กรุงเทพฯ--31 ส.ค.--เวิรฟ
“COTTON USA Global Lifestyle Monitor” การสำรวจวิถีการดำเนินชีวิตและพฤติกรรมการจับจ่ายใช้สอยของกลุ่มผู้บริโภคใน 10 ประเทศทั่วโลก ชี้ผู้บริโภคทั่วโลกตระหนักและใส่ใจปัญหาโลกร้อนมากเป็นอันดับหนึ่ง โดยผู้บริโภคชาวไทยมีความตระหนักสูงเป็นอันดับ 3 ของโลก และ 1 ใน 3 ของคนไทยใช้เวลาและความพยายามอย่างมากในการเลือกซื้อ “เสื้อผ้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม”
นายไกรภพ แพ่งสภา ตัวแทนคอตตอน ยูเอสเอ ประเทศไทย กล่าวว่า “รายงานการสำรวจผลวิจัยตลาด Global Lifestyle Monitor ลำดับที่ 6 นี้ เป็นรายงานการสำรวจผลวิจัยตลาดที่จัดทำขึ้นเป็นประจำทุกๆ 2 ปี เพื่อเก็บข้อมูลเกี่ยวกับรูปแบบ ทัศนคติ พฤติกรรม วิถีการดำเนินชีวิต และกระบวนการจับจ่ายซื้อเสื้อผ้าของผู้บริโภคใน 10 ประเทศทั่วโลก อันได้แก่ บราซิล จีน โคลัมเบีย เยอรมนี อินเดีย อิตาลี ญี่ปุ่น สหราชอาณาจักร ตุรกี และไทย โดยทางคอตตอน ยูเอสเอ ประเทศไทย ได้มอบหมายให้บริษัท ซิโนเวต (ประเทศไทย) จำกัด ทำการสำรวจกลุ่มตัวอย่างผู้ที่เลือกซื้อเสื้อผ้าสวมใส่เอง จำนวน 500 คน โดยแบ่งเป็นเพศชาย 250 คน และเพศหญิง 250 คน ในช่วงอายุระหว่าง 15 — 54 ปี ที่พำนักอาศัยตามหัวเมืองใหญ่ทั้งในเขตกรุงเทพมหานคร เชียงใหม่ ชลบุรี หาดใหญ่ และนครราชสีมา ตั้งแต่ช่วงเดือนมีนาคมถึงเดือนเมษายน พ.ศ.2553 ที่ผ่านมา”
“Street Market” แหล่งช้อปปิ้งยอดฮิตของคนไทย
จากผลสำรวจพฤติกรรมของกลุ่มผู้บริโภคเกี่ยวกับแหล่งช้อปปิ้งที่เป็นนิยมมากในประเทศไทย พบว่าร้านเสื้อผ้าตลาดนัดแผงลอย หรือ Street markets ยังคงความนิยมสูงสุดจากผู้บริโภคในทุกเพศทุกวัยโดยเฉพาะอย่างยิ่งกับกลุ่มผู้บริโภคเพศหญิง โดยในปีสำรวจล่าสุดเพิ่มสูงถึงร้อยละ 91 จากเดิมที่มีเพียงร้อยละ 80 ในปี 2551 ซึ่งแตกต่างจากประเทศอื่นๆ ที่ทำการสำรวจที่มีความนิยมไม่เกินร้อยละ 10 ในขณะที่ห้างไฮเปอร์มาร์เก็ตมีอัตราที่เติบโตอย่างต่อเนื่องเช่นกันจากร้อยละ 41 ในปี 2549 เป็นร้อยละ 49 ในปี 2551 และเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 56 ในปีการสำรวจล่าสุด ส่วนห้างสรรพสินค้า แหล่งช้อปปิ้งอันดับที่ 3 มีอัตราการเติบโตเพียงร้อยละ 1 เท่านั้น โดยเพิ่มขึ้นเป็น 54% และหากเปรียบเทียบจากระดับของรายได้ยังพบว่า ผู้บริโภคในระดับ C และ D นิยมจับจ่ายซื้อเสื้อผ้าที่ร้านตลาดนัดแผงลอยบ่อยที่สุด ส่วนผู้บริโภคผู้มีรายได้ในระดับ AB จะนิยมซื้อเสื้อผ้าที่ห้างไฮเปอร์มาร์เก็ตมากที่สุด