กรุงเทพฯ--31 ส.ค.--กรมพัฒนาธุรกิจการค้า
การรวมกลุ่มของเอกชนเป็นสมาคม อาจยังไม่เข้มแข็งพอ แต่หากสมาคมต่าง ๆ ได้รวมกลุ่มเป็นเครือข่าย ย่อมจะสร้างพลังสมาคมการค้าไทยให้เข้มแข็งได้มากขึ้นในการเตรียมรับมือประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ซึ่งมีกำหนดแล้วเสร็จและมีผลใช้บังคับอย่างเป็นทางการภายในปี ค.ศ. 2015 หรือ พ.ศ. 2558 โดยสิ่งที่จะเกิดขึ้นคือ ประเทศในกลุ่มอาเซียนหรือเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คือไทยและประเทศเพื่อนบ้านจะรวมตัวกันเป็นตลาดและฐานการผลิตเดียว เหมือนกลุ่มประเทศ EU ของยุโรป ผลที่เกิดขึ้น คือ จะมีการไหลเวียนเคลื่อนย้ายไปมาอย่างเสรี (free flow) ของปัจจัยการค้าภายในกลุ่มประเทศอาเซียน ดังต่อไปนี้
1. สินค้า
2. บริการ
3. การลงทุน
4. เงินทุน
5. แรงงานฝีมือ
ภายใต้ "ประชาคมอาเซียน" ผู้ประกอบการจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนแนวคิดในการบริหารจัดการใหม่เพื่อใช้ประโยชน์จากการที่ปัจจัยการผลิตสามารถเคลื่อนย้ายได้อย่างเสรี ต้องมีการปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์ในการบริหารจัดการที่เดิมเคยจำกัดเฉพาะในประเทศของตนมาเป็นการผลิตข้ามประเทศ ต้องปรับเปลี่ยนยุทธวิธีในการทำธุรกิจโดยต้องแสวงหาพันธมิตรทางธุรกิจในภูมิภาคซึ่งจะเป็นการช่วยให้มีการผลิตอย่างมีประสิทธิภาพ และที่สำคัญคือต้องรีบจัดทำแผนทางธุรกิจใหม่เพื่อรองรับกับโอกาสที่ปัจจัยการผลิตสามารถเคลื่อนย้ายได้อย่างเสรี
ผู้ประกอบการไทยต้องเตรียมความพร้อมเพื่อจะรองรับการปรับเปลี่ยนโครงสร้างทางเศรษฐกิจโดยเฉพาะความพร้อมของ "ทุนมนุษย์" (human capital: HC) ที่ต้องมีคุณสมบัติใหม่ที่สอดคล้องกับการแข่งขันทางการค้าในบริบทของเศรษฐกิจใหม่ และการสร้าง "ทุนทางปัญญา" (intellectual capital: IC) ซึ่งเป็นที่มาของความมั่งคั่งใหม่(new wealth) ในยุคเศรษฐกิจแห่งนวัตกรรมและสังคมแห่งการสร้างสรรค์ (innovative economy & creative society)
กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ขอเรียนเชิญ ผู้ประกอบการ ผู้บริหาร สมาชิกสมาคม สื่อมวลชน และ ผู้สนใจ มาร่วมงานสัมมนา เรื่อง รวมพลังสมาคมการค้าไทย เพื่อพัฒนาธุรกิจไทย ในวันพฤหัสบดี ที่ 1 กันยายน 2554 เวลา 8.30 — 16.30 น. ณ กระทรวงพาณิชย์ อาคารกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ชั้น 6 ห้องศูนย์ฝึกอบรมพัฒนาธุรกิจการค้า โดยการบรรยายประกอบไปด้วยเรื่อง "ยุทธศาสตร์ธุรกิจไทย 2015" และ "การขับเคลื่อนภาคธุรกิจไทย" และ "การเตรียมความพร้อมของสมาคมการค้า" ซึ่งบรรยายโดย รศ.ดร. ไพบูลย์ เสรีวิวัฒนา อาจารย์ประจำคณะบริหารธุรกิจ(นิด้า) ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ ผู้อำนวยการ Sasin Institute for Global Affairs คุณไพโรจน์ โพธิพวงศ์ ที่ปรึกษาจากสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ดร.วิพุธ อ่องสกุล ผู้อำนวยการศูนย์นวัตกรรมทางธุรกิจ (นิด้า) และ คุณ วรวุฒิ อุ่นใจ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมช.ออฟฟิศเมท
โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใด ๆ (ฟรี) ผู้สนใจโปรดแจ้งรายชื่อ หรือ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า e-mail : directionplan@hotmail.com หรือ โทร. 08 9484 4788, 0 2642 5241, 0 2642 5243, 0 2247 2339-40 ต่อ 136 หรือ โทรสาร 02 2472363