กรุงเทพฯ--31 ส.ค.--สคฝ.
สถาบันคุ้มครองเงินฝากเปิดเผยพบผู้ฝากเงินให้น้ำหนัก “เครติดเรตติ้งแบงก์” ในการฝากเงินมากขึ้น สะท้อนการบริหารแบงก์ต้องควบคู่ความมั่นคงแข็งแกร่ง
นายสิงหะ นิกรพันธุ์ ผู้อำนวยการสถาบันคุ้มครองเงินฝาก (สคฝ.)เปิดเผยว่าสิ่งที่พยายามทำมาตลอด คือการสร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องให้กับประชาชน ในความสามารถพิจารณาดูปัจจัยต่างๆ ประกอบการเลือกฝากเงินกับธนาคารธนาคารหนึ่ง ให้ได้รู้จักลงทุนและรู้จักเครื่องมือการลงทุนเพื่อการบริหารจัดการให้เหมาะสมกับเป้าหมายการเงินของตนเอง
และสิ่งหนึ่งที่ประชาชนควรให้ความสนใจ เพื่อเป็นปัจจัยประกอบการพิจารณาเลือกฝากเงินกับธนาคารใดธนาคารหนึ่ง คือ “การจัดอันดับความน่าเชื่อถือ”(เครดิตเรตติ้ง) นั่นเอง ทั้งนี้ ในอนาคตจะกลายเป็นสิ่งผลักดันให้ผู้บริหารของสถาบันการเงินนั้นๆ มีความระมัดระวังในการดำเนินกิจการมากยิ่งขึ้น และพยายามเสนอข้อมูลความแข็งแกร่งของสถาบันตน เพื่อสร้างความมั่นใจกับประชาชนมากขึ้นด้วยเช่นกัน
ดังนั้น ความสนใจใน “เครดิตเรตติ้งของสถาบันการเงิน” ต่อจากนี้ จะถูกให้น้ำหนักในการพิจารณาต่อการฝากเงินและการลงทุนต่างๆ มากยิ่งขึ้น เนื่องจากเป็นสิ่งที่จะสะท้อนให้เห็นถึงความเสี่ยงและความสามารถในการชำระหนี้ รวมถึงสัดส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงของสถาบันการเงิน ที่จะแสดงให้เห็นถึงเงินกองทุนของสถาบันการเงินที่จะเพียงพอรองรับความเสียหาย
หากสถาบันการเงินมีปัญหาใดๆขึ้นมา เงินฝากที่ประชาชนฝากกับสถาบันการเงินก็คือรายการหนึ่งในส่วนของหนี้ของสถาบันการเงิน โดยหากสถาบันใดมีเรตติ้งที่ดี ก็ยิ่งเป็นหนึ่งในการสะท้อนให้เห็นว่าสถาบันการเงินนั้นมีความน่าเชื่อถือและมีความแข็งแกร่ง
นายสิงหะกล่าวเพิ่มเติมว่า เครดิตเรตติ้ง เปรียบเสมือนเทอร์โมมิเตอร์ ในการวัดความ
เสี่ยงของบริษัท โดยหน่วยงานที่ประเมิน อาจมีการปรับเปลี่ยนเครดิตเรตติ้งเมื่อเวลาผ่านไป เราจะรู้ได้ว่าสถาบันการเงินนั้นๆ ได้รับการประเมินคุณภาพและความเสี่ยงในการดำเนินธุรกิจ และแปลออกมาเป็นเครดิตเรตติ้ง เพื่อให้เราเข้าใจง่ายๆ โดยเครดิตเรตติ้งนั้นก็จะมีครั้งตั้งแต่ AAA AA A
BBB BB B ….. ตามลำดับ
สถาบันการเงินใดที่ได้เครดิตเรตติ้ง AAA ก็หมายถึงว่ามีความเสี่ยงต่ำสุดที่จะสามารถ
ชำระหนี้ได้ตามกำหนด แต่ถ้าสถาบันใดที่ได้ BBB ก็จะมีความเสี่ยงและความสามารถชำระหนี้อยู่ในระดับปานกลาง เครดิตเรตติ้งจะมีเครื่อง + หรือ — กำกับด้วย เป็นการแยกลำดับย่อย เช่น A+ ดีกว่า A เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม จากการผลการวิเคราะห์แล้วพบว่า ภาพรวมสถาบันการเงินของไทยในปัจจุบันถือว่ามีเสถียรภาพมาก เมื่อเทียบกับช่วงวิกฤติเศรษฐกิจในช่วงปี 2540 โดยสามารถสร้างกำไรได้ในระดับที่ดี สินเชื่อยังคงขยายตัว ในขณะที่หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้(NPL) มีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้อัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS) อยู่ในระดับสูงกว่าเกณฑ์ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กำหนด
จากที่กล่าวมานั้น การติดตามดูว่าธนาคารใดมีเครดิตเรตติ้งระดับไหน ก็น่าจะเป็นอีกเครื่องมือหนึ่ง ที่ช่วยให้หลายคนที่ฝากเงินไว้กับธนาคารพาณิชย์มีความอุ่นใจมากขึ้น ว่าควรฝากเงินกับธนาคารใด และนอกจากนี้ ควรดูด้วยว่าการให้อัตราดอกเบี้ยของสถาบันการเงินนั้นสอดคล้องกับความเสี่ยงหรือไม่ เช่น เครดิตเรตติ้ง AAA น่าจะให้อัตราดอกเบี้ยฝากต่ำสุด เพราะมีความเสี่ยงต่ำ ขณะที่อัตราดอกเบี้ยของสถาบันการเงินที่มีเครดิตเรตติ้งต่ำกว่าคือมีความเสี่ยงสูงกว่า ก็อาจจะมีการให้อัตราดอกเบี้ยเงินฝากแก่ผู้ฝากที่สูงขึ้น เพื่อทดแทนการที่ผู้ฝากต้องรับความเสี่ยงเพิ่มขึ้น เป็นต้น ซึ่งเป็นไปตามหลักสากลที่เราเคยได้ยินกันคุ้นหูว่า High Risk / High Return
หากต้องการทราบรายละเอียดเรื่องการคุ้มครองเงินฝากว่ามีหลักเกณฑ์อย่างไร เงินประเภทไหนได้รับความคุ้มครองบ้าง สามารถเข้าไปที่ WWW.DPA.OR.TH ซึ่งสถาบันจะเปิดตัวเว็บไซต์ใหม่ที่เข้าถึงข้อมูลได้ง่ายและชัดเจนยิ่งขึ้นกว่าเดิมในเร็วๆนี้ โดยจะมีช่องทางให้ผู้เข้าชมเว็บไซต์สามารถแสดงความคิดเห็นเข้ามาได้ด้วย หรืออยากจะสอบถามพูดคุยกับเจ้าหน้าที่สถาบันก็ติดต่อมาได้ที่ 02-272-0300
สำนักผู้บริหารและสื่อสารองค์กร โทร. 02-272-0300 ต่อ 127/ www.dpa.or.th