คณะผู้บริหารสำนักผังเมืองเผยความคืบหน้า 3 โครงการหลัก ร่วมเฉลิมฉลอง 220 ปีกรุงรัตนโกสินทร์

ข่าวทั่วไป Tuesday March 5, 2002 11:30 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--5 มี.ค.--กทม.
เมื่อวานนี้ (4 มี.ค.45) เวลา 11.00 น. ที่ศาลาว่าการกทม. นายนิคม ไวยรัชพานิช ผู้อำนวยการสำนักผังเมือง พร้อมด้วย นายชิตชนก เขมาวุฒานนท์ น.ส.เดือนเต็ม อมรพันธ์ รองผู้อำนวยการสำนักผังเมือง ร่วมแถลงข่าว “พบกัน จันทร์ละหน คนกับข่าว” ครั้งที่ 37 เรื่อง กทม.จัดประชุมประชาชนในพื้นที่ 50 เขต เพื่อแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการแก้ผังเมืองรวม , โครงการอนุรักษ์ฟื้นฟูเมืองเพื่อการท่องเที่ยว จำนวน 4 บริเวณ และโครงการสัมมนาทางวิชาการเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการปฏิบัติงานด้านผังเมือง
สำนักผังเมืองเร่งระดมความคิดเห็นประชาชนแก้ผังเมืองรวม
ผู้อำนวยการสำนักผังเมือง กล่าวว่า สำนักผังเมืองได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการผังเมืองให้ดำเนินการวางและจัดทำผังเมืองรวมกรุงเทพมหานครใหม่ เพื่อใช้บังคับโดยต่อเนื่องจากกฎกระทรวงผังเมืองรวมฉบับที่ 414 (พ.ศ.2542) ซึ่งครบกำหนดการใช้บังคับในวันที่ 4 ก.ค.2547 ดังนั้น ก่อนดำเนินการจัดทำผังเมืองรวมฉบับใหม่ สำนักผังเมืองได้จัดให้มีการประชุม เพื่อรับฟังความคิดเห็นของประชาชน และเพื่อให้ประชาชนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการกำหนดกรอบการพัฒนากรุงเทพมหานคร โดยได้จัดประชุมเขต 6 กลุ่มเขตไปแล้ว เมื่อวันที่ 16,23 กุมภาพันธ์ และ 2 มีนาคม 2545 ผลปรากฏว่า ประชาชนในพื้นที่ 15 เขต ได้แก่ กลุ่มเขตกรุงธนเหนือและกรุงธนใต้ มีความคิดเห็นว่าควรให้มีการเปลี่ยนแปลงพื้นที่สีเขียว (ที่ดินประเภทชนบทและเกษตรกรรม) ให้เป็นพื้นที่อยู่อาศัยและพาณิชยกรรมและอุตสาหกรรม เพื่อประชาชนจะได้มีอาชีพ มีรายได้เพิ่มเติม ขณะที่ประชาชนในพื้นที่ 35 เขต ของกลุ่มเขตเจ้าพระยา กลุ่มศรีนครินทร์ กลุ่มรัตนโกสินทร์และกลุ่มบูรพา ต้องการให้มีการอนุรักษ์พื้นที่สีเขียวไว้ โดยให้มีการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ธรรมชาติ นอกจากนี้กลุ่มเขตต่าง ๆ ยังเห็นควรให้มีการพัฒนาและฟื้นฟูที่รกร้างให้เป็นสร้างสวนสาธารณะและสถานที่ พักผ่อนหย่อนใจให้มากขึ้น รวมทั้งกำหนดให้อาคารขนาดใหญ่และไฮเปอร์มาร์เก็ตที่มีผลกระทบต่อการจราจร สร้างอยู่ในพื้นที่ รอบนอก
ผู้อำนวยการสำนักผังเมือง กล่าวต่อไปว่า สำนักผังเมืองกำหนดจัดให้มีการประชุมใหญ่เพื่อระดมความคิดเห็นเกี่ยวกับการแก้ ผังเมืองรวม ในวันที่ 6 มี.ค.45 เวลา 08.00-12.00 น. ณ อาคารกีฬาเวสน์ 2 ศูนย์เยาวชนกรุงเทพมหานคร (ไทย-ญี่ปุ่น) ดินแดง โดยเชิญผู้แทนหน่วยงานของกรุงเทพมหานคร ผู้แทนหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง สส. สก. สข. ผู้ทรงคุณวุฒิ นักวิชาการ ตลอดจนประธานชุมชนและประชาชนในพื้นที่ 50 เขตของกรุงเทพมหานครมาร่วมประชุม ทั้งนี้ นายสมัคร สุนทรเวช ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครเป็นประธานการประชุมและบรรยายพิเศษ เรื่อง นโยบายการพัฒนากรุงเทพมหานคร ส่วนประชาชนที่ไม่สามารถมาร่วมการประชุม สามารถแสดงความคิดเห็นผ่านเว็บไซต์ของสำนักผังเมืองได้ที่ cped@bma.go.th หรือโทรศัพท์หมายเลข 1555 , 0-2354-1289-99 ในวันและเวลาราชการ
ผู้อำนวยการสำนักผังเมือง กล่าวด้วยว่า คาดว่าการแก้ผังเมืองรวมจะแล้วเสร็จภายในปีนี้และมีแนวโน้มที่จะผ่อนคลายพื้นที่สีเขียวและพื้นที่ลายเขียวขาว เช่น พื้นที่ชายทะเลบางขุนเทียน พื้นที่เกษตรกรรมเขตทุ่งครุ บางบอน จะมีการเปลี่ยนแปลงให้เป็น ศูนย์ชุมชน แหล่งพาณิชยกรรม และอุตสาหกรรม เพื่อให้ประชาชนมีอาชีพและรายได้เพิ่มขึ้น สำหรับในส่วนของการโซนนิ่งสถานบันเทิงและ ไฮเปอร์มาร์เก็ต 3 พื้นที่ ได้แก่ โซนที่ 1 บริเวณพัฒน์พงษ์ ตั้งแต่พระรามที่ 4 ไปตามแนวถนนสีลม โซนที่ 2 ได้แก่ บริเวณเพชรบุรี ตัดใหม่ ตั้งแต่คลองแสนแสบไปจนถึงอาร์ซีเอ และโซนที่ 3 ได้แก่ รัชดาภิเษก ตั้งแต่ลาดพร้าวจนถึงอ.ส.ม.ท. ขณะนี้คณะกรรมการกฤษฎีกาได้ตรวจร่างกฎหมายต่าง ๆ เรียบร้อยแล้ว และอยู่ระหว่างคณะรัฐมนตรีพิจารณา ซึ่งคาดว่าจะประกาศได้ภายในเดือนมีนาคมนี้ สำหรับการก่อสร้างไฮเปอร์มาร์เก็ตในพื้นที่กทม.นั้น กทม.ได้ร่วมกับกรมโยธาธิการ และกระทรวงพาณิชย์ โดยอาศัยพ.ร.บ.ควบคุมอาคารมาตรา 13 กำหนดพื้นที่ห้ามสร้างอาคารขนาดใหญ่ในพื้นที่ 39 เขตของกทม. ซึ่งขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างการหารือกับคณะรัฐมนตรี
สำนักผังเมืองเร่ง 2 โครงการอนุรักษ์ฟื้นฟูเมืองร่วมเฉลิมฉลอง 220 ปีกรุงรัตนโกสินทร์
นายชิตชนก กล่าวว่า สำนักผังเมืองได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของพื้นที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ในบริเวณต่อเนื่องของ กรุงรัตนโกสินทร์ ซึ่งสมควรได้รับการปรับปรุงฟื้นฟูสภาพแวดล้อมให้เหมาะสม สวยงาม ตลอดจนเป็นการรักษามรดกทางประวัติศาสตร์และศิลปวัฒนธรรมของชาติให้คงอยู่สืบต่อไป เป็นการส่งเสริมให้เกิดสถานที่ท่องเที่ยวที่มีสภาพรูปลักษณ์ทางกายภาพของอาคารที่มีคุณค่าทางสถาปัตยกรรมและประวัติศาสตร์ อีกทั้งเป็นการเพิ่มสีสันให้กับเมือง เพื่อร่วมเฉลิมฉลอง 220 ปี กรุงรัตนโกสินทร์ โดยปรับปรุงสภาพแวดล้อมและทาสีอาคาร จำนวน 4 บริเวณ ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 25 ธ.ค.44
อนุมัติเงินอุดหนุนรัฐบาลประจำปี 2545 งบกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อดำเนินโครงการดังกล่าว ดังนี้ 1.