กรุงเทพฯ--2 ม.ค.--บีโอไอ
บีโอไอแถลงผลงานรอบปี 44 มีโครงการได้รับส่งเสริมเกือบ 800 โครงการเงินลงทุน 2.3 แสนล้านบาท ก่อให้เกิดการจ้างงานคนไทยเกือบ 1.5 แสนคน พร้อมเป็นหน่วยงาน "Intelligence agency" ปรับระบบให้บริการข้อมูลด้านการลงทุนอย่างครบวงจร
สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ได้รายงานผลการดำเนินงานในรอบปี 2544 ภายหลังการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ที่มีนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเป็นประธานการประชุมว่า บีโอไออนุมัติให้การส่งเสริมการลงทุนแก่กิจการต่างๆจำนวน 797 โครงการ คิดเป็นเงินลงทุนทั้งสิ้น 232,500 ล้านบาท โครงการเหล่านี้คาดว่าจะก่อให้เกิดการจ้างงานคนไทย 146,213 คน การให้บริการและอำนวยความสะดวก
ทางด้านการให้บริการต่างๆกับนักลงทุน สำนักงาน ฯ ได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง อาทิ การให้บริการปรึกษาและบริการข้อมูลด้านการลงทุน โดยในปีที่ผ่านมามีนักลงทุนทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ เข้ามาที่ติดต่อที่สำนักงาน ฯ เฉลี่ยแล้วประมาณ 100 ราย/เดือน รวมถึงการบริการให้คำปรึกษาผ่านทางระบบจดหมายอิเล็กทรอนิกส์อีกกว่า 120 ราย/เดือน นอกจากนี้ยังให้บริการปรึกษาด้านกฎหมายแก่นักลงทุน 50 เรื่อง/ปี ในส่วนของศูนย์วีซ่าและใบอนุญาตทำงาน (One-Stop Service) ในรอบปี 2544 ได้ให้บริการออกวีซ่าจำนวน 74,336 ราย และออกใบอนุญาตทำงาน 22,791 ราย เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกให้แก่นักลงทุนและผู้เชี่ยวชาญต่างประเทศ
ส่วนการให้ความช่วยเหลือแก้ไขปัญหาของนักลงทุน ในช่วงต้นปี 2544 สำนักงาน ฯ มีการจัดตั้งหน่วยทรัพยากรมนุษย์เพื่อการส่งเสริมการลงทุน (Industrial Human Resources Development Unit) เพื่อให้การส่งเสริมและประสานงานการพัฒนาฝีมือแรงงานไทย ให้ตรงกับความต้องการของผู้ประกอบการอย่างแท้จริง อันเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรมไทย
การดำเนินงานของหน่วยพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ที่ผ่านมา ได้ประสานความร่วมมือกับกรมอาชีวศึกษา จัดกิจกรรมพบปะระหว่างกรมอาชีวศึกษากับผู้ประกอบการจำนวน 489 บริษัท เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและความร่วมมือระหว่างกัน ในการพัฒนาฝีมือแรงงานให้ตรงกับความต้องการของตลาด พร้อมทั้งยังได้จัดกิจกรรมเยี่ยมชมโรงงานและจัดบรรยายในสถานศึกษา เพื่อเตรียมความพร้อมให้แก่นักศึกษาเมื่อต้องออกไปทำงานจริง
