โลกร้อนก่อโรคร้าย!! สธ.ตั้งคณะกรรมการ HCCT หาแนวทางลดผลกระทบด้านสุขภาพจากปัญหาโลกร้อน

ข่าวทั่วไป Friday August 26, 2011 13:25 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--26 ส.ค.--กรมควบคุมโรค “การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ”หรือ“ภาวะโลกร้อน!!”ไม่ได้นำพามาแต่ความร้อนเท่านั้น แต่ยังนำภัยอันตรายมาอย่างมากมาย โดยเฉพาะอันตรายจากโรคร้ายที่มีต่อสุขภาพอนามัยของมนุษย์!!! เพราะสภาพอากาศที่ร้อน จะทำให้เชื้อโรคต่าง ๆ สามารถฟักตัวและเติบโตได้ดี นอกจากจะมีโรคแปลกๆใหม่ๆเกิดขึ้นแล้ว เชื้อโรคอาจมีการกลายพันธุ์ โรคที่เคยหายไปจากเมืองไทยจะเกิดขึ้นใหม่อีกนับสิบชนิด การติดเชื้อโรคและการระบาดของโรคต่างๆ จะขยายวงกว้างและรุนแรงมากขึ้น นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย รองอธิบดีกรมควบคุมโรค เปิดเผยว่า จากข้อมูลการเฝ้าระวังโรคของสำนักโรคติดต่ออุบัติใหม่กรมควบคุมโรค พบว่า ในช่วง10 ปี ที่ผ่านมา ประเทศไทยและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีโรคที่จัดว่าเป็น โรคอุบัติใหม่และโรคอุบัติซ้ำที่รุนแรงเกิดขึ้นหลายชนิดที่มีสาเหตุมาจากภาวะโลกร้อน และเป็นโรคที่ประเทศไทยต้องเฝ้าระวังถึง 13 โรค ได้แก่ 1. โรคไข้กาฬหลังแอ่น 2. โรคไข้เลือดออกอีโบลา 3. โรคติดเชื้อไวรัสนิปาห์และเฮนดรา 4. โรคไข้หวัดนก 5. ไข้เหลือง 6.โรคชิคุนกุนยา7. โรคมือเท้าปาก จากเชื้อเอนเทอโรไวรัส71 8.โรคติดเชื้อสเตร็ปโตค็อกคัสซูอิส 9.โรคทางเดินหายใจเฉียบพลันรุนแรง (ซาร์ส) 10.โรคทูลารีเมีย 11.โรคเมลิออยโดซิส 12. โรคลิชมาเนีย 13. โรควีซีเจดี หรือโรคสมองเสื่อมชนิดใหม่ ซึ่งบางโรคยังไม่เคยพบในประเทศไทยแต่จะพบการระบาดของโรคในประเทศเพื่อนบ้าน ขณะที่บางโรคก็เกิดขึ้นแล้ว เช่น โรคติดเชื้อสเตร็ปโตค็อกคัส ซูอิส โดยในปี 2550 พบคนไทยภาคเหนือติดเชื้อนี้ 150 ราย และเสียชีวิต 23 ราย ส่วนโรคชิคุนกุนยาและโรคไข้เหลือง แม้จะไม่ร้ายแรงแต่เริ่มพบผู้ป่วยมากขึ้นทุกปี ตั้งแต่ 1 มค.-28 กค.52 พบผู้ป่วยโรคชิคุนกุนยาถึง 34,850 รายใน 50 จังหวัด ส่วนโรคไข้หวัดนกถึงแม้ว่าประเทศไทยจะไม่มีรายงานการพบเชื้อไข้หวัดนกในสัตว์ปีกมาตั้งแต่ปี 2552 แต่ยังมีรายงานยืนยันผู้ป่วยไข้หวัดนกรายใหม่ในประเทศเพื่อนบ้านอยู่เสมอๆทำให้มีโอกาสสูงที่โรคไข้หวัดนกจะแพร่ระบาดมาสู่ประเทศไทยได้ ในขณะที่บางโรคมีแนวโน้มว่าจะมีจำนวนผู้ป่วยมากขึ้น เช่น โรคมาลาเรีย ข้อมูล ตั้งแต่ 4 มค.- 23 กค.54 พบมีผู้ป่วยทั้งประเทศ 17,357 ราย ส่วนโรคไข้เลือดออกข้อมูลเมื่อ สค.54 พบมีผู้ป่วย 34,744 ราย และเสียชีวิต 25 ราย รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวต่อว่านี่เป็นเพียงบางโรคที่เกิดขึ้นและมีการค้นพบจากการเกิดภาวะโลกร้อน แต่ประเทศไทยยังมีภาวะเสี่ยงที่จะเกิดโรคชนิดใหม่ๆขึ้นมาได้อีก และนับวันก็จะยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ และเป็นปัญหาสำคัญที่ทุกคนต้องประสบ กระทรวงสาธารณสุขซึ่งเป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินการศึกษา ค้นคว้า วิจัย รวบรวม ผลกระทบทางสุขภาพจากภาวะโลกร้อน เพื่อเสนอแนะวิธีรับมือและบรรเทาผลกระทบที่มีต่อประชาชนชาวไทย ได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการศึกษาผลกระทบและการปรับตัวด้านสุขภาพอันเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งประเทศไทย(Health and Climate Change Committee of Thailand : HCCT) ขึ้น โดย มี ศ.