โดยปัจจัยที่ผู้บริโภคคำนึงถึงมากที่สุดเวลาซื้อเสื้อผ้าจากร้านค้าประจำ คือ “ความหลายหลายของเสื้อผ้า” และ “ราคาดี/ราคาถูก” นอกจากนี้เมื่อถามถึงความถี่ในการซื้อเสื้อผ้าลดราคาอย่างน้อย 20 เปอร์เซ็นต์ พบว่า ร้อยละ 20 ของผู้หญิงทำการซื้อเสื้อผ้าลดราคาอย่างน้อย 20 เปอร์เซ็นต์ ในขณะที่ผู้ชายซื้อเสื้อผ้าลดราคาอย่างน้อย 20 เปอร์เซ็นต์มีเพียงร้อยละ 14 โดยสถานที่ที่ผู้บริโภคเลือกซื้อเสื้อผ้าลดราคาอย่างน้อย 20 เปอร์เซ็นต์มากที่สุดคือ “กลุ่มร้าน Chain Store” (“กลุ่มร้าน Chain stores”: ได้แก่ ร้านที่มีกลุ่มภายใต้ยี่ห้อเดียวกัน เช่น ร้าน Marks & Spencer เป็นต้น)
“ดิสเพลย์หน้าร้าน” ครองแชมป์แหล่งข้อมูลทรงอิทธิพลของสาวกนักช้อป
การจัดแสดงสินค้าที่หน้าร้าน (Display) ยังคงเป็นแหล่งข้อมูลแฟชั่นอันดับต้นๆ ที่มีอิทธิพลต่อกลุ่มผู้บริโภคทั้งใน สหราชอาณาจักร อิตาลี บราซิล รวมไปถึงผู้บริโภคชาวไทยจากผลสำรวจล่าสุดพบว่า ในประเทศไทย “การจัดดิสเพลย์หน้าร้าน” ได้รับความนิยมสูงถึงร้อยละ 56 เช่นเดียวกับในประเทศญี่ปุ่นที่มีอัตราสูงถึงร้อยละ 84 และร้อยละ 69 ในประเทศจีน นอกจากนี้อิทธิพลจาก “เพื่อนและผู้ร่วมงาน” และ “เสื้อผ้าที่ซื้อมาสวมใส่แล้วรู้สึกชอบ” ยังเป็นสื่อที่มีอิทธิพลรองลงมาตามลำดับ ในขณะที่สื่ออินเทอร์เน็ตได้รับความนิยมจากผู้บริโภคชาวไทยเพียงร้อยละ 3 เท่านั้น ซึ่งเป็นตัวเลขที่น้อยมากเมื่อเทียบกับผู้บริโภคชาวญี่ปุ่นและจีนที่ใช้อินเทอร์เน็ตเป็นแหล่งข้อมูลกว่าร้อยละ 50
ส่วนแหล่งข้อมูลที่มีแนวโน้มเติบโตขึ้นอย่างชัดเจนเมื่อเทียบจากผลสำรวจครั้งก่อน คือสื่อโทรทัศน์ นิตยสาร รวมไปถึงดาราและนักร้องผู้มีชื่อเสียง ซึ่งสื่อเหล่านี้มีอิทธิพลมากโดยเฉพาะอย่างยิ่งกับกลุ่มผู้บริโภคที่เป็นเพศหญิง โดยเติบโตขึ้นกว่าร้อยละ 9 ร้อยละ 6 และร้อยละ 5 ตามลำดับ
“ยีนส์” ไอเท็มสุดฮอตตลอดกาล
เมื่อถามถึงความสำคัญของเส้นใยในเสื้อผ้า พบว่า ผู้บริโภคชาวไทย อายุ 35-44 ปี และ 45-54 ปี จำนวน 62 เปอร์เซ็นต์ให้ความสำคัญกับเส้นใยมาก เช่นเดียวกับกลุ่มผู้บริโภคเพศหญิงจำนวน 65 เปอร์เซ็นต์ ส่วนพฤติกรรมการตรวจสอบป้ายรายละเอียดเส้นใยเมื่อทำการซื้อเสื้อผ้า พบว่ากลุ่มวัยรุ่นในช่วงอายุ 15-24 ปี จำนวนถึงร้อยละ 27 เป็นกลุ่มที่ให้ความสำคัญและใส่ใจกับการตรวจสอบป้ายที่บ่งบอกถึงส่วนประกอบของเส้นใยมากกว่าในช่วงอายุอื่นๆ ซึ่งเส้นใยที่ได้รับความนิยมสูงสุดทั้งในกลุ่มตัวอย่างเพศชายและหญิง คือ “ผ้าฝ้าย” โดยมีความนิยมสูงเกือบร้อยละ 60 และจากสถิติพบว่าคนไทยกว่าร้อยละ 43 ชื่นชอบการสวมใส่ยีนส์ในชีวิตประจำวัน ซึ่งเท่ากับผลสำรวจในปี 2551 โดยกลุ่มวัยรุ่นอายุ 15-24 ปีจะมีกางเกงยีนส์มากที่สุดเฉลี่ยถึงคนละ 6 ตัว
