กรุงเทพฯ--29 ส.ค.--ศอส.
ศอส.เตือน 8 จังหวัด ภาคตะวันออก และอีสาน ระวังน้ำป่าไหลหลาก น้ำล้นตลิ่งพร้อมประสานทุกฝ่ายสนธิกำลังปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบภัยอย่างเต็มกำลังในทุกพื้นที่
ศอส. รายงานยังคงมีสถานการณ์อุทกภัยใน 14 จังหวัด พร้อมเตือน 8 จังหวัด 3 จังหวัดในภาคตะวันออก ได้แก่ สระแก้ว จันทบุรี และตราด รวมถึง 5 จังหวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ อุบลราชธานี สุรินทร์ ศรีสะเกษ นครราชสีมา และบุรีรัมย์ เตรียมรับมือน้ำป่าไหลหลาก และน้ำล้นตลิ่ง ได้ประสานทหาร ฝ่ายปกครอง จังหวัด และกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ประสานสนธิกำลังในการเตรียมความพร้อมด้านทรัพยากร จัดเจ้าหน้าที่เฝ้าระวัง และสนับสนุนการปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบภัยอย่างเต็มกำลังในทุกพื้นที่
นายฉัตรป้อง ฉัตรภูติ รองอธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ประธานการประชุมศูนย์สนับสนุนการอำนวยการและการบริหารสถานการณ์อุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม (ศอส.) เปิดเผยว่า มีจังหวัดประสบสถานการณ์อุทกภัยและประกาศเป็นพื้นที่ประสบภัยพิบัติฉุกเฉิน จำนวน 34 จังหวัด 275 อำเภอ 1,843 ตำบล 15,313 หมู่บ้าน ราษฎรเดือดร้อน 1,055,013 ครัวเรือน 3,628,265 คน ปัจจุบันยังคงมีสถานการณ์อุทกภัยใน 14 จังหวัด รวม 65 อำเภอ 422 ตำบล 2,565 หมู่บ้าน ราษฎรเดือดร้อน 169,925 ครัวเรือน 545,234 คน ได้แก่ สุโขทัย พิจิตร พิษณุโลก นครสวรรค์ นครนายก พระนครศรีอยุธยา อ่างทอง ชัยนาท อุบลราชธานี ปราจีนบุรี เชียงราย ระยอง พังงา และภูเก็ต ผู้เสียชีวิต 48 ราย ผู้สูญหาย 1 คน พื้นที่การเกษตรคาดว่าจะเสียหาย 3,223,275 ไร่ พื้นที่เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำคาดว่าจะเสียหาย 45,931 ไร่ ปศุสัตว์ได้รับผลกระทบ 2,044,971 ตัว น้ำท่วมเส้นทางคมนาคมเสียหาย ทางหลวงไม่สามารถสัญจรผ่านได้ 10 สาย ใน 5 จังหวัด ดังนี้ สุโขทัย 2 สาย พิจิตร 1 สาย น่าน 3 สาย เชียงใหม่ 1 สาย พังงา 3 สาย ทางหลวงชนบทไม่สามารถสัญจรผ่านได้ 14 สาย ใน 6 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ 4 สาย นครสวรรค์ 2 สาย พิจิตร 4 สาย พิษณุโลก 1 สาย นครพนม 1 สาย ร้อยเอ็ด 2 สาย ทางรถไฟสายเหนือช่วงสถานีถ้ำขุนตาล — สถานีทาชมพู จังหวัดลำปาง น้ำท่วมรางรถไฟ รถไฟสายเหนือสามารถเดินรถได้ถึงสถานีจังหวัดลำปาง สำหรับสถานการณ์น้ำล้นตลิ่งในลุ่มน้ำต่างๆ ลุ่มน้ำยม ภาวะน้ำล้นตลิ่งที่อำเภอบางระกำ จังหวัดพิษณุโลก มีแนวโน้มลดลง อำเภอโพทะเล จังหวัดพิจิตร มีแนวโน้มทรงตัว แต่ยังคงต้องเฝ้าระวังพื้นที่อำเภอโพประทับช้าง จังหวัดพิจิตร เนื่องจากระดับน้ำมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ลุ่มน้ำน่าน น้ำล้นตลิ่งที่อำเภอเมืองพิจิตร และอำเภอบางมูลนาก รวมถึงลุ่มน้ำป่าสัก น้ำล้นตลิ่งที่อำเภอวิเชียรบุรี จังหวัดเพชรบูรณ์ มีแนวโน้มทรงตัว ขณะที่ลุ่มน้ำชี น้ำล้นตลิ่งที่อำเภอเมืองยโสธร อำเภอมหาชนะชัย จังหวัดยโสธร มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น