ส่วนกรณีนักลงทุนได้ขอความช่วยเหลือเข้ามา อาทิ การให้ความช่วยเหลืออุตสาหกรรมเหล็กที่ประสบปัญหาการทุ่มตลาด การช่วยเหลือผู้ผลิตคอมเพรสเซอร์สำหรับเครื่องปรับอากาศ โดยขอให้กรมสรรพสามิตยกเลิกการเก็บภาษีสรรพสามิตสำหรับคอมเพรสเซอร์ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ผู้ผลิต การให้ความช่วยเหลือนักลงทุนกรณีเครื่องจักรผลิตซีดีของบริษัท MPO ASIA ถูกกรมศุลกากรอายัด เนื่องจากยังไม่ได้รับอนุญาตจากกรมการค้าต่างประเทศก่อนการนำเข้า การให้ความช่วยเหลือบริษัท โฮยากลาส ดิสค์ (ประเทศไทย) จำกัด ในเรื่องปัญหาเก็บภาษีศุลกากรในกรณีที่จำหน่ายเครื่องจักรแล้วทำสัญญาแบบ Leasing การให้ความช่วยเหลือบริษัทคิมเบอร์ลี่ย์-คล๊าค แมนูแฟคเจอริ่ง (ประเทศไทย) จำกัด กรณีมีข้อพิพาททางธุรกิจในคดีแพ่งและคดีอาญา กับบริษัทตัวแทนจำหน่ายสินค้า เป็นต้น
การชักจูงการลงทุนในต่างประเทศ
การชักจูงการลงทุนจากต่างประเทศในรอบปีที่ผ่านมา ถือเป็นผลงานสำคัญอีกด้านหนึ่งของสำนักงาน ฯ โดยเน้นการจัดการชักจูงการลงทุนในเชิงรุกแบ่งออกเป็นรูปแบบ Mobile Unit ณ ประเทศไต้หวัน รวมทั้งการจัดสัมมนาชักจูงการลงทุนในประเทศต่างๆได้แก่ ไต้หวัน ญี่ปุ่น จีน ฮ่องกง อิตาลี เยอรมนี และสวิสเซอร์แลนด์ ซึ่งได้รับความสนใจจากนักธุรกิจ-นักลงทุนในแต่ละประเทศเข้าร่วมการสัมมนาอย่างล้นหลามสำหรับการให้การส่งเสริมอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) สำนักงาน ฯ ได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ โครงการผู้ซื้อพบผู้ขาย โดยหน่วยเชื่อมโยงและพัฒนาอุตสาหกรรม (BUILD) ซึ่งทำหน้าที่เป็นสื่อกลางการเชื่อมโยงอุตสาหกรรมและถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตระหว่างบริษัทผู้ประกอบผลิตภัณฑ์สำเร็จรูป (ผู้ซื้อ) กับบริษัทผู้ผลิตชิ้นส่วนขนาดกลางและขนาดเล็ก (ผู้ขาย) โดยเฉพาะในช่วงเดือนเมษายน-กันยายน 2544 โครงการดังกล่าวได้เชื่อมให้เกิดการซื้อขายชิ้นส่วนไปแล้ว 2,208 ล้านบาท
นอกจากนี้ ยังมีการจัดทำฐานข้อมูลอุตสาหกรรมสนับสนุนของอาเซียน ภายใต้ชื่อ www.asidnet.org เพื่อเป็นอีกช่องทางหนึ่งในการเชื่อมโยง SMEs กับผู้ประกอบผลิตภัณฑ์และเป็นแหล่งข่าวสารให้แก่ผู้ประกอบการทั้ง 2 ฝ่าย ปัจจุบันฐานข้อมูลดังกล่าวมีสมาชิกทั้งสิ้น 15,847 บริษัท
โดยล่าสุดนักงาน ฯ ได้จัดทำโครงการกระจายการผลิตสู่ชุมชนและท้องถิ่น เพื่อเชื่อมโยงการลงทุนไปยังกลุ่ม SMEs ภาคเกษตร เกษตรแปรรูปและกลุ่มอุตสาหกรรมเบา ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลในโครงการ "หนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์" โดยที่ผ่านมาสำนักงาน ฯ ได้จัดสัมมนาเชิงปฎิบั ติการในแต่ละภูมิภาค เพื่อระดมความคิดเห็นจากประชาชนในท้องถิ่น และชี้แจงโครงการดังกล่าวให้กลุ่มชุมชนได้รับทราบการส่งเสริมภาพลักษณ์ของประเทศ
ด้านการประชาสัมพันธ์และส่งเสริมภาพลักษณ์ของประเทศนั้น สำนักงาน ฯ ได้ร่วมมือกับกรมส่งเสริมการส่งออกและการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย จัดการประชุม International Conference ขึ้นเมื่อวันที่ 28 - 29 พฤศจิกายน 2544 ในหัวข้อ "Opportunity: Thailand โดยได้มีการเชิญผู้มีชื่อเสียงทางด้านเศรษฐศาสตร์และธุรกิจจากต่างประเทศทั้งจากภาครัฐและภาคเอกชนมาเป็นองค์ปาฐกและวิทยากร ซึ่งมีวัตถุประสงค์ เพื่อเสริมสร้างความ เชื่อมั่นด้านเศรษฐกิจของ ไทยโดยเฉพาะ ในช่วง วิกฤตเศรษฐกิจ รวมทั้งแสดงให้นักธุรกิจชาวไทยและต่างประเทศได้เห็นถึงศักยภาพ บรรยากาศและโอกาส ด้านการค้า การลงทุน รวมทั้งการท่องเที่ยวของไทยอีกด้วยการส่งเสริมการลงทุนไทยในต่างประเทศ
