กรุงเทพฯ--25 ส.ค.--พพ.
นายไกรฤทธิ์ นิลคูหา อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) พร้อมด้วยนายปราณีต ร้อยบาง อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล (ทบ.) และนายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ร่วมกันลงนามบันทึกความร่วมมือศึกษาพัฒนาต้นแบบการพัฒนาแหล่งพลังงานความร้อนใต้พิภพของประเทศไทย เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงด้านพลังงาน ควบคู่ไปกับการส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาดลดปัญหาภาวะโลกร้อน
นายไกรฤทธิ์ อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน กล่าวว่า ในความร่วมมือครั้งนี้ จะได้ร่วมกันประเมินศักยภาพของแหล่งพลังงานที่มีในประเทศ และศึกษาเทคโนโลยีต่างๆ เพื่อพัฒนาแหล่งพลังงานความร้อนใต้พิภพที่เหมาะสมที่สุดภายในระยะเวลา 2 ปี และเพื่อพัฒนาให้ได้โรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนใต้พิภพของไทย
โดยในเบื้องต้น พพ. จะสนับสนุนด้านนโยบาย และมาตรการส่งเสริมต่างๆ จากภาครัฐ กรมทรัพยากร น้ำบาดาล จะร่วมสนับสนุนในด้านการสำรวจ ประเมินศักยภาพและพัฒนาแหล่งทรัพยากรน้ำบาดาล และ ปตท. ผู้ร่วมจัดตั้ง จะดำเนินโครงการในขั้นการพัฒนาแหล่งและเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง ซี่งหากศึกษาและพบว่าเหมาะสมจะดำเนินการพัฒนาต่อไปให้เป็นโรงไฟฟ้าต้นแบบ
นายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท.จำกัด(มหาชน) กล่าวว่า ปตท.ผู้มีหน้าที่ในการจัดหาพลังงานให้ประเทศอย่างยั่งยืน ได้มีนโยบายสนับสนุนให้เกิดการลงทุนและการพัฒนาพลังงานทางเลือกสะอาด เช่นพลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม ในความร่วมมือครั้งนี้ ปตท.ปรารถนาจะให้ประเทศไทยมีพลังงานที่สะอาดอีกชนิดใช้ และเป็นผู้นำ ผลักดันการศึกษาพัฒนาแหล่งพลังงานใต้พิภพ ในประเทศ ให้มีการนำมาใช้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
แหล่งพลังงานความร้อนใต้พิภพ ถือเป็นพลังงานทดแทนที่ได้จากแหล่งหิน (source rock) หรือแหล่งน้ำใต้ดินที่มีอุณหภูมิสูงมากกว่า 150 องศาเซลเซียส ที่เคยค้นพบได้ในประเทศไทยโดยเฉพาะพื้นที่ภาคเหนือของประเทศ เป็นแหล่งน้ำพุร้อนที่มี อุณหภูมิของน้ำเมื่อขึ้นมาถึงผิวดินสูงประมาณ 80 องศาเซลเซียส ซึ่งพลังงานที่มีน้ำเป็นตัวพาขึ้นมา สามารถนำมาเปลี่ยนให้เป็นกระแสไฟฟ้าได้ ด้วยเทคโนโลยีในปัจจุบัน คาดว่าจะสามารถทำให้แหล่งพลังงานใต้พิภพในประเทศไทยให้พลังงานไฟฟ้าได้มากกว่าที่เคยทำการศึกษามาในอดีต
นายปราณีต ร้อยบาง อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล กล่าวว่า น้ำบาดาลเป็นทรัพยากรที่มีคุณค่าทางเศรษฐกิจและมีความสำคัญต่อการดำรงชีวิตของประชาชนในประเทศไทยอย่างมาก เพราะเป็นแหล่งน้ำสะอาดที่ประชาชนสามารถนำมาใช้ประโยชน์ในการอุปโภคบริโภค และยังมีเพียงพอที่จะนำไปใช้เพื่อ กิจกรรมอื่น ๆ เช่น อุตสาหกรรม เกษตรกรรม หรือการปศุสัตว์ สำหรับน้ำบาดาลที่กักเก็บอยู่ใต้ดินในระดับลึกมาก ที่มีศักยภาพเป็นแหล่งพลังงานความร้อนใต้พิภพ สามารถพัฒนาขึ้นมาใช้ประโยชน์ทดแทนแหล่งพลังงานจากฟอสซิลในอนาคตได้เป็นอย่างดี
ทั้งนี้ กรมทรัพยากรน้ำบาดาลพร้อมให้การสนับสนุนบุคลากร รวมถึงแหล่งทรัพยากรน้ำบาดาลภายใต้ การดำเนินงานโครงการศึกษาพัฒนาต้นแบบการพัฒนาแหล่งพลังงานความร้อนใต้พิภพของประเทศไทย และหากมีการพัฒนาใช้ประโยชน์จากแหล่งพลังงานความร้อนใต้พิภพได้อย่างเป็นรูปธรรม ย่อมจะสร้างความมั่นคงด้านพลังงานให้กับประเทศไทย ควบคู่กับการส่งเสริมการใช้พลังงานที่สะอาดไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม