กรุงเทพฯ--31 ส.ค.--สมาคมป้องกันการทารุณสัตว์แห่งประเทศไทย
สมาคมป้องกันการทารุณสัตว์แห่งประเทศไทย (TSPCA) โดยนายสวรรค์ แสงบัลลังค์ เลขาธิการสมาคมฯและคณะกรรมการ พร้อมผู้นำองค์กรคุ้มครองสวัสดิภาพสัตว์ภาคเอกชนในประเทศและต่างประเทศกว่า 20 องค์กร เข้าพบนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภา เพื่อขอความร่วมมือ ผลักดัน พ.ร.บ.ป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ...... ซึ่งเป็นร่างที่กรมปศุสัตว์ สมาคมป้องกันการทารุณสัตว์แห่งประเทศไทย (TSPCA) และสภาทนายความร่วมกันพัฒนา พร้อมนำเสนอเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา ซึ่งปัจจุบันได้บรรจุไว้ในวาระเรื่องด่วน 1 เดือน ก่อนที่จะมีการยุบสภาที่ผ่านมา นายสวรรค์ แสงบัลลังค์ เลขาธิการสมาคมฯและคณะกรรมการ เปิดเผยว่า เนื่องด้วยได้มีการส่งออกสุนัขที่ผิดกฎหมายไปจำหน่ายยังประเทศเพื่อนบ้านมาเป็นเวลายาวนาน ปัจจุบันสื่อมวลชนรายงานข่าวไปทั่วประเทศ ถึงการจับกุมผู้กระทำผิดส่งออกสุนัขอย่างผิดกฎหมายที่จังหวัดนครพนม ซึ่งได้มีประชาชนหลั่งไหลให้ความช่วยเหลือสัตว์ที่ถูกยึดได้ทั้งเงิน อาหาร ยารักษาโรค ฯลฯ เป็นจำนวนมาก และในขณะเดียวกันประชาชนทุกฝ่ายต่างเรียกร้องให้มี พ.ร.บ.ป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ขึ้นในสังคมไทย ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีกฎหมายแม่บทใดๆ มีเพียงกฎหมายซึ่งมีบทลงโทษเล็กๆ น้อยๆ จึงทำให้เกิดการทารุณสัตว์ขึ้นอย่างต่อเนื่องในประเทศ นำความเสื่อมเสียชื่อเสียงและภาพลักษณ์ให้แก่ประเทศไทยเลขาธิการสมาคม ฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า สมาคมป้องกันการทารุณสัตว์แห่งประเทศไทย (TSPCA) เป็นองค์กรที่ร่วมพัฒนาร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวร่วมกับกรมปศุสัตว์ สภาทนายความและภาคประชาชนทั่วประเทศ จากการสัมมนาครั้งใหญ่ เรื่อง “ถึงเวลาแล้วที่ประเทศไทยจะต้องมี พ.ร.บ.ป้องกันการทารุณสัตว์” จัดโดยสมาคมฯ ร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เมื่อ 2-3 ปีก่อน จนปัจจุบันร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวได้บรรจุไว้เป็นวาระเรื่องด่วน อนึ่ง ตามรัฐธรรมนูญปี พ.ศ. 2550 มาตร ๑๕๓ ได้กำหนดไว้ว่า เมื่อสภาผู้แทนราษฎรได้เปิดการประชุมภายหลังการเลือกตั้งแล้วเสร็จ คณะรัฐมนตรีชุดใหม่จะต้องทำการร้องขอ ซึ่งถ้าไม่มีการร้องขอจากคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ยืนยันไปยังสภาผู้แทนราษฎร ภายในกำหนด 60 วัน ร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวก็จะตกไป สาระสำคัญของ พ.ร.บ.ดังกล่าว โดยสรุปมีดังนี้
พ.ร.บ.นี้ครอบคลุมสัตว์บ้านและสัตว์เลี้ยง ที่เลี้ยงไว้เพื่อเป็นสัตว์บ้าน เพื่อใช้งาน เพื่อใช้เป็นอาหารและเพื่อใช้ในการแสดง อาทิ สุนัข แมว โค กระบือ ม้า สุกร เป็ด ไก่ ฯลฯ แต่ไม่รวมสัตว์ป่า
มีนิยามคำว่า ทำอย่างไรเรียกว่า “ทารุณ” และ “ไม่ทารุณ” ไว้ชัดเจนพร้อมระบุว่าอะไรคือ“สวัสดิภาพ” และ “ไม่มีสวัสดิภาพสำหรับสัตว์”
จัดตั้งคณะกรรมการป้องกันการทารุณและการจัดสวัสดิภาพสัตว์พร้อมกำหนดบทบาทหน้าที่และความรับผิดชอบของคณะกรรมการไว้ชัดเจน
มีการจัดตั้งองค์กรจัดสวัสดิภาพสัตว์และสถานสงเคราะห์สัตว์เพื่อสนับสนุนหน่วยงานภาครัฐและประชาชนในการป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพ
มีการกระจายอำนาจการบังคับใช้กฎหมายโดยไม่เจาะจงเฉพาะเจ้าหน้าที่ตำรวจอย่างเดียว โดยกำหนดบทบาทหน้าที่และความรับผิดชอบให้แก่พนักงานผู้ปฏิบัติตามกฎหมายไว้ชัดเจนเพื่อให้การปฏิบัติงานมีประสิทธิภาพสูงสุด
มีบทกำหนดโทษผู้กระทำผิดเพิ่มขึ้น เช่น ผู้ฝ่าฝืนต้องระวางโทษไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ สำหรับผู้เลี้ยงสัตว์ที่ปล่อยปละละเลยไม่ดูแลสวัสดิภาพสัตว์ ปรับไม่เกิน 20,000 บาท (กฎหมายปัจจุบันปรับ 1,000 บาท จำคุก 1 เดือน)
เพื่อให้มีกฎหมายสวัสดิภาพสัตว์เกิดขึ้น อันจะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนทั้งในแง่การพัฒนาสังคม จริยธรรมและเศรษฐกิจของประเทศ เลขาธิการสมาคมกล่าวทิ้งท้าย
สมาคมป้องกันการทารุณสัตว์แห่งประเทศไทย (TSPCA)
คุณอรุนฤดี พันขวง โทร.02 — 2362176, 02 — 2339044 แฟกซ์.02 — 2665104 http://www.thaispca.org
?
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร. 02-236-2176 สมาคมป้องกันการทารุณสัตว์แห่งประเทศไทย