การเฝ้าระวังปรากฏการณ์เอลนีโญ ฉบับที่ 2/2545 ออกประกาศวันที่ 11 มีนาคม 2545

ข่าวทั่วไป Tuesday April 2, 2002 11:40 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--2 เม.ย.--กรมอุตุนิยมวิทยา
ลักษณะทั่วไป
มวลน้ำอุ่นตั้งแต่ระดับผิวน้ำถึงความลึกประมาณ 200 เมตรในมหาสมุทรแปซิฟิกเขตร้านตะวันตก ซึ่งได้เริ่มเคลื่อนไปทางแปซิฟิกเขตร้อนตะวันออกตั้งแต่ช่วงปลายปี 2544 ได้เคลื่อนถึงชายฝั่งบริเวณประเทศเอกวาดอร์และเปรูตอนบนแล้วตั้งแต่ในช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2545 แต่ในขณะที่เคลื่อนถึงชายฝั่งบริเวณประเทศดังกล่าว ทั้งพื้นที่และอุณหภูมิของมวลน้ำอุ่นนี้ก็ได้ลดน้อยลง อย่างไรก็ตามลักษณะดังกล่าวส่งผลให้อุณหภูมิผิวน้ำทะเลบริเวณชายฝั่งประเทศเอกวาดอร์และเปรูตอนบนได้สูงขึ้นกว่าปกติเกินกว่า 1 องศาเซลเซียสช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2545
สถานการณ์ปัจจุบัน
จากลักษณะทั่วไปดังกล่าวข้างต้น บ่งชี้ว่ามหาสมุทรแปซิฟิกเขตร้อนเริ่มมีการพัฒนาเป็นปรากฏการณ์เอลนีโญ
การคาดหมาย
คาดว่า มหาสมุทรแปซิฟิกเขตร้อนจะยังคงใช้ระยะเวลาอีกประมาณ 2 ถึง 3 เดือนข้างหน้าในการพัฒนาจนเป็นปรากฏการณ์เอลนีโญ และมีแนวโน้มว่าเอลนีโญที่จะเกิดขึ้นจะเป็นเพียงกำลังอ่อนในระยะแรก อย่างไรก็ตาม มีบางปัจจัยที่ยังไม่เกื้อหนุนต่อการพัฒนาของเอลนีโญในครั้งนี้ ดังนั้นการพัฒนาของเอลนีโญนี้อาจจะสิ้นสุดในช่วงระยะเวลาใดเวลาหนึ่งข้างหน้าได้
ผลกระทบที่จะมีต่อประเทศไทย
ลักษณะอากาศของประเทศไทยขณะนี้อยู่ในช่วงฤดูร้อน (กลางเดือนกุมภาพันธ์-กลางเดือนพฤษภาคม 2545) ซึ่งกรมอุตุนิยมวิทยาได้คาดว่าจะมีอากาศร้อนกว่าปกติเล็กน้อย ขณะที่จะมีฝนตกเป็นระยะๆ แต่ปริมาณฝนที่ตกในช่วงฤดูร้อนจะไม่เพียงพอต่อการอุปโภคและบริโภค รวมทั้งการเกษตรกรรม จึงควรมีการบริหารการใช้น้ำให้ได้ประโยชน์สูงสุด
และจากการคาดการณ์ว่าอาจจะเกิดปรากฏการณ์เอลนีโญในระยะ 2 ถึง 3 เดือนข้างหน้าได้นั้ ช่วงฤดูร้อนที่เหลือในขณะนี้ (มีนาคม-กลางพฤษภาคม 2545) จึงอาจจะยังไม่ได้รับผลกระทบจากปรากฏการณ์ดังกล่าว และหากเอลนีโญได้เกิดขึ้นจริงตามที่คาด ผลกระทบที่จะมีต่อประเทศไทยคือ ถ้าเอลนีโญมีกำลังอ่อนจะส่งผลกระทบต่อลักษณธอากาศของประเทศไทยเพียงเล็กน้อย แต่หากมีกำลังปานกลางถึงรุนแรงก็จะมีผลกระทบชัดเจนขึ้น โดยจะทำให้ปริมาณฝนส่วนใหญ่ของประเทศไทยมีค่าน้อยกว่าปกติ
การเฝ้าระวัง
กรมอุตุนิยมวิทยา ได้มีการเฝ้าระวังการเกิดปรากฎการณ์เอลนีโญอย่างใกล้ชิด และจะเผยแพร่ข่าวความคืบหน้าให้ประชาชนได้ทราบเป็นระยะ ๆ จึงขอให้ติดตามข่าวจากกรมอุตุนิยมวิทยาอย่างใกล้ชิด
หมายเหตุ
การคาดหมายการเกิดปรากฎการณ์เอลนีโญ เป็นการคาดหมายจากแบบจำลองภูมิอากาศจากหลายสถาบันและคาดหมายเป็นระยะเวลายาวนานข้างหน้า จึงอาจคลาดเคลื่อนได้
***ดูรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับปรากฎการณ์เอลนีโญ-ลานีญา ได้ที่ www.tmd.go.th ภายใต้หัวข้อ "อุตุนิยมวิทยาน่ารู้" และหนังสืออุตุนิยมวิทยาเรื่อง "อากาศบ้านเรา"--จบ--
-อน-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