ประชุมบอร์ดบีโอไอนัดแรกภายใต้รัฐบาลทักษิณ 2 อนุมัติรวด 12 โครงการ รวมเงินลงทุนกว่า 2 แสนล้านบาท

ข่าวยานยนต์ Friday June 3, 2005 14:05 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--3 มิ.ย.--บีโอไอ
บอร์ดบีโอไอให้การส่งเสริมการลงทุนแก่โตโยต้า นิสสัน หวังดันไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตและส่งออกรถยนต์ของโลก
ไฟเขียวผลิตเหล็กขั้นต้น-กลาง ระยะที่ 1 ของสหวิริยา
พร้อมหนุนโครงการผลิตไฟฟ้าและไอน้ำ เพื่อรองรับกำลังการผลิตที่เพิ่มขึ้นของภาคอุตสาหกรรม และอนุมัติให้เขตอุตสาหกรรมโรจนะขยายกิจการ เพื่อรองรับการลงทุนที่จะขยายตัวเพิ่มมากขึ้น
นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บอร์ดบีโอไอ) ว่า ที่ประชุมเห็นชอบให้การส่งเสริมการลงทุนรวมทั้งสิ้นจำนวน 12 โครงการ รวมมูลค่าเงินลงทุนประมาณ 216,740 ล้านบาท ดังนี้
บริษัทโตโยต้า มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด ได้รับการส่งเสริมการลงทุนในกิจการผลิตรถยนต์จำนวน 2 โครงการ โดยโครงการแรกเป็นการขอส่งเสริมประกอบรถยนต์โครงการรวม (Package) เพื่อผลิตรถบรรทุกเล็ก (รถปิคอัพ) และรถอเนกประสงค์ขับเคลื่อนสี่ล้อ (SUV) รวมปีละประมาณ 100,000 คัน และการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ มีมูลค่าเงินลงทุน 21,858 ล้านบาท
โครงการดังกล่าวเป็นการขยายกิจการประกอยรถยนต์เพื่อส่งออก หรือโรงการ IMV ซึ่งได้รับการส่งเสริมและเริ่มผลิตไปแล้วประมาณกลางปี 2547 แต่ความต้องการรถยนต์ในตลาดต่างประเทศ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นมาก โดยมีตลาดสำคัญทั่วโลก อาทิ เอเชีย ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ยุโรป แอฟริกา โดยจะมีการก่อสร้างโรงงานใหม่ในที่ตั้งใหม่ที่จังหวัดฉะเชิงเทรา จะเริ่มผลิตในปี 2550
โครงการที่ 2 ของโตโยต้าที่ได้รับการส่งเสริมคือ โครงการประกอบรถยนต์ส่วนบุคคลและชิ้นส่วนรถยนต์ มูลค่าเงินลงทุนประมาณ 26,631 ล้านบาท กำลังการผลิตปีละประมาณ 224,550 คัน โครงการจะตั้งที่นิคมอุตสาหกรรมเกตเวย์ จังหวัดฉะเชิงเทรา โดยโครงการนี้จะผลิตรถยนต์เพื่อจำหน่ายในประเทศร้อยละ 65 และส่งออกร้อยละ 35 ในอาเซียน ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และตะวันออกกลาง
กลุ่มบริษัท นิสสัน ได้รับการส่งเสริมโครงการประกอบรถยนต์แบบโครงการรวม (PACKAGE) มูลค่าเงินลงทุนรวมทั้งสิ้น 32,147 ล้านบาท โดยแบ่งออกเป็น 3 กิจการ ดังนี้ กิจการประกอบรถยนต์ ในนามบริษัท สยามนิสสัน ออโตโมบิล จำกัด เงินลงทุน 24,279 ล้านบาท ผลิตรถยนต์นั่งส่วนบุคคลและรถปิคอัพ ซึ่งเป็นรถรุ่นใหม่ กำลังการผลิตประมาณ 200,000 คันต่อปี ตั้งโครงการที่จังหวัดสมุทรปราการ จะเริ่มผลิตต้นปี 2549 โครงการนี้จะผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศร้อยละ 60 และส่งออกร้อยละ 40 ในยุโรป ตะวันออกกลาง อเมริกากลาง และเอเชีย
โครงการที่ 2 ของนิสสันคือ กิจการผลิตชิ้นส่วนโลหะ ชิ้นส่วนพลาสติก และชิ้นส่วนประกอบของตัวถังสำหรับยานพาหนะ ในนามบริษัท สยามกลการและนิสสัน จำกัด เงินลงทุน 4,401 ล้านบาท โดยชิ้นส่วนทั้งหมดจะป้อนให้กับการประกอบรถยนต์ของนิสสัน ตั้งโครงการที่จังหวัดสมุทรปราการ
