กรุงเทพฯ--30 ส.ค.--เบรนเอเซีย คอมมิวนิเคชั่น
สถาบันรหัสสากล แถลงผลดำเนินงาน เชิญ 5 กูรู ร่วมเสวนา การตรวจสอบย้อนกลับ...จับมือ 8 องค์กร พัฒนารหัสยาและเฮลท์แคร์ของไทย จากผู้ผลิต จนถึง คนไข้
ในโอกาสการประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2554 ของสถาบันรหัสสากล (GS1 Thailand) สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย แถลงผลดำเนินงานส่งเสริมมาตรฐาน GS1 ที่แพร่หลายที่สุดในโลก โดยให้คำปรึกษาเกี่ยวกับการนำเทคโนโลยีบาร์โค้ดมาประยุกต์ใช้งาน เนื่องจากบาร์โค้ดมิใช่เพียงเครื่องมือนำสินค้าเข้าห้างเท่านั้น แต่เป็นเทคโนโลยีที่ช่วยให้ธุรกิจไทยก้าวไกลไปทั่วโลกด้วยมาตรฐาน GS1 รหัสสินค้าสากลที่นำพาสินค้าและบริการไปทุกแห่งหนได้ด้วยภาษาสากลเดียวกันที่ใช้กันในกว่า 150 ประเทศ เผยธุรกิจเอสเอ็มอีและอุตสาหกรรมต้องตื่นตัวกับการตรวจสอบย้อนกลับGS1 Global Traceability และมาตรฐานด้านสุขภาพ GS1 Healthcare เนื่องจากความต้องการของผู้บริโภคและตลาดโลกวันนี้และอนาคตที่ให้ความสำคัญกับคุณภาพและความปลอดภัยและที่มาของสินค้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งธุรกิจอาหาร ผลิตภัณฑ์เกษตร และเฮลท์แคร์
นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธานสถาบันรหัสสากล (GS1 Thailand) กล่าวว่า การตรวจสอบย้อนกลับ (Global Traceability Standard) และมาตรฐานสุขภาพ GS1 Healthcare จะสามารถเสริมสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชน พร้อมไปกับตอบสนองความต้องการของธุรกิจคู่ค้าและตลาดทั้งในปัจจุบันและอนาคตได้เป็นอย่างดี เตรียมความพร้อมธุรกิจอุตสาหกรรมไทยสู่เวทีโลก ตลอดจนร่วมผลักดันให้ประเทศไทยเป็นครัวของโลก (Kitchen of the world) และการเป็นศูนย์กลางสุขภาพและการแพทย์ (Medical Hub) ที่มีคุณภาพอย่างแท้จริง สถาบันรหัสสากล (GS1 Thailand) ปัจจุบันมีสมาชิกเป็นธุรกิจองค์กรต่างๆจำนวน 8,875 ราย สถาบันฯเห็นถึงความจำเป็นและได้มุ่งเน้นส่งเสริมมาตรฐานการตรวจสอบย้อนกลับ( Traceability) ที่ทั่วโลกต่างเห็นความสำคัญมากขึ้น โดยการกำหนดหมายเลขรหัสสินค้าสากล( GTIN — Global Trade Item Number )ที่ไม่ซ้ำซ้อนกับใครในโลกและเก็บข้อมูลรายละเอียดสินค้า เช่น ที่มาแหล่งของสินค้า คุณสมบัติ ส่วนประกอบ วันหมดอายุ เป็นต้นไว้ ภายใต้รหัสที่ใช้เป็นภาษาเดียวกันตลอดกระบวนซัพพลายเชน ตั้งแต่ฟาร์มเกษตรผู้ปลูก โรงงานผู้ผลิต ผู้ค้าส่ง ผู้นำเข้า ร้านค้าปลีก ร้านอาหาร ที่ทำให้สามารถสื่อสารและตรวจสอบย้อนกลับถึงแหล่งที่มาของสินค้า ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำและยังสามารถเรียกสินค้าคืนได้อย่างรวดเร็วกรณีที่สินค้ามีปัญหา
ในการเสวนา : การตรวจสอบย้อนกลับ GS1 Global Traceability ช่วยเสริมสร้างความปลอดภัยในผลิตภัณฑ์อาหารได้อย่างไร พันเอกหญิง มัทนา โอสถหงส์ ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด สหกรณ์การเลี้ยงปศุสัตว์ กรป.กลาง โพนยางคำ จำกัด เจ้าของแบรนด์เนื้อวัวโพนยางคำ กล่าวว่า “ เราได้ร่วมมือกับสถาบันรหัสสากล พัฒนาโครงการนำร่องต้นแบบสืบย้อนกลับด้วยการประยุกต์ใช้มาตรฐานสากล GS1 ถือเป็นเครื่องมือช่วยยกระดับขีดความสามารถด้านการแข่งขันในอุตสาหกรรมอาหาร และยังเป็นการเพิ่มศักยภาพในการส่งออก ด้วยการพัฒนาระบบการตรวจสอบย้อนกลับเนื้อโค เชื่อมโยงไปถึงการบ่งชี้ของซากวัว, เนื้อโคที่แบ่งเป็นหลายๆ ชิ้น และการบ่งชี้ถึงแหล่งที่มาของสัตว์แต่ละตัวหรือทั้งฝูง จากเลขหมายอ้างอิง (reference number) หรือ รหัสอ้างอิง (reference code) ที่ใช้ในกระบวนการตรวจสอบย้อนกลับ เพื่อใช้ในการเชื่อมโยงระหว่างชิ้นเนื้อโคกับโคแต่ละตัว ,แหล่งกำเนิด , แหล่งที่เลี้ยงสัตว์ , โรงฆ่าสัตว์ ,สถานที่ตัดแต่ง หรือแปรรูป ,เลขที่ใบอนุญาตของโรงฆ่าสัตว์หรือ สถานที่ตัดแต่งเนื้อสัตว์ โดยการนำเลขหมายบ่งชี้ GS1 System มาแปลงเป็น 1D หรือ 2D Barcode และใช้ร่วมกับเลขหมายอิเล็กทรอนิกส์ EPCIS นี้ ในการตรวจสอบย้อนกลับได้ทั่วโลก โดยใช้การสแกนบาร์โค้ด ร่วมกันได้กับทุกบริษัท “
ผลิตภัณฑ์นมถั่วเหลืองไวตามิลค์ โดยนายธรรมศักดิ์ จิตติมาพร กรรมการผู้จัดการ ได้เผยว่า บ.กรีนสปอต จก.ได้ตกลงกับสถาบันรหัสสากล ที่จะพัฒนาระบบตรวจสอบย้อนกลับตามมาตรฐาน GS1 Global Traceability Standard ในสินค้าเครื่องดื่มไวตามิลค์ เพื่อเสริมสร้างความมั่นใจในคุณภาพแก่ผู้บริโภค สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ว่า ไวตามิลค์ที่ดื่มอยู่นั้น ใช้เมล็ดถั่วเหลืองจากไหน พันธุ์อะไร ปลูกที่จังหวัดไหน กระบวนการเก็บเกี่ยวเป็นเช่นไร มาจนถึงไลน์การผลิต และการจำหน่ายไปยังผู้บริโภค นับเป็นประโยชน์ต่อการบริหารจัดการภายในบริษัท ผู้ผลิต ผู้จำหน่าย ผุ้ค้าส่ง ร้านค้าปลีก ไปจนถึงมือผู้บริโภค รวมทั้งการรับรองระบบการตรวจสอบย้อนกลับตามมาตรฐานสากล GS1 ซึ่งใช้แพร่หลายในกว่า 150 ประเทศ จะช่วยเปิดประตูการค้าสู่เวทีโลกได้กว้างขึ้น ทำให้ลูกค้าในนานาประเทศมั่นใจในแบรนด์และที่มาของผลิตภัณฑ์มากยิ่งขึ้น มาตรฐานตรวจสอบย้อนกลับ GS1 Global Traceability Standard ดังกล่าวยังสามารถพัฒนาต่อยอดร่วมกับเทคโนโลยีอื่นๆ ได้ในอนาคต ไม่ว่าจะเป็น EPC/RFID GDSN และเทคโนโลยีการสแกนบาร์โค้ดด้วยโทรศัพท์มือถือ(GS1 MobileCom) เป็นต้น
ในการเสวนา เรื่อง “เลขรหัสสินค้าสากล(GTIN)เพื่อความปลอดภัยและประสิทธิภาพในซัพพลายเชนด้านสุขภาพ” นายแพทย์สุธี ทุวิรัตน์ กรรมการบริหารสมาคมเวชศาสตร์สารสนเทศไทย ( TMI —Thai Medical Informatics Association) ) กล่าวว่า “ธุรกิจอุตสาหกรรมเฮลท์แคร์ของไทยมีมูลค่าปีละหลายแสนล้านบาทและมีความสำคัญต่อสุขภาพและความมั่นคงของประเทศไทย ธุรกิจเฮลท์แคร์ทั้งระบบ มีขั้นตอนของการผลิตยา นำเข้าสารเคมีวัตถุดิบ ไลน์การผลิต การจัดจำหน่าย ค้าส่ง ค้าปลีก ร้านค้าย่อย โรงพยาบาล ซึ่งในโรงพยาบาลก็มีกระบวนการหลายขั้นตอนตั้งแต่การรับคนไข้ เวชระเบียน การตรวจวินิจฉัย บำบัดรักษา จนถึงการสั่งจ่ายยา การบริการรักษาพยาบาล นับว่าซับซ้อนและผ่านบุคลากรจำนวนมาก ทำให้เกิดข้อผิดพลาดในการรักษาพยาบาลผู้ป่วยได้ง่าย ในสหรัฐอเมริกามีข้อผิดพลาดเกิดขึ้นปีละกว่า 1 แสนราย ดังนั้นการยกระดับธุรกิจอุตสาหกรรมเฮลท์แคร์ในประเทศไทยด้วยมาตรฐาน GS1 Healthcare จึงเป็นประโยชน์อย่างยิ่งเพื่อคุณภาพ ประสิทธิภาพ ความถูกต้องและความปลอดภัย ไม่ว่าจะเป็นผู้ผลิตยา ผู้นำเข้า ผู้ส่ออก ผู้ค้าส่ง ร้านค้าปลีก โรงพยาบาล ร้านขายยา คลินิก จนถึงคนไข้