โครงการปรับปรุงสภาพแวดล้อมและทาสีอาคารที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์บริเวณชุมชนซอยเลื่อนฤทธิ์ เขตสัมพันธวงศ์ ซึ่งเป็นอาคารปลายสมัยรัชกาลที่ 5 โดยลักษณะอาคารเป็นตึกแถว 2 ชั้น มีรูปแบบลักษณะของหลังคา 2 รูปแบบ คือ หลังคามุงกระเบื้องว่าว และหลังคาเป็นเฉลียงมีลูกกรงระเบียงปูน ส่วนชั้นล่างเดิมเป็นประตูบานเฟี้ยม 6 บาน มีลวดลายปูนปั้นตามซุ้มประตู มีเอกลักษณ์สะท้อนให้เห็นถึงประวัติศาสตร์ช่วงหนึ่งของกรุงรัตนโกสินทร์ และที่ตั้งของชุมชนเป็นจุดเชื่อมโยงระหว่างสำเพ็ง-สะพานหัน ถึงย่านตลาดเก่าเยาวราช ซึ่งนับเป็นจุดเชื่อมโยงในลักษณะถนนคนเดินเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวได้ สำนักผังเมือง ได้รับอนุมัติงบประมาณ จำนวน 4,102,300 บาท เพื่อดำเนินการโครงการ ดังกล่าว โดยทำการปรับปรุงสภาพอาคารตึกแถวในชุมชนซอยเลื่อนฤทธิ์ จำนวน 229 ห้อง ซึ่งอยู่ในความดูแลของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ โดยทำการซ่อมแซมผิวหนังอาคารภายนอกด้านหน้าและทาสีอาคารใหม่ พร้อมทั้งปรับยกระดับผิวจราจรถนนซอยทั้งหมดเสมอระดับทางเท้า รวมถึงทำการปูพื้นทางเท้าและผิวจราจรใหม่ พร้อมติดตั้งอุปกรณ์บนถนน เช่น เสาไฟฟ้าใหม่ ซึ่งขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการดำเนินการจ้าง คาดว่า จะได้ผู้รับจ้างดำเนินการประมาณกลางเดือนมีนาคม 2545นี้
นายชิตชนก กล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้ยังมีโครงการปรับปรุงภูมิทัศน์และทาสีอาคารที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ จำนวน 3 บริเวณ ได้แก่ ชุมชนถนนอัษฎางค์ ชุมชนท่าเตียน และชุมชนตลาดนางเลิ้ง ซึ่งเป็นอาคารของสำนักงานทรัพย์สินส่วน พระมหากษัตริย์ ลักษณะของอาคารมีรูปแบบสถาปัตยกรรมตามอิทธิพลของยุโรป สมัยรัชกาลที่ 5 ซึ่งมีสภาพสวยงามเป็นเอกลักษณ์ แต่ปัจจุบันมีการใช้สอยอาคารเพื่อประโยชน์ทางการค้า มีการต่อเติมส่วนประกอบของอาคาร เกิดความรกรุงรัง ขาดความเป็นระเบียบเรียบร้อยอาคารมีสภาพเก่าชำรุดทรุดโทรม สำนักผังเมืองได้รับอนุมัติงบประมาณ จำนวน 880,700 บาท เพื่อดำเนินการ โครงการดังกล่าว ซึ่งขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการดำเนินการจ้าง คาดว่าจะได้ผู้รับจ้างดำเนินการประมาณกลางเดือนมีนาคม 2545 เช่นกัน
ผังเมืองระดมนักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญพัฒนาศักยภาพเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน
น.ส.เดือนเต็ม กล่าวว่า สำหรับโครงการสัมมนาทางวิชาการเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการปฏิบัติงานด้านผังเมือง เป็นโครงการที่สำนักผังเมืองดำเนินการร่วมกับสถาบันพัฒนาข้าราชการกรุงเทพมหานครเพื่อให้ข้าราชการผู้เข้าร่วมสัมมนาได้รับความรู้ ความเข้าใจ ตลอดจนเป็นการแลกเปลี่ยนประสบการณ์อันเป็นการสร้างเสริมวิสัยทัศน์ที่กว้างไกล ซึ่งสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการบริหารและพัฒนาเมืองได้อย่างถูกต้อง เหมาะสม และมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น การสัมมนาดังกล่าวนี้ มีทั้งหมด 3 ครั้ง ดังนี้
