กรุงเทพฯ--25 ส.ค.--ปปง.
ครบรอบสถาปนา ปปง. 12 ปี อายัดทรัพย์สินจากการฟอกเงินแล้ว 4,000 ล้านบาท อีก 147 คดี มูลค่ากว่า 600 ล้านบาท รอคณะกรรมการธุรกรรมและบอร์ด ปปง.สั่งการ ร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจกับ 20 สถาบันการเงินและผู้ประกอบอาชีพที่มีหน้าที่ต้องการรายงานธุรกรรม
สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) จัดงานสถาปนาครบ 12 ปี ปปง. โดยมีการลงนามบันทึกความเข้าใจกับ 20 ผู้แทนของสถาบันการเงินและผู้ประกอบอาชีพที่มีหน้าที่ต้องรายงานธุรกรรมทาง การเงินตาม พ.ร.บ.ฟอกเงิน 2542 ซึ่งกฎกระทรวงฉบับแก้ไขใหม่จะเริ่มใช้ในวันที่ 25 สิงหาคมนี้ โดยมี กลุ่มอาชีพ 9 กลุ่มที่จะต้องรายงานธุรกรรมเพิ่มขึ้น
พ.ต.อ.สีหนาท ประยูรรัตน์ รักษาราชการแทนเลขาธิการ ปปง. กล่าวว่า ผลงานในรอบ 12 ปีที่ผ่านมา สำนักงาน ปปง.ดำเนินงานควบคู่กันไปทั้งด้านป้องกันและปราบปรามอย่างต่อเนื่อง ด้านการป้องกันมีการดำเนินมาตรการใหม่ๆ ที่เป็นไปตามหลักการสากล ส่วนการปราบปราม สำนักงาน ปปง.ได้มีคำสั่งยึดและอายัดทรัพย์สินตามความผิดมูลฐานที่กำหนดไว้ รวมมูลค่ากว่า 4,000 ล้านบาท ขณะนี้มีคดีที่รอการพิจารณาของคณะกรรมการ หรือบอร์ด ปปง.อีก 147 คดี เป็นมูลค่าประมาณ 600 ล้านบาท
ทั้งนี้ พล.ต.อ.วาสนา เพิ่มลาภ และ พล.ต.ต.พีระพันธุ์ เปรมภูติ อดีตเลขาธิการ ปปง.ได้เดินทางมาร่วมงานด้วย โดยขอให้ข้าราชการ ปปง.ระลึกถึงรัฐบาลนายชวน หลีกภัย ที่เห็นความสำคัญของการปราบปรามการฟอกเงิน และได้ผลักดันให้ตั้งสำนักงาน ปปง.ขึ้น และให้ ปปง.ยึดมั่นความถูกต้องในการทำงาน
สำหรับ 9 กลุ่มอาชีพที่ต้องรายงานธุรกรรมเพิ่ม ได้แก่ 1.ผู้ประกอบอาชีพเกี่ยวกับการดำเนินการ การให้คำแนะนำ หรือการเป็นที่ปรึกษาในการทำธุรกรรมที่เกี่ยวกับการลงทุน หรือการเคลื่อนย้ายเงินทุนตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ที่ ไม่ใช่สถาบันการเงิน 2.ผู้ประกอบอาชีพค้าอัญมณี เพชรพลอย ทองคำ หรือเครื่องประดับที่ประดับด้วยอัญมณี เพชรพลอย หรือทองคำ 3.ผู้ประกอบอาชีพค้าหรือให้เช่าซื้อรถยนต์ 4.ผู้ประกอบอาชีพเกี่ยวกับนายหน้าหรือตัวแทนซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ 5.ผู้ประกอบอาชีพค้าของเก่าตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมการขายทอดตลาดและค้า ของเก่า 6.ผู้ประกอบอาชีพเกี่ยวกับสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับสำหรับผู้ประกอบ ธุรกิจที่มิใช่สถาบันการเงิน 7.ผู้ประกอบอาชีพเกี่ยวกับบัตรเงินอิเล็กทรอนิกส์ที่มิใช่สถาบันการเงิน 8.ผู้ประกอบอาชีพเกี่ยวกับบัตรเครดิตที่มิใช่สถาบันการเงิน 9.ผู้ประกอบอาชีพเกี่ยวกับการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์.