กรุงเทพฯ--11 ม.ค.--ธ.กรุงศรีอยุธยา
ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) ทะลุเป้าสินเชื่อเคหะ ปี 44 ยอดถึง 8,000 ล้านบาท ตั้งเป้าปล่อยเพิ่มปี 45 ถึง 10,000 ล้านบาท พร้อมปรับปรุงกระบวนการให้สินเชื่อรายย่อยแบบครบวงจร (Full Credit Cycle Management) เพิ่มช่องทางการเข้าถึงลูกค้า และนำระบบ Loan Origination มาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการอนุมัติสินเชื่อ
นางชาลอต โทณวณิก ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่าจากการสรุปผลการอนุมัติสินเชื่อเคหะและสินเชื่อรายย่อยในปี 2544 ที่ผ่านมา ธนาคารประสบความสำเร็จเป็นที่พึงพอใจอย่างยิ่ง โดยสินเชื่อเคหะของธนาคารที่มีอยู่ถึง 3 ผลิตภัณฑ์ คือ สินเชื่อเคหะสำหรับซื้อบ้านใหม่ หรือ refinance สินเชื่อเคหะเพิ่มทรัพย์สำหรับวงเงินเบิกเกินบัญชี และสินเชื่อเคหะทวีสุขซึ่งเป็นสินเชื่อเอนกประสงค์ได้มีการอนุมัติสินเชื่อแล้วถึง 8,000 ล้านบาท ซึ่งสูงกว่าเป้าที่ตั้งไว้คือ 7,200 ล้านบาท
ในส่วนของสินเชื่อรายย่อยได้มีคำขอสินเชื่อเข้ามาเป็นวงเงินรวมทั้งสิ้น 13,000 ล้านบาท โดยยังมีสินเชื่ออยู่ระหว่างดำเนินการอีก 2,000 ล้านบาท จากยอดสินเชื่อรายย่อยที่อนุมัติทั้งสิ้น 8,400 ล้านบาท ซึ่งยอดสินเชื่อรายย่อยมียอดเพิ่มสุทธิ (net increase) เพิ่มขึ้นถึง 3,200 ล้าน ซึ่งนับเป็นปีแรกที่สินเชื่อรายย่อยมียอดสุทธิเพิ่มขึ้นนับจากเกิดวิกฤตเศรษฐกิจเป็นต้นมา
สำหรับเป้าหมายในปี 2545 นี้ ธนาคารได้ตั้งเป้าที่จะปล่อยสินชื่อรายย่อยรวม 10,000 ล้านบาท โดยแบ่งเป็น สินเชื่อเคหะ 8,000 ล้านบาท และจะเพิ่มการปล่อยสินเชื่อบุคคลอื่นๆ ในวงเงิน 2,000 ล้านบาท เช่นสินเชื่อโครงการสวัสดิการเกื้อกูลซึ่งเป็นสินเชื่อที่ให้กับพนักงานบริษัทต่างๆ ที่จ่ายเงินเดือนผ่านธนาคาร ที่ปัจจุบันได้ให้บริการแล้วประมาณ 200 บริษัท นอกจากนี้ยังมีสินเชื่อรถจักรยานยนต์ในปี 2544 มีการปล่อยสินเชื่อดังกล่าวไปแล้ว 400 ล้านบาท และยังมีรถจักรยานยนต์ รอส่งมอบอีกในวงเงิน 200 ล้านบาท
นางชาลอต ได้กล่าวเสริมถึงการพัฒนาระบบสินเชื่อของธนาคารว่า นอกจากเป้าหมายในการปล่อยสินเชื่อแล้ว ธนาคาร ได้มีการปรับปรุงกระบวนการให้สินเชื่อรายย่อยแบบครบวงจร (Full Credit Cycle Management) ด้วยการเพิ่มช่องทางในการเข้าถึงลูกค้ามากขึ้น จากเดิมที่ใช้สาขาเป็นจุดขายอย่างเดียว สำหรับในด้านการอนุมัติสินเชื่อจะนำระบบ Loan Origination มาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการอนุมัติสินเชื่อ และปรับระบบให้เป็นสากลมากขึ้น นอกจากนั้นได้นำระบบ Credit Scoring มาเป็นส่วนประกอบ ในการอนุมัติสินเชื่อเพื่อเป็นการบริหารความเสี่ยงด้านสินเชื่อ รวมถึงการใช้ระบบติดตามหนี้อัตโนมัติ (automatic collection) ในด้านระบบฐานข้อมูลของลูกค้าได้มีการนำระบบ Data warehouse มาใช้ในปีนี้ เพื่อเป็นฐานข้อมูลให้กับระบบ CRM (Customer Relationship Management) ในการเป็นเครื่องมือเพื่อเพิ่มจำนวนผลิตภัณฑ์ต่อลูกค้าได้ จึงนับได้ว่าปี 2545 จะเป็นปีที่ธนาคารมีการปรับกระบวนการในการรองรับการปล่อยสินเชื่อรายย่อยให้ได้มากขึ้น--จบ--
-สส-