ครั้งที่ 1 วันพฤหัสบดีที่ 7 มี.ค.45 เวลา 13.00-16.30 น. ณ ห้องรับรองกรุงเทพมหานคร ศาลาว่าการกทม.สัมมนา เรื่อง จะจัดการอย่างไรกับปัญหาโรงงานอุตสาหกรรมในกรุงเทพมหานคร โดยสำนักผังเมืองได้เชิญผู้มีความรู้และประสบการณ์ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องเหล่านั้นเข้าร่วมการสัมมนา เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นด้วย ทั้งนี้ นายสมัคร สุนทรเวช ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร จะบรรยายพิเศษ เรื่อง นโยบายการกระจายโรงงานอุตสาหกรรมของกรุงเทพมหานคร นอกจากนี้อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ และรองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยร่วมอภิปรายในประเด็น สถานการณ์การจัดตั้งและการขยายตัวของโรงงาน ทิศทางและนโยบายเกี่ยวกับการควบคุมและแก้ไขปัญหามลพิษจากโรงงาน รวมถึงปัญหาและข้อเสนอแนะของภาคเอกชนต่อการประกอบอุตสาหกรรมในปัจจุบัน
ครั้งที่ 2 วันอังคารที่ 26 มี.ค.45 เวลา 13.00-16.30 น. ณ ห้องอเนกประสงค์ ชั้น 1 ศาลาว่าการกทม. สัมมนาเรื่อง อสังหาริมทรัพย์กับการพัฒนาเมือง สำนักผังเมืองได้เชิญผู้เชี่ยวชาญในวงการอสังหาริมทรัพย์และการพัฒนาที่ดิน ได้แก่ ดร.วิชา จิวาลัย ผู้เคยดำรงตำแหน่งรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร รศ.มานพ พงศทัต เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและคุณล่องลม บุนนาค กรรมการภาคพื้นเอเซียแปซิฟิค บริษัทโจนส์แลง ลาซาลล์ (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่เชี่ยวชาญด้านการประเมินและพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ร่วมกันอภิปราย ให้ความรู้เกี่ยวกับทิศทางการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่สอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาเมือง และ
ครั้งที่ 3 วันพุธที่ 3 เม.ย.45 เวลา 13.00-16.30 น. ณ ห้องรับรองกรุงเทพมหานคร ศาลาว่าการกทม. สัมมนาเรื่อง การอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์ ซึ่งสำนักผังเมืองได้รับเกียรติจาก นายสมัคร สุนทรเวช ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครเป็นวิทยากรบรรยายพิเศษ เรื่อง แนวคิดของกรุงเทพมหานครในการอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์ จากนั้นผู้เข้าร่วมอภิปรายทั้งภาครัฐ ภาคประชาชน ได้แก่ คุณมานิต ศิริวรรณ ผู้เชี่ยวชาญจากสำนักงานคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ และเป็นเลขานุการคณะกรรมการอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์ รศ.ดร.บัณฑิต จุลาสัย อาจารย์แห่งสถาปัตยกรรม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่มากด้วยประสบการณ์ในแวดวงสถาปัตย์ และมีบทบาทในการอนุรักษ์และพัฒนา และคุณยงยุทธ์ ประชาศิลป์ชัย ผู้แทนภาคประชาชน ซึ่งเกิดและใช้ชีวิตอยู่ในบริเวณกรุงรัตนโกสินทร์ตลอดมา ต่างจะมาให้ความรู้และข้อมูลเกี่ยวกับแนวทางและรูปแบบที่เหมาะสมในการอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์ ขณะเดียวกันได้มีการแลกเปลี่ยนความรู้และขัอมูลจากประชาชนในพื้นที่ซึ่งได้รับผลกระทบจากการอนุรักษ์และพัฒนาดังกล่าวด้วย--จบ--
-นห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