นพ.เกษม วัฒนชัย และศ.นพ.ประเสริฐ ทองเจริญ เป็นที่ปรึกษา ปลัดกระทรวงสาธารณสุขเป็นประธาน คณบดีคณะเวชศาสตร์เขตร้อนมหาวิทยาลัยมหิดลเป็นรองประธาน มีอธิบดีและรองอธิบดีกรมควบคุมโรค อธิบดีกรมอนามัย อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข เลขาธิการสำนักนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นพ.วิชัย สติมัย, ศ.นพ.สมหวัง ด่านชัยวิจิตร, ศ.นพ.อมร ลีลารัศมี, รศ.นพ.ประตาป สิงหศิวานนท์, ผศ.พญ.เด่นหล้า ปาลเดชพงศ์ , พญ.สารนารถ ล้อพูลศรี , ผศ.กิตติศักดิ์ สวรรยาวิสุทธิ์ , นพ.ศุภมิตร ชุณห์สุทธิวัฒน์ ,นพ.กิตติศักดิ์ สวรรยาวิสุทธิ์ , ดร.ทวี พันธุ์เพ็ง ฯลฯ เป็นคณะกรรมการ ด้านศาสตราจารย์นายแพทย์ อมร ลีลารัศมี อดีตนายกสมาคมโรคติดเชื้อแห่งประเทศไทยซึ่งเป็นหนึ่งในคณะกรรมการ HCCT กล่าวว่า คณะกรรมการฯได้ประชุมสรุปวางแนวทางการดำเนินงานเพื่อลดผลกระทบด้านสุขภาพจากภาวะโลกร้อนไว้ถึง 6 แนวทางด้วยกันคือ แนวทางที่หนึ่ง คือการเสริมสร้างความตระหนักของผลกระทบต่อสุขภาพจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแก่ประชาชนทั่วไป โดยการพัฒนาสื่อความรู้และสื่อประชาสัมพันธ์ที่เหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมายแต่ละกลุ่ม นำไปประชาสัมพันธ์ผ่านช่องทางต่างๆ และการจัดกิจกรรมรณรงค์ในรูปแบบต่างๆเช่น การจัด Workshop, Meeting conference เพื่อเผยแพร่ความรู้วิชาการที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อสุขภาพ เป็นต้น แนวทางที่สองคือการจัดทำองค์ความรู้ในด้านปัญหาสุขภาพอันเนื่องมาจากภาวะโลกร้อน โดยการรวบรวมข้อมูลทั่วไปและข้อมูลโรคที่เกี่ยวข้องเพื่อนำมาสรุปให้เห็นถึงความเชื่อมโยงของปัญหาสุขภาพอันเนื่องมาจากภาวะโลกร้อน แนวทางที่สามคือการสนับสนุนงานวิจัยด้านสุขภาพที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แนวทางที่สี่คือการเสนอแนะกลยุทธ์ในการบรรเทาปัญหาทางสุขภาพอนามัยอันเนื่องมาจากภาวะโลกร้อน ด้วยการส่งเสริมให้มีการจัดประชุมเพื่อนำไปสู่การเสนอแนะนโยบาย กลยุทธ์ มาตรการ และการวางแผนปฏิบัติด้านสาธารณสุข รวมทั้งการผลักดันร่าง พรบ.ในการป้องกันและลดผลกระทบจากปัญหาโลกร้อน จากองค์ความรู้และงานวิจัยที่ได้รวบรวมไว้ แนวทางที่ห้าคือการแสวงหาความร่วมมือกับองค์กรที่เกี่ยวข้อง และแหล่งทุนวิจัยจากทั้งภายนอกและภายในประเทศ แนวทางที่หกคือการเผยแพร่ผลงานวิจัยด้วยการตีพิมพ์ผลงานวิจัยในวารสารทั้งภายในและต่างประเทศ “จะเห็นได้ว่าผลกระทบด้านสุขภาพจากภาวะโลกร้อนที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องที่ทุก ๆ คนไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ และกลับจะยิ่งขยายวงกว้างและทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ การแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นนี้ ลำพังคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง หรือ หน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง นั้นไม่อาจทำได้ ถึงเวลาแล้วที่ทุกๆฝ่ายจะต้องร่วมมือร่วมใจกันป้องกันและลดผลกระทบด้านสุขภาพจากภาวะโลกร้อน. ศ.นพ.อมร ลีลารัศมี กล่าวปิดท้าย กลุ่มเผยแพร่ สำนักเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ กรมควบคุมโรค โทรศัพท์ :0-2590-3862 โทรสาร :0-2590-3386

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