นอกจากการส่งเสริมให้เกิดการลงทุนภายในประเทศแล้ว สำนักงานฯ ยังได้สนับสนุนให้นักลงทุนไทยเข้าไปลงทุนในต่างประเทศ ในรูปแบบของการอำนวยความสะดวกและการจัดกิจกรรมต่างๆ ได้แก่ การจัดสัมมนาส่งเสริมการลงทุนไทยในกลุ่มประเทศเพื่อนบ้าน ร่วมกับสโมสรนักลงทุนนำคณะนักลงทุนไทยไปเยือนกลุ่มประเทศอินโดจีน เผยแพร่ข้อมูลและอำนวยความสะดวกแก่นักลงทุนไทยที่มีความสนใจลงทุนในต่างประเทศ จัดทำความตกลงร่วมมือด้านการลงทุนกับประเทศเพื่อนบ้าน เช่น ลาว และคาดว่าจะสามารลงนามความตกลงกับเวียดนามและสหภาพพม่าได้ในต้นปี 2545 นอกจากนี้ยังได้มีการจัดอบรมวิธีอนุมัติโครงการให้แก่เจ้าหน้าที่หน่วยงานส่งเสริมการลงทุนของประเทศเพื่อนบ้าน
บทบาทใหม่บีโอไอ สอดคล้องแผนยุทธศาสตร์การเศรษฐกิจและการลงทุน
การปรับบทบาทของสำนักงาน ฯ ให้เป็นหน่วยงาน Intelligence Agency นั้น ได้มีการดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องเพื่อให้สอดคล้อง กับยุทธศาสตร์การ ปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ และการลงทุนของประเทศโดยมีการประชุมเมื่อวันที่ 27 - 28 เมษายน 2544 ณ ทำเนียบรัฐบาล นอกจากนี้ในรอบปีที่ผ่านมา สำนักงาน ฯ ได้ดำเนินการเพื่อนำไปสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม ได้แก่ การเปิดตัว BOI Taward e- Investment มิติใหม่ของการส่งเสริมการลงทุนออนไลน์ เพื่อให้บริการข้อมูลข่าวสารในเชิงลึกแก่นักลงทุนทั้งไทยและต่างประเทศ โดยได้มีการเปิดตัวเว็บไซต์ใหม่ของบีโอไอ 3 เว็บไซต์ ไปเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2544
www.investmentthailand.com เป็นเว็บไซต์ที่รวบรวมข้อมูลเศรษฐกิจและการลงทุนระดับภูมิภาคของไทย www.b-intelligence.net เป็นเว็บไซต์ที่เผยแพร่ความคิดเห็นของภาคเอกชนที่มีต่อสถานการณ์หรือประเด็น สำคัญทางเศรษฐกิจและการลงทุน ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อภาครัฐในการวิเคราะห์แนวโน้มและปรับนโยบายให้เหมาะสมกับสถานการณ์ในปัจจุบัน
www.expertcenter.org เป็นเว็บไซต์ที่รวบรวมข้อมูลของผู้เชี่ยวชาญด้านอุตสาหกรรมและการลงทุนทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ เพื่อให้เป็นแหล่งข้อมูลที่ทันสมัยให้แก่สถานประกอบการและสถาบันฝึกอาชีพในประเทศ ในการแสวงหาผู้เชี่ยวชาญในสาขาที่ต้องการมาเป็นที่ปรึกษาหรือช่วยปฏิบัติงานในเมืองไทย ซึ่งในขณะนี้สำนักงานฯ ได้รับความร่วมมือจากกลุ่มผู้เชี่ยวชาญในประเทศต่าง ๆ เช่น ญี่ปุ่นและเยอรมนี เป็นต้น--จบ--
-อน-