มธบ.- สสส. ลุย11 จังหวัด 111 กิจกรรม นำร่องการจัดการศึกษา เพื่อสุขภาวะคนไทย

ข่าวทั่วไป Tuesday August 30, 2011 08:34 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--30 ส.ค.--มหาิวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ โครงการนำร่องการจัดการศึกษาแบบมีส่วนร่วมขององค์กรในชุมชนเพื่อสุขภาวะคนไทย (ปศท.2) เป็นโครงการที่มีวัตถุประสงค์ในการจัดการศึกษาเพื่อสุขภาวะคนไทย ทั้งด้านกาย จิต สังคม และสติปัญญา บนพื้นฐานการมีส่วนร่วมขององค์กรที่มีอยู่ในชุมชน โดยได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ดำเนินการโดยมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ร่วมกับเครือข่ายมหาวิทยาลัยและผู้ทรงคุณวุฒิภาคต่าง ๆ มีองค์กรการดำเนินงาน จำนวน 33 แห่ง อาทิ วัด โรงเรียน ชุมชน แหล่งเรียนรู้ และอบต. รวม 11 จังหวัดทั่วประเทศ ดร. พิณสุดา สิริธรังศรี ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและฝึกอบรมทางการศึกษา วิทยาลัยครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ผู้จัดการโครงการ กล่าวว่า องค์กรทางการศึกษาดังกล่าว มีความก้าวหน้าการดำเนินงาน โดยลำดับส่วนใหญ่มีความเข้าใจการดำเนินงานตามแนวคิดการมีส่วนร่วมของโครงการเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ยังพบว่านอกจากภูมิภาคอื่นที่ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดีแล้วทั้งภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลางแล้ว ในส่วนของโรงเรียนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ยังเป็นโรงเรียนที่มีศักยภาพสูงในการดำเนินงาน โดยเฉพาะบทบาทการจัดการศึกษาแบบมีส่วนร่วมของชุมชน เกิดการเรียนรู้แบบบูรณาการสู่การปฏิบัติของผู้เรียนและชุมชนที่นับได้ว่าเกิดจากการผลักดันของโครงการอย่างแท้จริง “จากที่ได้ลงพื้นที่ไปติดตามผลทั่วทั้ง 4 ภาค พบว่า กิจกรรมการสานวัฒนธรรมการพัฒนาอาชีพ การพัฒนาอาชีพในชุมชน และการพัฒนาจิตใจ คุณธรรม จริยธรรมมีความหลากหลายไปตามบริบทของท้องถิ่นมากที่สุด ส่วนกิจกรรมประเภทอื่น ก็จะมีความสอดคล้องกับลักษณะของท้องถิ่นและลักษณะผู้เรียน โดยเฉพาะกิจกรรมที่จัดในสถานศึกษา จะจัดเป็นหลักสูตรอย่างชัดเจน โดยผู้สอนเป็นวิทยากรภูมิปัญญาจากชุมชนเป็นส่วนใหญ่ กลุ่มผู้เรียน มีทั้งนักเรียนเยาวชนนอกโรงเรียน สมาชิกในชุมชนและกลุ่มผู้สูงวัย ซึ่งการจัดการศึกษาของชุมชนมีการเชื่อมโยงการศึกษาในระบบ การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย นับเป็นการเรียนรู้ตลอดชีวิตที่สอนให้ผู้เรียนได้เรียนอย่างมีความสุข” หัวหน้าโครงการกล่าว ถึงแม้โครงการจะเพิ่งเริ่มต้นมาเพียงแค่ 5 เดือน แต่จากความร่วมมือ ร่วมใจของบุคลากรทุกภาคส่วนที่มีความต้องการและมีความมุ่งมั่นที่จะปฏิบัติงานในโครงการที่สอดคล้องกับความต้องการของชุมชนและท้องถิ่นอย่างแท้จริง เห็นได้ชัดเจนว่าในทุกภาคที่เข้าร่วมกิจกรรม มีบุคลากรในชุมชนมาร่วมบริหารจัดการโครงการด้วยความภาคภูมิใจที่จะทำให้สำเร็จ รวมถึงกระแสสังคมที่ให้การตอบรับเป็นอย่างดี เชื่อว่าภูมิปัญญาท้องถิ่นจากภูมิปัญญาชาวบ้านจะเป็นผู้เข้ามาช่วยขับเคลื่อนโครงการให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