ปลุกกระแสหยุดโลกร้อนด้วย “ฝ้าย” เส้นใยจากธรรมชาติ
เมื่อเปรียบเทียบปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ปรากฏอยู่ในปัจจุบัน พบว่าปัญหาโลกร้อนเป็นปัญหาที่คนทั่วโลกให้ความสนใจมากเป็นอันดับต้นๆ โดยเฉพาะกับผู้บริโภคชาวไทยที่มีจำนวนกว่าร้อยละ 80 ซึ่งสูงเป็นอันดับ 3 ของโลก รองจากโคลัมเบียที่สูงเป็นอันดับ 1 ด้วยอัตราส่วนร้อยละ 85 ตามมาด้วยบราซิลและอินเดียที่มีอัตราส่วนเท่ากันคือ ร้อยละ 84 ทั้งนี้ผู้บริโภคชาวไทยกว่าครึ่งมองว่า เส้นใยธรรมชาติมีภาพลักษณ์ที่ดีและมีความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอย่างมาก และกว่า 1 ใน 3 ของผู้บริโภคชาวไทยจะใช้เวลาและความพยายามอย่างมากในการเลือกซื้อเสื้อผ้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม นอกจากนั้นจากผลสำรวจยังพบว่า ผู้ชายจะใช้เวลาและความพยายามเลือกซื้อเสื้อผ้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่าผู้หญิงในอัตราส่วนร้อยละ 35 และร้อยละ 33 ตามลำดับ
เกี่ยวกับคอตตอน ยูเอสเอ (COTTON USA)
เครื่องหมาย “คอตตอน ยูเอสเอ” (COTTON USA) ได้รับการออกแบบและเผยแพร่ในปี ค.ศ. 1989 โดย คอตตอน เคาน์ซิล อินเตอร์เนชั่นแนล หรือ ซีซีไอ (COTTON COUNCIL INTERNATIONAL: CCI) ซึ่งเป็นหน่วยงานหนึ่งของ เนชั่นนัล คอตตอน เคาน์ซิล (National Cotton Council) ประเทศสหรัฐอเมริกา เครื่องหมาย “คอตตอน ยูเอสเอ” เป็นสัญลักษณ์ที่บ่งบอกถึงผลิตภัณฑ์แห่งคุณภาพ ผลิตจากฝ้ายธรรมชาติ 100 เปอร์เซ็นต์ และมีส่วนผสมของฝ้ายจากสหรัฐอเมริกาอย่างน้อย 50 เปอร์เซ็นต์ ปัจจุบัน คอตตอน ยูเอสเอมีตัวแทนกว่า 26 แห่ง ทั่วโลก ในประเทศไทย “คอตตอน ยูเอสเอ” ทำหน้าที่ขยายฐานกลุ่มไลเซนซี (Licensees) ของคอตตอน ยูเอสเอ ในประเทศไทย โดยมี
กลุ่มเป้าหมาย คือ กลุ่มผู้ผลิต แบรนด์ และผู้จัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ที่ใช้ฝ้ายจากสหรัฐอเมริกาเป็นวัตถุดิบหลัก นอกจากนี้ “คอตตอน ยูเอสเอ” ยังมุ่งเน้นสร้างความพึงพอใจเกี่ยวกับฝ้ายจากสหรัฐอเมริกาในกลุ่มผู้บริโภคให้เพิ่มมากขึ้น รวมถึงให้ความรู้เกี่ยวกับฝ้าย เส้นใยธรรมชาติ ที่สามารถปลูกทดแทน และให้ความสบายเมื่อสวมใส่
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมกรุณาติดต่อ: เวิรฟ
อมรเทพ อักษร (ตื้น) โทร. 0-2204-8509
เบญจพร บรรเจิดกิจ (เบญ) โทร. 0-2204-8551