กรุงเทพฯ--29 ส.ค.--มาสเตอร์ มายด์ คอมมิวนิเคชั่นส์
คณะแพทยศาสตร์ ม.อ. เตือนคุณแม่อายุมากตั้งครรภ์ เสี่ยงต่อการที่ลูกจะเกิดภาวะดาวน์ซินโดรม ไอคิวต่ำ ชี้สาเหตุมาจากเซลล์ไข่แบ่งตัวไม่ดี แนะตรวจอัลตร้าซาวน์เมื่ออายุครรภ์ครบ 3 เดือน เพื่อวินิจฉัยเบื้องต้นสัญญาณบ่งชี้เบื้องต้น เผยจัดกิจกรรม ‘ปั้นดาวน์ให้เป็นดาว’ หนุนพัฒนาคุณภาพชีวิต เสริมทักษะ เพิ่มไอคิวเด็กดาวน์ซินโดรม พร้อมกระตุ้นพ่อแม่ให้มีส่วนร่วมในการพัฒนาการเรียนรู้ของเด็กกลุ่มดาวน์ซินโดรมตั้งแต่แรกเกิด เชื่อมีผลต่อการเตรียมพร้อมสู่การใช้ชีวิตในวัยทำงาน
ผศ.นพ.สมชาย สุนทรโลหะกุล ผู้ช่วยคณบดี ฝ่ายการเรียนการสอน ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) เปิดเผยว่า จากสถิติพบว่า เด็กทารกที่อยู่ในภาวะดาวน์ซินโดรมในประเทศไทยมีอัตราอยู่ที่ 1 ต่อ 800 ของทารกแรกเกิด ซึ่งเป็นอัตราเท่าๆ กับในต่างประเทศ ซึ่งแม้ว่า จะยังไม่สามารถหาหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่ชัดเจน ที่จะบ่งชี้ถึงสาเหตุของการเกิดโรคดาวน์ซินโดรม แต่มีการสันนิษฐานได้ว่า สาเหตุหลักน่าจะมาจากคุณแม่ตั้งครรภ์เมื่ออายุมาก ทำให้เซลล์ไข่แบ่งตัวไม่ดี ซึ่งในปัจจุบันสูตินารีแพทย์จะตรวจคุณแม่ตั้งครรภ์ที่มีอายุเกินกว่า 35 ปีขึ้นไป โดยเมื่ออายุครรภ์ได้ 3 เดือน จะมีสัญญาณที่พอจะบ่งชี้ได้ว่า ทารกมีความเสี่ยงต่อภาวะดาวน์ซินโดรมหรือไม่ แม้ว่าจะไม่สามารถยืนยันได้ 100% ก็ตาม
สำหรับลักษณะของเด็กที่เป็นโรคดาวน์ซินโดรมนั้น จะมีลักษณะตัวเตี้ย อ้วนง่าย และมีไอคิวต่ำกว่าคนปกติ ดังนั้น พ่อแม่ที่มีลูกเป็นดาวน์ซินโดรมต้องกระตุ้นพัฒนาการตั้งแต่วัยทารก เพื่อกระตุ้นกล้ามเนื้อให้แข็งแรง เนื่องจากเด็กดาวน์ซินโดรมมักมีโรคแทรกซ้อน เช่น เป็นโรคหัวใจร่วมด้วย 40-50% โรคทางเดินอาหารอุดตัน 10-15% และเป็นโรคไทรอยด์ 15-20% ขณะที่การพัฒนาด้านไอคิวนั้น พ่อแม่ต้องกระตุ้นให้เกิดการเรียนรู้ต่อเนื่อง เพื่อเพิ่มไอคิวของเด็กกลุ่มดาวน์ซินโดรมให้มากขึ้น
ดังนั้น ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ ม.อ. จึงได้จัดกิจกรรม ‘ปั้นดาวน์ให้เป็นดาว’ เพื่อเปิดโอกาสในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของเด็กกลุ่มดาวน์ซินโดรมให้ดียิ่งขึ้น และเป็นเวทีสำหรับการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ของผู้ปกครองแต่ละครอบครัว เพื่อนำไปสู่การพัฒนาบุตรหลานที่เป็นเด็กดาวน์ให้มีความรู้ความสามารถเพื่อให้มีคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข ซึ่งต้องอาศัยการส่งเสริมการเรียนรู้จากพ่อแม่ ผู้ปกครองอย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ กิจกรรมดังกล่าว จะได้เปิดโอกาสให้เด็กที่เป็นดาวน์ซินโดรม ได้แสดงความสามารถในรูปแบบต่างๆ เช่น ร้องเพลง วาดรูป ระบายสี เล่านิทานและการแสดงอื่นๆ ซึ่งสามารถเพิ่มทักษะและไอคิวของเด็กกลุ่มดาวน์ซินโดรมได้มากขึ้น เพื่อให้กลุ่มเด็กดาวน์ซินโดรมเหล่านี้เมื่อเติบโตเข้าสู่วัยทำงาน จะได้รับการยอมรับให้เข้าไปทำงานในองค์กรภาครัฐและภาคธุรกิจในอนาคตได้มากขึ้น
เผยแพร่ข่าวประชาสัมพันธ์โดย บริษัทมาสเตอร์ มายด์ คอมมิวนิเคชั่นส์ (ในนามมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์)
ต้องการข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อ : พิภพ ฆ้องวง (ท๊อป)
โทร: 0-2248-7967-8 ต่อ 118
Email : c_mastermind@hotmail.com หรือ kongwong91@hotmail.com