ศอส. เตือน 9 จังหวัดเฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก 4 จังหวัดรับมือน้ำล้นตลิ่ง

ข่าวทั่วไป Tuesday August 30, 2011 14:53 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--30 ส.ค.--ศอส. ศอส. รายงานยังคงมีสถานการณ์อุทกภัยใน 11 จังหวัด พร้อมเตือน 9 จังหวัด ได้แก่ สุโขทัย พิจิตร พิษณุโลก นครสวรรค์ พระนครศรีอยุธยา อ่างทอง ชัยนาท อุบลราชธานี พังงา ระนอง และสุราษฎร์ธานี เฝ้าระวังสถานการณ์น้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และ 4 จังหวัด ในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ได้แก่ ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง และพระนครศรีอยุธยา เตรียมพร้อมรับมือภาวะน้ำล้นตลิ่ง ทั้งนี้ ได้เน้นย้ำ ให้จังหวัดเร่งสำรวจความต้องการน้ำดื่มสะอาดของประชาชนในพื้นที่ รวมถึงสนับสนุนข้อมูลพื้นที่การเกษตรที่ได้รับความเสียหายจากน้ำท่วม นายวิบูลย์ สงวนพงศ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย รองผู้อำนวยการศูนย์สนับสนุนการอำนวยการและการบริหารสถานการณ์อุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม (ศอส.) เปิดเผยว่า มีจังหวัดประสบสถานการณ์อุทกภัยและประกาศเป็นพื้นที่ประสบภัยพิบัติฉุกเฉิน จำนวน 36 จังหวัด 280 อำเภอ 1,866 ตำบล 15,410 หมู่บ้าน ราษฎรเดือดร้อน 1,130,281 ครัวเรือน 3,871,098 คน สถานการณ์อุทกภัยคลี่คลายแล้วอยู่ระหว่างการฟื้นฟู 25 จังหวัด ปัจจุบันยังคงมีสถานการณ์อุทกภัยใน 11 จังหวัด รวม 52 อำเภอ 363 ตำบล 2,132 หมู่บ้าน ราษฎรเดือดร้อน 109,281 ครัวเรือน 334,895 คน ได้แก่ สุโขทัย พิจิตร พิษณุโลก นครสวรรค์ พระนครศรีอยุธยา อ่างทอง ชัยนาท อุบลราชธานี พังงา ระนอง และสุราษฎร์ธานี ผู้เสียชีวิต 54 ราย ผู้สูญหาย 1 คน พื้นที่การเกษตรคาดว่าจะเสียหาย 3,370,446 ไร่ พื้นที่เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ คาดว่าจะเสียหาย 45,931 ไร่ ปศุสัตว์ได้รับผลกระทบ 2,067,271 ตัว น้ำท่วมเส้นทางคมนาคมเสียหาย ทางหลวงไม่สามารถสัญจรผ่านได้ 3 สาย ใน 2 จังหวัด ดังนี้ สุโขทัย 2 สาย น่าน 1 สาย ทางหลวงชนบทไม่สามารถสัญจรผ่านได้ 19 สาย ใน 7 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ 3 สาย นครสวรรค์ 6 สาย พิจิตร 4 สาย พิษณุโลก 1 สาย นครพนม 2 สาย ระยอง 2 สาย ระนอง 1 สาย สถานบริการสาธารณสุข ได้รับผลกระทบ 50 แห่ง บ่อน้ำบาดาลเสียหาย 7,818 บ่อ สำหรับสถานการณ์น้ำล้นตลิ่งในลุ่มน้ำต่างๆ ที่ต้องเฝ้าระวัง เนื่องจากระดับน้ำมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ได้แก่ ลุ่มน้ำยม ที่อำเภอบางระกำ จังหวัด พิษณุโลก ระดับน้ำยังสูงกว่าตลิ่ง 3 เมตร อำเภอโพธิ์ทะเล จังหวัดพิจิตร ลุ่มน้ำน่าน ที่อำเภอชุมแสง จังหวัดนครสวรรค์ และลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง ที่อำเภอบางบาล จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ส่วนพื้นที่ที่ภาวะน้ำล้นตลิ่งมีแนวโน้มลดลง ได้แก่ ลุ่มน้ำยม ที่อำเภอศรีสำโรง จังหวัดสุโขทัย ลุ่มน้ำน่าน ที่อำเภอเมืองพิษณุโลก จังหวัดพิษณุโลก ลุ่มน้ำป่าสัก ที่อำเภอวิเชียรบุรี จังหวัดเพชรบูรณ์ ลุ่มน้ำชี ที่อำเภอเมืองยโสธร อำเภอมหาชนะชัย จังหวัด ยโสธร ขณะที่ระดับน้ำในแม่น้ำโขงเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ส่งผลให้จังหวัดหนองคาย บึงกาฬ และจังหวัดในพื้นที่ใกล้เคียง ได้รับผลกระทบจากการระบายน้ำ ลงสู่แม่น้ำโขงในระยะ 1 — 2 วันนี้ นายวิบูลย์ กล่าวต่อไปถึงการคาดหมายลักษณะอากาศ ว่า พื้นที่ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จะมีฝนตกชุกต่อเนื่อง จึงขอเตือน ให้ประชาชนที่อาศัยในพื้นที่เสี่ยงภัย ตามที่ลาดเชิงเขาและใกล้ทางน้ำไหลผ่านของ 9 จังหวัด ได้แก่ แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ ลำปาง แพร่ น่าน สุโขทัย เลย อุดรธานี และหนองคาย ระมัดระวังอันตรายจากภาวะฝนตกหนักที่ทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน และน้ำป่าไหลหลากในระยะนี้ โดยเตรียมพร้อมรับมือและ หมั่นสังเกตสัญญาณความผิดปกติทางธรรมชาติ จะได้อพยพหนีภัยได้อย่างทันท่วงที ขณะที่จากการประสานสถานการณ์น้ำในแม่น้ำเจ้าพระยากับ กรมชลประทาน พบว่า ปริมาณน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาที่จังหวัดนครสวรรค์มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น อยู่ในเกณฑ์สูงสุดประมาณ 2,500 — 2,600 ลบ.ม./วินาที จึงต้องใช้ระบบชลประทานในการควบคุมปริมาณน้ำที่ไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยาให้อยู่ในเกณฑ์ไม่เกิน 2,000 — 2,100 ลบ.ม./วินาที ส่งผลให้พื้นที่ลุ่มต่ำ ริมสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาตั้งแต่บริเวณท้ายเขื่อนเจ้าพระยาลงมา ได้แก่ ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง และพระนครศรีอยุธยา ได้รับผลกระทบจากภาวะ น้ำล้นตลิ่ง โดยระดับน้ำจะเพิ่มสูงขึ้นประมาณ 50 เซนติเมตร ในช่วงระยะเวลาสั้นๆ ยกเว้นอำเภอบางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ที่ระดับน้ำจะเพิ่มสูงขึ้น 5 เซนติเมตร ศอส. จึงขอให้ประชาชนที่อาศัยในพื้นที่ดังกล่าวเตรียมพร้อมรับมือภาวะน้ำล้นตลิ่ง โดยเสริมกระสอบทรายเป็นแนวคันกั้นน้ำ และขนย้ายสิ่งของมีค่าขึ้นที่สูง พร้อมเฝ้าระวังติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด ทั้งนี้ ศอส. ได้กำชับให้ 9 จังหวัดในพื้นที่ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือซึ่งเสี่ยงภัยน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และ 4 จังหวัด ในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาที่เสี่ยงภาวะน้ำล้นตลิ่ง เพิ่มมาตรการเฝ้าระวังอย่างเข้มข้น โดยจัดเจ้าหน้าที่ติดตามสถานการณ์และตรวจสอบระดับน้ำ เป็นระยะอย่างสม่ำเสมอ เพื่อแจ้งเตือนภัยได้อย่างรวดเร็วและทันท่วงที พร้อมเน้นย้ำให้จังหวัดในพื้นที่ประสบภัยเร่งสำรวจความต้องการน้ำดื่มสะอาด ของ ประชาชนในพื้นที่ หากไม่เพียงพอให้แจ้ง ศอส. เพื่อประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ความช่วยเหลือต่อไป รวมถึงสนับสนุนข้อมูลพื้นที่การเกษตร ที่ได้รับความเสียหายจากน้ำท่วมให้เกษตรจังหวัด เพื่อประกอบการพิจารณาให้ความช่วยเหลือเกษรตรเพิ่มเติมจากที่ได้รับความช่วยเหลือไปแล้ว ทั้งนี้ ได้เน้นย้ำให้กระทรวงสาธารณสุขเฝ้าระวังโรคระบาดที่มากับน้ำ เช่น โรคตาแดง โรคฉี่หนู โรคน้ำกัดเท้า โรคอุจจาระร่วง โรคมือเท้าปากเปื่อย โดยเฉพาะ ในจังหวัดที่น้ำท่วมขังเป็นเวลานาน พร้อมสำรองวัสดุและเคมีภัณฑ์สำหรับฟื้นฟูสภาพแวดล้อมเพื่อสนับสนุนแก่จังหวัดที่สถานการณ์เริ่มคลี่คลาย

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