กรุงเทพฯ--29 ส.ค.--กรมการแพทย์
นายแพทย์เรวัต วิศรุตเวช อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า โรคหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน เป็นโรคร้ายแรงโรคหนึ่งที่คร่าชีวิตคนไทย ปัจจุบันความรุนแรงของโรคในคนไทยสูงมากขึ้นเรื่อยๆ จากสถิติผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจในประเทศไทยพบว่า มีผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจรายใหม่เกิดขึ้น 21,700 รายต่อปี “ทุกๆชั่วโมงจะมีคนไทยตายด้วย โรคหลอดเลือดหัวใจ 2.3 คน หรือวันละ 54 คน” โดยพบว่าประเทศไทยมีอัตราเสียชีวิตสูงถึงร้อยละ 12.6 ขณะที่ต่างประเทศมีอัตราเสียชีวิตเพียงร้อยละ 4.9 ทั้งนี้ประเทศไทยมีความรุนแรงของโรคหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันมากกว่าใน ต่างประเทศถึง 2 เท่า สาเหตุที่ทำให้อัตราการเสียชีวิตสูงเพราะผู้ป่วยได้รับการรักษาช้า ผู้ป่วยที่มาถึงโรงพยาบาลร้อยละ 17 มักมีภาวะช็อค มีโอกาสเสียชีวิตสูงถึงร้อยละ 50 โอกาสรอดชีวิตของผู้ป่วยจึงอยู่ที่การเข้ารับการรักษาทันให้เวลาภายในเวลา 3 ชั่วโมงหลังมีอาการ หากผู้ป่วยเข้ารับการรักษาล่าช้าเกินกว่า 12 ชั่วโมง จะมีโอกาสเสี่ยงต่อการเสียชีวิตสูง
กรมการแพทย์ มีหน่วยงานในสังกัดที่ให้บริการบำบัดรักษาแก่ผู้ป่วยโรคหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน ตามปณิธาน “Care with Love Cure with Technology : ดูแลด้วยใจ หายได้ด้วยเทคโนโลยี” ผ่าน ช่องทาง สายด่วน Fast Track 1668 ของสถาบันโรคทรวงอก ซึ่งมีทั้งทีมแพทย์และอุปกรณ์ ที่ทันสมัย พร้อมให้บริการอย่างเร่งด่วนที่สุด เพราะแต่ละวินาทีเป็นช่วงวิกฤต ที่มีความสำคัญต่อชีวิตของผู้ป่วยเป็นอย่างมาก เพื่อผู้ป่วยโรคหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันได้เข้าถึงการรักษาพยาบาลอย่างทันท่วงที จึงได้จัดกิจกรรมสัมมนา “1668 พร้อมทุกนาที ช่วยชีวีโรคหัวใจ” ขึ้น เป็นการสะท้อนให้ผู้ป่วย ญาติ และประชาชนทั่วไป ได้ทราบถึงการให้บริการในการรักษาผู้ป่วยโรคดังกล่าวตลอด 24 ชั่วโมง โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย ทั้งนี้ประชาชนทุกระดับสามารถเข้ารับบริการทางการแพทย์ ที่มีประสิทธิภาพได้อย่างทั่วถึง
“โครงการแท็กซี่ Fast Track“ ครอบคลุมทั้งในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ภายใต้ สโลแกน “เจ็บอก...บอกพี่ ส่งถูกที่ถูกเวลา”เนื่องจากเครือข่ายแท็กซี่ เป็นผู้ที่มีศักยภาพและบทบาทสำคัญอย่างมาก ในการช่วยชีวิตผู้ป่วยโรคหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน สามารถนำส่งโรงพยาบาลอย่างทันท่วงที เพื่อลดอัตราการเสียชีวิตจากโรคดังกล่าว
นายแพทย์สุขุม กาญจนพิมาย ผู้อำนวยการสถาบันโรคทรวงอก กรมการแพทย์กล่าวว่า สิ่งที่สำคัญที่สุดเพื่อลดอัตราการเสียชีวิตจากโรคหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน คือ ผู้ที่เป็นกลุ่มเสี่ยง ต้องทราบวิธีสังเกตอาการเฉพาะของโรคหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันและช่องทางเข้ารับการบริการที่เร็วที่สุด อาการบอกเหตุที่สามารถสังเกตได้ คือ หากมีอาการเจ็บแน่นหน้าอกตรงกลางเหมือนมีอะไรหนักๆ มากดทับ เจ็บจนทนไม่ไหว เจ็บร้าวไปบริเวณแขนซ้าย คอ ไหล่ หรือมีเหงื่อออกท่วมตัว และเหนื่อยหอบ นานกว่า 20-30 นาที เป็นสัญญาณวิกฤตที่ผู้ป่วยต้องรีบไปโรงพยาบาลทันที ด้านนายวิฑูรย์ แนวพานิช ประธานชุมนุมสหกรณ์บริการเดินรถแห่งประเทศไทยและประธานศูนย์วิทยุ กล่าวว่า การเข้าร่วมเป็นเครือข่ายแท็กซี่ Fast Track กับโครงการสายด่วน 1668 พร้อมทุกนาที ช่วยชีวีโรคหัวใจ ของผู้ขับขี่รถโดยสารสาธารณะ (แท็กซี่) เห็นว่าเป็นโครงการฯ ที่ดีมีประโยชน์ ด้วยจำนวนของผู้ขับแท็กซี่ในส่วนของ กทม.ซึ่งมีจำนวน กว่า20,000 คัน และมีผู้ขับขี่มากกว่า 100,000 คน เชื่อแน่ว่าจะมีศักยภาพมากพอในการเป็นอาสาสมัครส่งต่อผู้ป่วยที่มีอาการของโรคหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันจนถึงโรงพยาบาล เพื่อเข้ารับการรักษาได้อย่างทันเวลา โดยไม่คำนึงถึงว่าในขณะนั้นจะได้ค่าโดยสารหรือไม่ แต่มองว่าเป็นความภาคภูมิใจมากกว่า ที่ได้ช่วยเหลือชีวิตผู้ป่วย ให้รอดชีวิตจากการเจ็บป่วยในขณะนั้น
ส่วนคุณไจตนย์ ศรีวังพลหรือที่ผู้ขับขี่แท็กซี่ส่วนใหญ่เรียกว่า “พี่เล็ก” นักจัดรายการชื่อดัง คลื่นวิทยุสวพ.91 กล่าวว่า ทาง สวพ.91 มีความยินดีที่เข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของโครงการฯ และยินดีที่เข้าร่วมเป็นเครือข่ายในการกระจายข่าวของโครงการ สายด่วน Fast Track 1668 ให้เป็นอีกหนึ่งหมายเลขที่ผู้คนจะจดจำ และพร้อมเป็นช่องทางให้บริการที่เชื่อม สวพ.91 กับเครือข่ายอื่นๆ ในการช่วยเหลือชีวิตผู้ป่วย รวม 3 แนวทาง คือ 1.แนะนำสายด่วน 1668 พร้อมทุกนาที ช่วยชีวีโรคหัวใจ ผ่าน สวพ.91 2.ประสานขอเส้นทางขณะที่แท็กซี่ Fast Track นำส่งผู้ป่วยไปโรงพยาบาล กรณีมีปัญหาจราจร 3.เชิญชวนให้ผู้ขับขี่แท็กซี่เข้าร่วมเป็นเครือข่ายแท็กซี่ Fast Trackให้มากที่สุด