นายฉัตรป้อง แจ้งเตือนพื้นที่ที่ต้องเฝ้าระวังน้ำป่าไหลหลากและน้ำล้นตลิ่งใน 8 จังหวัด ดังนี้ 3 จังหวัดในภาคตะวันออก ได้แก่ สระแก้ว จันทบุรี และตราด รวมถึง 5 จังหวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ อุบลราชธานี สุรินทร์ ศรีสะเกษ นครราชสีมา และบุรีรัมย์ ทั้งนี้ ศอส. ได้สั่งกำชับให้ทั้ง 8 จังหวัด จัดเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังติดตามสถานการณ์ภัย ตรวจวัดปริมาณน้ำฝนและระดับน้ำในลุ่มน้ำสำคัญอย่างต่อเนื่อง ตลอด 24 ชั่วโมง โดยเฉพาะพื้นที่เสี่ยงภัยบริเวณที่ลาดเชิงเขา และที่ลุ่มต่ำริมสองฝั่งแม่น้ำของจังหวัดดังกล่าว พร้อมระดมสรรพกำลังและทรัพยากรในทุกระดับให้พร้อมออกปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบภัยในทันทีที่เกิดภัย หากสถานการณ์รุนแรง ให้เร่งอพยพประชาชนออกจากพื้นที่เสี่ยงภัยไปยังพื้นที่ปลอดภัยในทันที ตลอดจนประสานให้จังหวัดยึดมาตรการ 2 P 2 R เป็นแนวทางในการปฏิบัติ โดยจังหวัดในพื้นที่เสี่ยงภัยตรียมพร้อมเฝ้าระวัง และแจ้งเตือนสถานการณ์ภัยอย่างรวดเร็ว และทั่วถึง ขณะที่จังหวัดที่ยังคงมีฝนตกหนักและได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ภัย ให้เร่งช่วยเหลือผู้ประสบภัยโดยเร็ว โดยเฉพาะการดูแลระบบสาธารณูปโภค ทั้งยังเน้นย้ำให้จังหวัดที่สถานการณ์คลี่คลาย กำชับคณะกรรมการช่วยเหลือผู้ประสบภัยระดับอำเภอเร่งตั้งคณะอนุกรรมการตรวจสอบความเสียหายระดับหมู่บ้าน รวมถึงเร่งสำรวจด้านสิ่งก่อสร้าง สาธารณูปโภค และสิ่งสาธารณะประโยชน์ เพื่อวางแผนฟื้นฟูอย่างเหมาะสมต่อไป ทั้งนี้ ขอให้จังหวัดเฝ้าระวังและป้องกันโรคระบาดในช่วงน้ำท่วม เช่น โรคฉี่หนู โรคปากเท้าเปื่อย โดยเร่งให้ความรู้แก่ประชาชนเกี่ยวกับสุขอนามัยในการดำเนินชีวิตที่ถูกสุขลักษณะ เช่น ล้างมือให้สะอาดทุกครั้งก่อนรับประทาน ใส่รองเท้าบูททุกครั้งที่เดินลุยน้ำ และล้างเท้าให้สะอาดหลังเดินลุยน้ำ เป็นต้น
“... เพื่อให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยเป็นไปอย่างรวดเร็วและทั่วถึง ศอส. ได้ประสานทหาร ฝ่ายปกครอง จังหวัด และกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย สนธิกำลังในการเตรียมความพร้อมด้านทรัพยากร จัดเจ้าหน้าที่เฝ้าระวัง และสนับสนุนการปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบภัยอย่างเต็มกำลังในทุกพื้นที่ อีกทั้งได้สั่งการให้ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขตจัดเตรียมเรือท้องแบน และประสานเครือข่ายป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ทั้ง อปพร. มิสเตอร์เตือนภัย ชุดเผชิญสถานการณ์วิกฤต และอาสาสมัครต่างๆ เป็นผู้ประสานกับภาครัฐในการปฏิบัติการเผชิญเหตุและช่วยเหลือผู้ประสบภัยในระดับพื้นที่...” นายฉัตรป้อง กล่าว...