โครงการที่ 3 ของนิสสันคือ กิจการผลิตเครื่องยนต์และชุดส่งกำลังสำหรับยานพาหนะ ในนามบริษัท นิสสัน พาวเวอร์เทรน (ประเทศไทย) จำกัด เงินลงทุน 2,967 ล้านบาท โดยจะผลิตเครื่องยนต์ที่ใช้ระบบคอมมอนเรล เพื่อป้อนให้กับโครงการประกอบรถยนต์รุ่นใหม่ของนิสสัน และจะทำการส่งออกไปให้โรงงานประกอบรถยนต์ของนิสสันที่อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และมาเลเซียประมาณร้อยละ 20 โดยมีกำลังการผลิตเครื่องยนต์ดีเซลปีละประมาณ 130,000 เครื่อง เครื่องยนต์เบนซิน 135,000 เครื่อง และชุดส่งกำลังปีละประมาณ 60,000 ชุด ตั้งโครงการที่จังหวัดสมุทรปราการ
นอกจากนี้ คณะกรรมการยังได้อนุมัติให้การส่งเสริมการลงทุนกิจการผลิตเหล็กขั้นต้นและเหล็ก ขั้นกลาง ของนายวิทย์ วิริยะประไพกิจ (เครือสหวิริยา) ซึ่งได้ยื่นขอรับส่งเสริมทั้งสิ้น 5 โครงการ แบ่งเป็น 5 ระยะ โดยโครงการลงทุนในระยะที่ 1 นั้นได้รับส่งเสริมการลงทุนเนื่องจากเป็นการผลิตเพื่อใช้ในเครือ สหวิริยา เงินลงทุนประมาณ 90,200 ล้านบาท กำลังการผลิต 5 ล้านตันต่อปี ตั้งโครงการที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ จะเริ่มผลิตได้ในปี 2551
ส่วนโครงการระยะที่ 2 — 5 นั้น เงินลงทุนรวมประมาณ 400,000 ล้านบาท ที่ประชุมเห็นว่าความเป็นไปได้ขึ้นอยู่กับความสำเร็จของโครงการระยะที่ 1 และความต้องการในอนาคต จึงเห็นควรอนุมัติในหลักการที่จะให้การส่งเสริมไปก่อน หากบริษัทสามารถดำเนินการได้ภายในระยะเวลา ที่กำหนดของแต่ละโครงการ บีโอไอก็จะออกบัตรส่งเสริมให้ แต่หากไม่สามารถดำเนินการได้จะถูกยกเลิกการให้ส่งเสริมสำหรับโครงการที่เหลือทั้งหมด
กิจการส่งเสริมขยายกิจการผลิตขวดแก้ว ของ Mr.Sim Kuang Meng เป็นการร่วมทุนกับ บริษัท Malaya Glass Products Sdn. Bhd ประเทศมาเลเซีย ร้อยละ70 หุ้นไทยร้อยละ 30 คือบริษัทสยาม กล๊าส จำกัด และบริษัทไทยเอเชียแปซิฟิคบริวเวอรี่ จำกัด กำลังการผลิตปีละประมาณ 70,000 ตัน ผลิตขวดแก้วบรรจุเบียร์ร้อยละ 60 ที่เหลือร้อยละ 40 เป็นขวดแก้วเครื่องดื่มชูกำลัง เพื่อจำหน่ายในประเทศร้อยละ 75 ส่งออกร้อยละ 25 ซึ่งการจำหน่ายในประเทศร้อยละ 30เป็นการผลิตป้อนให้กลุ่มผู้ถือหุ้น คือบริษัท ไทยเอเชียแปซิฟิค บริวเวอรี่ จำกัด (ขวดเบียร์ Heineken และขวดเบียร์ Tiger )ใช้เงินลงทุนทั้งสิ้น 1,320 ล้านบาท ตั้งโรงงานที่เขตอุตสาหกรรมของบริษัท เอส ไอ แอล ที่ดินอุตสาหกรรมจำกัด จ.สระบุรี เขต 2
กิจการผลิตเหล็กรูปพรรณรีดร้อนและเหล็กแผ่นแถบรีดร้อน ของนายวิจิตร รัตนศิริวิไล ขอรับการส่งเสริมผลิตเหล็กรูปพรรณรีดร้อนขนาดกลาง หน้าตัด 50 -150 มม. และเหล็กแผ่นรีดร้อนชนิดม้วนหน้ากว้างต่ำกว่า 600 มม. โดยผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศร้อยละ 80ให้กับบริษัทฯในเครือซึ่งเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายท่อโลหะ เหล็กตัวซี อีกร้อยละ 20 ส่งออกต่างประเทศในรูปผลิตภัณฑ์ท่อและเหล็กตัวซี ใช้เงินลงทุนทั้งสิ้น 2,730 ล้านบาท ตั้งโรงงานในท้องที่ จังหวัดเพชรบุรี เขต 3
