่นว่า ควรเริ่มจากการเปลี่ยนแปลงค่านิยมที่ชื่นชมคนรวย ต้องมองว่าคนรวยนั้นรวยโดยมรดก หรือรวยโดยฉับพลัน ซึ่งชุมชนและทุกคนในสังคมต้องช่วยกันตรวจสอบ รวมถึงองค์กรท้องถิ่นว่ามีความโปร่งใสหรือไม่ สภาที่ปรึกษาฯ ซึ่งเป็นองค์กรสะท้อนปัญหาจากประชาสู่รัฐ และเป็นเวทีสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างกว้างขวาง ได้จัดทำความเห็นและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่นมาโดยตลอด ตั้งแต่สภาที่ปรึกษาฯชุดที่ 1 เรื่อง แนวทางการแก้ไขปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่น, แนวทางและมาตรการในการป้องกันปัญหาทุจริตและประพฤติมิชอบในหน่วยราชการของไทย ตลอดจนสภาที่ปรึกษาฯ ชุดที่ 2 เรื่อง แนวทางการแก้ไขปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่น, ค่านิยมต่อต้านการทุจริต และได้มีการติดตามประสานงานกับทางกับคณะรัฐมนตรีอย่างสม่ำเสมอว่ารัฐบาลนำข้อเสนอแนะนั้นไปดำเนินงานได้มากน้อยแค่ไหน อย่างไร โดยภาคประชาชนก็ต้องมีส่วนร่วมและตรวจสอบการดำเนินงานของรัฐบาลในด้านนี้ด้วย จึงจะทำให้การแก้ไขปัญหาการคอร์รัปชั่นสัมฤทธิ์ผลอย่างแท้จริง
หลังจบการสัมมนาในเรื่องการแก้ไขปัญหาคอร์รัปชั่นกับการพัฒนาประเทศ สภาที่ปรึกษาฯ จะนำความเห็นและข้อเสนอแนะที่ได้จากการสัมมนาครั้งนี้และการสัมมนาครั้งที่ผ่านมา มาประมวลเพื่อสังเคราะห์ วิเคราะห์และจัดทำเป็นความเห็นและข้อเสนอแนะ เสนอต่อคณะรัฐมนตรีต่อไป