ตลาดหุ้นกว่า 10 แห่งร่วมแสดงศักยภาพ ในการประชุมสมาชิกสมาพันธ์ตลาดหุ้นเอเชียตะวันออกฯ ครั้งที่ 21

ข่าวทั่วไป Monday March 25, 2002 11:08 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--25 มี.ค.--ตลาดหลักทรัพย์ฯ
ตลาดหุ้น 14 ประเทศร่วมแสดงศักยภาพในการประชุม EAOSEF ประจำปีครั้งที่ 21 เผยตลาดหุ้นออสเตรเลียและสิงคโปร์รับการซื้อขายข้ามตลาดให้ประโยชน์กับตลาดหุ้น ด้านตลาดหุ้นออสเตรเลียประสบความสำเร็จอย่างสูงด้านการสร้างฐานผู้ลงทุน โดยปัจจุบันมีผู้ลงทุนถึงร้อยละ 52 ของประชากรวัยทำงาน ในขณะที่ตลาดหุ้นฮ่องกงหลังแปรรูปทำให้บริษัทจดทะเบียนระดมทุนได้สะดวกและรวดเร็วขึ้นอย่างมาก ส่วนตลาดหุ้นไทยได้รับความสนใจในฐานะที่เสถียรภาพระดับราคาอยู่ในเกณฑ์ดี พร้อมเสนอแผนงานปี 2544 และ 2545 แผนแม่บทการพัฒนาตลาดทุนและการผลักดันเรื่องการกำกับดูแลกิจการที่ดี
นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ในวันนี้ (21 มีนาคม 2545) ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยได้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสมาพันธ์ตลาดหลักทรัพย์แห่งเอเชียตะวันออกและโอเชียเนีย หรือ East Asia and Oceanian Securities Exchange Federation (EAOSEF) ครั้งที่ 21 ซึ่งสมาชิกของ EAOSEF ได้แก่ตลาดหลักทรัพย์จำนวน 15 แห่งจาก 12 ประเทศ ได้แก่ ประเทศออสเตรเลีย ฮ่องกง อินโดนีเซีย เกาหลี มาเลเซีย นิวซีแลนด์ ญี่ปุ่น ฟิลิปปินส์ สาธารณรัฐประชาชนจีน สิงคโปร์ ไต้หวัน และประเทศไทย ทั้งนี้ ประเทศที่มีตลาดหลักทรัพย์มากกว่า 1 แห่ง ได้แก่ ประเทศญี่ปุ่น จีน และอินโดนีเซีย สำหรับสมาชิกที่เข้าร่วมประชุมในครั้งนี้มาจากตลาดหลักทรัพย์จำนวน 14 แห่ง โดยสมาชิกที่ไม่ได้เข้าร่วมการประชุมคือตลาดหลักทรัพย์โอซากา ประเทศญี่ปุ่น
"การประชุมในปีที่ 21 นี้ถือได้ว่าเป็นปีที่สำคัญเพราะเป็นปีที่สมาพันธ์กำลังก้าวเข้าสู่ทศวรรษที่ 3 การประชุมมีวัตถุประสงค์เพื่อยืนยันสัมพันธภาพและความร่วมมือระหว่างสมาชิก รวมทั้ง ได้มีการกำหนดเกณฑ์ที่จะรับสมาชิกใหม่ โดยมีเงื่อนไขว่าจะต้องเป็นตลาดหลักทรัพย์ที่มีระบบการซื้อขาย และมีระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับบริษัทสมาชิก และบริษัทจดทะเบียนที่ได้มาตรฐาน นอกจากนี้ ยังได้มีการแลกเปลี่ยนความก้าวหน้าของตลาดหลักทรัพย์แต่ละแห่ง มีการนำเสนอข้อคิดเห็นและประเด็นที่เป็นความเปลี่ยนแปลงที่สำคัญในตลาดทุนโลกหลายประเด็น"
"ประเด็นสำคัญได้แก่ การซื้อขายข้ามตลาด (Dual Listing) ซึ่งตลาดหลักทรัพย์ออสเตรเลียและตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์ ได้รายงานถึงความสำเร็จของการดำเนินการที่เริ่มมาตั้งแต่วันที่ 20 ธันวาคม 2544 ที่ผ่านมาว่ามีความราบรื่น และการซื้อขายข้ามตลาดดังกล่าวเป็นประโยชน์ในด้านที่ทำให้ตลาดหุ้นทั้ง 2 แห่งมีรายได้จากการซื้อขายแต่ละรายการ ส่วนประโยชน์ต่อบริษัทสมาชิกของตลาดหลักทรัพย์แต่ละแห่งนั้น ยังเป็นเวลาที่เร็วเกินไปที่จะวัดผลได้เนื่องจากเพิ่งเริ่มดำเนินการ อย่างไรก็ตาม การซื้อขายข้ามตลาดถือว่ายังเป็นเรื่องที่ใหม่มาก สำหรับการพัฒนาตลาดหลักทรัพย์นั้น ประเทศไทยเองก็ถือได้ว่าอยู่ซึ่งขณะนี้ประเทศไทยมีคณะทำงานที่ศึกษาในเรื่องดังกล่าวอยู่แล้ว" นายกิตติรัตน์กล่าว
นอกจากนี้ สมาพันธ์ฯได้มีการหารือเกี่ยวกับการลดระยะเวลาการส่งมอบและชำระราคาหลักทรัพย์ให้เร็วขึ้น จากเดิมที่ตลาดหลักทรัพย์ส่วนใหญ่มีกำหนดวันส่งมอบในวันทำการที่ 3 หรือ T+ 3 โดยสมาพันธ์ได้ติดตามศึกษาเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว และมั่นใจว่าหากมีการเปลี่ยนแปลงในระดับโลกในอนาคต ตลาดหุ้นสมาชิกจะมีความเข้าใจและมีความพร้อมในการจัดระบบการทำงานให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของตลาดทุนในโลกตะวันตกได้