กิจการผลิตพลังงานไฟฟ้า ของ บริษัท ปิโตรเคมีแห่งชาติ จำกัด(มหาชน)ขอรับการส่งเสริมขยายกิจการผลิตไฟฟ้าขนาด 35 เมกะวัตต์และไอน้ำ 70ตัน/ชั่วโมง ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงโดยจะซื้อจากบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)ซึ่งจะจำหน่ายไฟฟ้าจากการผลิตในโครงการให้แก่ลูกค้าซึ่งเป็นบริษัทฯในเครือ ปตท.และโรงงานกลุ่มอุตสาหกรรมปิโตรเคมีขั้นต่อเนื่อง ใช้เงินลงทุนทั้งสิ้น1,200 ล้านบาท ตั้งโรงงานที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จ.ระยองเขต 2 อยู่ในพื้นที่ได้รับสัมปทานประกอบกิจการไฟฟ้าจากกระทรวงพลังงานแล้ว
กิจการผลิตพลังงานไฟฟ้าไอน้ำและน้ำเพื่ออุตสาหกรรม ของ บริษัท โกลว์ พลังงาน จำกัด (มหาชน) มูลค่าการลงทุน 1,895 ล้านบาท ขอรับการส่งเสริมขยายกิจการผลิตไฟฟ้าขนาด 58.5 เมกะวัตต์และไอน้ำ 70 ตัน/ชั่วโมง ตั้งโรงไฟฟ้าที่นิคมอุตสาหกรรมตะวันออก จังหวัดระยอง ส่งผลให้เกิดการจ้างแรงงานไทย 30 คน โดยจะใช้วัตถุดิบที่ผลิตในประเทศทั้งสิ้น คิดเป็นมูลค่ารวม 623 ล้านบาท/ปี
โครงการนี้จะผลิตไฟฟ้าและไอน้ำ โดยการใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิง และจะผลิตไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วมระบบ Combine Cycle ซึ่งเป็นระบบที่มีประสิทธิภาพสูง ทั้งนี้ ไฟฟ้าที่ผลิตได้จะจำหน่ายโดยตรงให้แก่ลูกค้าในกลุ่มอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด และนิคมอุตสาหกรรมตะวันออก
ปัจจุบันโครงการผลิตไฟฟ้าที่บีโอไอให้การส่งเสริมแล้ว มีจำนวน 87 โครงการ มีกำลังการผลิต รวมทั้งสิ้น 16,002 เมกะวัตต์ แยกเป็นไฟฟ้า IPP จำนวน 10 โครงการ กำลังการผลิตไฟฟ้ารวม 11,610 เมกะวัตต์ SPP จำนวน 77 โครงการ กำลังการผลิตไฟฟ้ารวม 4,392 เมกะวัตต์
กิจการผลิตพลังงานไฟฟ้า ของบริษัท กัลฟ์ เพาเวอร์ เจเนอเรชั่น จำกัด มูลค่าการลงทุน 36,120 ล้านบาท โดยจะทำการผลิตพลังงาน ขนาด 1,468 เมกะวัตต์ ตั้งโรงไฟฟ้าที่อำเภอแก่งคอย จังหวัดสระบุรี ส่งผลให้เกิดการจ้างแรงงานไทย 70 คน โดยจะใช้วัตถุดิบที่ผลิตในประเทศทั้งสิ้น คิดเป็นมูลค่ารวม 10,906 ล้านบาท/ปี และทำการผลิตเพื่อจำหน่ายไฟฟ้า IPP ทั้งหมดให้แก่ การไฟฟ้าฝ่ายผลิต (กฟผ.) สำหรับในส่วนของวัตถุดิบได้ทำสัญญาซื้อขายก๊าซธรรมชาติกับทางบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) แล้ว
กิจการเขตอุตสาหกรรม ของบริษัท สวนอุตสาหกรรมโรจนะ จำกัด (มหาชน) ขอรับส่งเสริมขยายกิจการเขตอุตสาหกรรมพื้นที่ 2,550 ไร่ มูลค่าการลงทุน 2,639 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่ สวนอุตสาหกรรมโรจนะ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ส่งผลให้เกิดการจ้างแรงงานไทย 12 คน
ปัจจุบันบริษัทฯ มีพื้นที่เขตอุตสาหกรรมที่จังหวัดพระนครศรีอุธยา ประมาณ 4,200 ไร่ เหลือพื้นที่ขายประมาณ 400 ไร่ กลุ่มลูกค้าปัจจุบันส่วนใหญ่ ได้แก่ กลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ ชิ้นส่วนยานยนต์ สำหรับโครงการส่วนขยายนี้ บริษัทขอส่งเสริมเพื่อรองรับกลุ่มลูกค้าอุตสาหกรรมอาหารและชิ้นส่วนยายนต์--จบ--

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