ติวเข้มครู กศน. ...เสริมต่อแหล่งเรียนรู้วิทย์ตำบล

ข่าวทั่วไป Wednesday August 31, 2011 14:59 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--31 ส.ค.--สสวท. แม้ว่ารัฐบาลหลายยุคที่ผ่านมาจะกระจายและขยายโอกาสทางการศึกษาอย่างต่อเนื่อง ทั้งในและนอกระบบ แต่คนกลุ่มใหญ่บางส่วนต้องการพัฒนาและเรียนรู้เพิ่มเติม รวมไปถึงการสร้างความตระหนักทางวิทยาศาสตร์ให้แก่สังคมก็ยังเป็นสิ่งจำเป็น สถานศึกษา กศน. ตำบล ศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยจึงเป็นส่วนสำคัญที่เข้ามีมาบทบาทในส่วนนี้ สถาบัน ส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) จึงได้ดำเนินโครงการการพัฒนาแหล่งเรียนรู้ที่เน้นวิทยาศาสตร์ (แหล่งเรียนรู้ราคาถูกร่วมกับ กศน.) เพื่อกระตุ้น พัฒนาและส่งเสริมให้เยาวชนไทยตระหนักและเห็นคุณค่าของการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์และเทคโนโลยี และสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันได้ นอกจากนั้นยังมุ่งเพิ่มพูนทักษะและเปิดโลกทัศน์ของผู้เรียน สร้างประสบการณ์ใหม่ ๆ นอกชั้นเรียน รวมทั้งประสานความร่วมมือระหว่างชุมชน ภูมิปัญญาท้องถิ่นกับโรงเรียน เพื่อให้นักเรียนนำประสบการณ์จากการศึกษาจากภูมิปัญญาท้องถิ่นและจากสถานที่จริงนำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน และการเรียนในรายวิชาต่าง ๆ ขั้นสูง โครงการนี้จะนำร่องพัฒนาแหล่งเรียนรู้ร่วมกับ กศน. ตำบล จำนวน 4 แหล่งเรียนรู้ที่จังหวัดบุรีรัมย์ นครศรีธรรมราช สุโขทัยและฉะเชิงเทรา ได้แก่ กศน. ต. ไสหร้า อ. ฉวาง จ. นครศรีธรรมราช กศน. ต. โกตาพิ อ. ประโคนชัย จ.บุรีรัมย์ กศน. ต. เกาะขนุน อ. พนมสารคาม จ. ฉะเชิงเทรา และ กศน. ต. เมืองเก่า อ.เมือง จ.สุโขทัย ก่อนหน้านี้ สสวท. ได้เดินทางไปศึกษาและสำรวจแหล่งเรียนรู้ในการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน และประสานความร่วมมือระหว่างชุมชนภูมิปัญญาท้องถิ่นกับโรงเรียน และล่าสุดได้จัดการอบรมเชิงปฏิบัติการครูในสังกัด กศน. ระดับชั้นประถมศึกษา และมัธยมศึกษาตอนต้น ตามโครงการดังกล่าว เมื่อวันที่ 15 — 18 สิงหาคม 2554 ที่ผ่านมา ณ โรงแรมรอแยลเบ็ญจา สุขุมวิทซอย 5 กรุงเทพฯ กิจกรรมการอบรมประกอบด้วย การจัดกิจกรรมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ สู่การสร้างอาชีพในชุมชน กิจกรรมออกแบบเทคโนโลยี และอบรมการซ่อมสร้างประกอบคอมพิวเตอร์ ซึ่งมุ่งให้คุณครูที่ได้เข้ารับการอบรมนำความรู้ที่ได้ไปขยายผลต่ออย่างเป็นรูปธรรม มีการเลือกใช้สื่อการสอนที่หาได้ง่ายในชุมชน มีเทคนิคการจัดการเรียนรู้ที่เหมาะกับผู้เรียนและชุมชน เป็นต้น และเป็นที่น่ายินดีว่า คุณครูต่างก็ได้ตั้งใจเก็บเกี่ยวเนื้อหาจากการอบรมเพื่อนำไปใช้ที่ศูนย์ กศน. ของตนเองต่อ นายอัครพงษ์ มะเรืองศรี ศูนย์ กศน. อำเภอประโคนชัย จ. บุรีรัมย์ กล่าวว่า ปัญหาที่พบในการสอนวิทยาศาสตร์เกิดจากการขาดสื่อและอุปกรณ์ในการสอน เทคนิคเนื้อหาวิธีการที่ได้จากการอบรม สามารถนำไปประยุกต์และบูรณาการในการเรียนการสอนได้เยอะ ต่อไปจะนำไปเสนอโครงการจัดอบรมให้แก่ครู นักศึกษา และผู้สนใจ ในการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ คอมพิวเตอร์ เช่นเดียวกับนางวิราญา พรหมหนองเลา จากศูนย์ กศน. อำเภอประโคนชัย จ. บุรีรัมย์ ซึ่งเล่าว่า ศูนย์ ฯ ยังขาดแคลนสื่อการเรียนการสอน รวมทั้งความรู้เฉพาะด้านของครู กศน. ครูหนึ่ง คน ต้องรับผิดชอบทุกสาระวิชา ดังนั้น ครู กศน. จึงต้องได้รับการฝึกอบรมเพิ่มเติมหรือศึกษาต่อด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ การอบรมครั้งนี้สามารถนำไปแก้ปัญหาพื้นฐานในการสอนได้เป็นอย่างดี ทุกกิจกรรมเป็นการให้ความรู้ควบคู่กับการนำไปใช้ได้จริง กลับไปจะวางแผนไปใช้ในการเรียนการสอนในตำบลของตัวเอง อำเภอ และจังหวัด นายนิพันธ์ ยอดนิล ศูนย์ กศน. อ. พนมสารคาม จ.ฉะเชิงเทรา เล่าว่า ที่ศูนย์ของตนนั้นสื่อและวัสดุอุปกรณ์ไม่เพียงพอต่อผู้เรียน สื่อไม่ทันสมัย การอบรมครั้งนี้เน้นการปฏิบัติมากกว่าบรรยาย มีการฝึกทำงานเป็นกลุ่ม ทำให้มีส่วนร่วมทุกคน ได้ความรู้ในเรื่องของการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนโดยใช้สื่อที่หลากหลายและน่าสนใจ และสามารถนำความรู้ไปใช้ต่อ อนาคตอยากให้ สสวท. ส่งเสริมอย่างต่อเนื่องในเรื่องของการพัฒนาศักยภาพบุคลากร สนับสนุนสื่อ อุปกรณ์การสอน และงบประมาณในการจัดกิจกรรม นายธรรมรัตน์ นาควรรณ ศูนย์ กศน. อ. ฉวาง จ.นครศรีธรรมราช บอกว่า ประทับใจที่ได้รับการถ่ายทอดจากวิทยากรที่มีความรู้และประสบการณ์ ผู้เข้ารับการอบรมทุกคนได้มีส่วนร่วมในการทำกิจกรรมต่าง ๆ โดยจะนำความรู้กลับไปจัดทำแผนการเรียนรู้โดยให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการวางแผนจัดกระบวนการเรียนรู้ ทั้งนี้อยากให้ สสวท. ช่วยสนับสนุนสื่อ อุปกรณ์ และงบประมาณสำหรับจัดกระบวนการเรียนรู้ให้แก่ กศน. ตำบล เพื่อให้กลุ่มเป้าหมายในพื้นที่ได้เรียนรู้วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์และเทคโนโลยี นางพัชรพร ชัยวรรณ์ ศูนย์ กศน. อ.เมือง จ.สุโขทัย เล่าว่า ประทับใจวิทยากรและพี่เลี้ยง ที่ถ่ายทอดได้ชัดเจน มีความรู้ความสามารถที่สอดคล้องกับวิชาที่ครู กศน. ตำบลได้เห็นจุดเด่นและสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้เหมาะสมกับชุมชนจริงๆ และอยากให้ สสวท. จัดอบรมพัฒนาครู กศน. แบบนี้อีก เพื่อความต่อเนื่องและยั่งยืนของ กศน. ตำบลนำร่อง “ในการอบรมครั้งนี้ได้ทั้งกระบวนการคิด การทดลอง การปฏิบัติ นำไปขยายผลต่อผู้เรียนตามความเหมาะสมของชุมชน ที่ผ่านมานั้นครูยังขาดความรู้ความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน และขาดสื่อการเรียนการสอน หลังจากได้รับการฝึกอบรมครั้งนี้ทำให้ครูมีแนวทางในการจัดหาสื่อและทำสื่อการเรียนการสอนที่หาได้จากชุมชน โดยจะนำความรู้ที่ได้ไปจัดการเรียนการสอนใน กศน. ตำบลและจะขยายผลให้แก่คณะครูท่านอื่นๆ ทางด้านเทคนิคและรูปแบบการจัดกิจกรรมการเรียนู้ที่เหมาะสมกับผู้เรียน” ภายหลังจากการอบรมเสร็จสิ้นแล้ว สสวท. ได้มอบสื่อวัสดุอุปกรณ์สำหรับนำไปใช้ภายในศูนย์ หลังจากนั้นจะมีการประสานเพื่อพัฒนาห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ของศูนย์ กศน. ตำบลนำร่องทั้ง 4 แห่งต่อไป
แท็ก ตำบล  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