นางพิชญา วัชโรทัย ผู้อำนวยการ สถาบันรหัสสากล (GS1 Thailand) กล่าวถึง จากการศึกษาพบว่าปัญหาที่ซัพพลายเชนในระบบเฮลท์แคร์ของไทยเผชิญอยู่ คือ 1.ข้อผิดพลาดในการรักษาพยาบาล (Medication Errors) 2 การตรวจสอบย้อนกลับ (Traceability) จากผู้ผลิต ถึง ผู้ป่วย ไม่สามารถทำได้ 3.ทำระบบข้อมูลด้วยคนมากเกินไป และไม่เป็นสากล 4.การปลอมแปลงสินค้า (Counterfieting) ดังนั้นโครงการนำร่อง GS1 Thailand HUG TM หรือ Thailand Healthcare User Group ซึ่งเป็นโครงการระดับประเทศที่จะช่วยลดปัญหาดังกล่าว ยกระดับเฮลท์แคร์และคุณภาพชีวิตของคนไทย ตลอดจนการก้าวไปสู่การเป็น Medical Hub ที่มีคุณภาพแท้จริงได้ ทั้งนี้ สถาบันรหัสสากล ได้ร่วมมือกับอีก 8 องค์กรชั้นนำในประเทศไทย ได้แก่ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล, คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี, คณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยขอนแก่น, คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล, องค์การเภสัชกรรม, โรงพยาบาลกรุงเทพ, ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ, บริษัท เนชั่นแนล เฮลท์แคร์ ซิสเท็มส์ จำกัด เพื่อประสานความร่วมมือโดยเริ่มจากพัฒนารหัสมาตรฐานยาและเวชภัณฑ์ใน ซัพพลายเชนเฮลท์แคร์ของประเทศไทย ตั้งแต่ ผู้ผลิตยา ผู้นำเข้า ผู้ค้าส่ง โรงพยาบาล ร้านขายยา เพื่อความปลอดภัยของผู้ป่วยและประสิทธิภาพในบริการทางด้านสุขภาพ
รศ.ดร.ดวงพรรณ กริชชาญชัย ศฤงคารินทร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า โครงการนำร่อง GS1 Thailand HUG TM ในเฟสแรก เป้าหมาย คือ การพัฒนารหัสยามาตรฐาน (Standard Code) ที่มียาและเวชภัณฑ์นับแสนชนิดให้มีตัวบ่งชี้ด้วยเลขรหัสสินค้าสากลที่ไม่ซ้ำซ้อน (GTIN — Global Trade Item Number ) พร้อมเก็บรายละเอียดของเวชภัณฑ์นั้นๆ ซึ่งเครื่องสแกนบาร์โค้ดสามารถอ่านได้ และทำฐานข้อมูลกลาง (Data Pool ) ซึ่งต่อไปในอนาคตจะเป็นข้อมูลกลางให้ 3 ส่วนสามารถตรวจสอบและใช้ข้อมูลได้ คือ ประชาชนผู้บริโภคสามารถตรวจสอบข้อมูลได้ว่ายาที่ตนเองจะรับประทานนั้นถูกต้องไหม มีคุณสมบัติอย่างไร , กลุ่มซัพพลายเชนสุขภาพ สามารถบริหารจัดการและสื่อสารด้วยภาษารหัสมาตรฐานเดียวกัน และ กลุ่มโลจิสติกส์ สามารถควบคุมสต๊อก การสั่งสินค้า และการขนส่งได้อย่างมีประสิทธิภาพ แม่นยำและถูกต้อง
ในโอกาสนี้ สถาบันรหัสสากล ยังได้ลงนามความร่วมมือเอ็มโอยู กับ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบังในการร่วมศึกษาวิจัยเพื่อพัฒนาศักยภาพและขีดความสามารถของธุรกิจอุตสาหกรรมของไทยด้วย
นับเป็นอีกหนึ่งของการผนึกกำลังเพื่อพัฒนาธุรกิจที่ยั่งยืนและคุณภาพชีวิตของคนไทย
PR AGENCY : บ.เบรนเอเซีย คอมมิวนิเคชั่น จำกัด
Tel. : ประภาพรรณ 02-911-3282 (5 Auto Lines) Fax 02-911-3208
Email : brainasiapr@hotmail.com