"สำหรับตลาดหลักทรัพย์ที่มีการรายงานข้อมูลที่น่าสนใจได้แก่ ตลาดหลักทรัพย์ออสเตรเลีย ซึ่งประสบความสำเร็จอย่างสูงในการสร้างฐานผู้ลงทุนที่เข้มแข็ง โดยประชาชนประเทศออสเตรเลียที่อยู่ในวัยทำงานหรือวัยเกษียณนั้น มีการลงทุนทุนในหุ้นทั้งโดยตรงและโดยอ้อมมากกว่าร้อยละ 52 โดยคิดเป็นจำนวน 7.4 ล้านคนเมื่อเทียบกับประชาชนในวัยดังกล่าวที่มีจำนวน 14.2 ล้านคน โดยในแต่ละปี ตลาดหลักทรัพย์ออสเตรเลียได้เป็นหน่วยงานหลักในการจัดโครงการอบรมให้ความรู้แก่ผู้ลงทุนถึง 120,000 ราย ซึ่งถือเป็นความสำเร็จที่ควรศึกษาและดำเนินการเป็นอย่างยิ่ง" นายกิตติรัตน์กล่าว
ด้านตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกงซึ่งมีการแปรรูปเป็นเอกชนแล้ว ปรากฏว่ามีกลไกที่ทำให้บริษัทจดทะเบียนสามารถระดมทุนได้เป็นอย่างดี โดยในปี 2544 ที่ผ่านมา ปริมาณการระดมทุนของบริษัทจดทะเบียน มีมากกว่าการระดมทุนของบริษัทเข้าใหม่โดยการขายหุ้นต่อประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรกหรือ IPO ทั้งนี้ กลไกที่บริษัทใช้ในการระดมทุนคือการจำหน่ายหุ้นแบบเฉพาะเจาะจง (Private Placement) โดยมีการกำหนดราคาที่ไม่ก่อให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบ และดำเนินการได้อย่างรวดเร็ว
ส่วนประเทศเกาหลี ซึ่งหลังวิกฤตเศรษฐกิจได้เปิดโอกาสมีผู้ลงทุนต่างประเทศเข้ามาลงทุนได้โดยตรงโดยไม่จำกัดเพดานการลงทุนนั้น ได้ทำให้มีเงินทุนไหลเข้าจำนวนมาก ส่งผลให้ราคาหุ้นในตลาดหุ้นเกาหลีสูงขึ้น โดยปัจจุบันมีสัดส่วนของผู้ลงทุนต่างประเทศถึงร้อยละ 36 ของมูลค่าหลักทรัพย์รวมตามราคาตลาด ซึ่งถือเป็นอัตราที่สูงเมื่อเทียบกับผู้ถือหุ้นท้องถิ่น
"ตลาดหุ้นสมาชิกล้วนให้ความสนใจเรื่องการกำกับดูแลกิจการที่ดีเป็นอย่างมาก เพราะถือว่าเป็นกลไกที่จะสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ลงทุนได้เป็นอย่างดี ส่วนตลาดหุ้นไทยเองได้มีการรายงานการดำเนินการในปี 2544 และช่วงต้นปี 2545 การดำเนินการตามแผนแม่บทเพื่อการพัฒนาตลาดทุนรวมทั้ง การเปลี่ยนแปลงช่วงราคา (Spread) การกำหนดค่าธรรมเนียมการซื้อขายขั้นต่ำ แนวทางการขยายฐานผู้ลงทุน งานการตลาดเพื่อรับบริษัทจดทะเบียนใหม่ทั้งบริษัททั่วไปและรัฐวิสาหกิจที่มีการแปรรูป เป็นต้น ทั้งนี้ ประเทศสมาชิกได้ให้ความสนใจและสอบถามเกี่ยวกับการดำเนินงานของตลาดหลักทรัพย์ไทยในฐานะเจ้าภาพ โดยตลาดหุ้นสมาชิกเห็นว่าตลาดหุ้นไทยมีเสถียรภาพราคาที่ดี โดยราคาหุ้นสามารถรักษาระดับอยู่ในเกณฑ์ต้น ๆ ซึ่งตลาดหลักทรัพย์ก็ได้มีการชี้แจงการดำเนินงานต่าง ๆ ให้ประเทศสมาชิกได้ทราบ" นายกิตติรัตน์สรุป
สำหรับปี 2546 จะเป็นการประชุม EAOSEF ครั้งที่ 22 ที่กรุงเซี่ยงไฮ้ ในราวเดือนมีนาคมถึงพฤษภาคม ซึ่งในช่วงเวลา 1 ปีจากนี้ คณะทำงานจะมีการศึกษาในเรื่องต่าง ๆ โดยตลอด และนำเรื่องต่าง ๆ มาสรุปอย่างเป็นทางการในการประชุมในปีต่อไป รวมทั้ง จะมีการแลกเปลี่ยนความเห็นเกี่ยวกับระเบียบข้อบังคับต่าง ๆ และระบบการซื้อขายที่จะเป็นประโยชน์กับสมาชิกทั้งหมดด้วย
ต้องการข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อ ฝ่ายสื่อสารองค์กร ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
ลดาวัลย์ กันทวงศ์ โทร. 0-2229-2036 / กุลวิดา จินตกะวงส์ โทร. 0-2229-2037 / จิวัสสา ติปยานนท์โทร. 0-2229-2039--จบ--
-อน-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