กรุงเทพฯ--24 เม.ย.--สพช.
มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ประดิษฐ์ต้นแบบเครื่องอัดแท่งเชื้อเพลิงแข็งจากฝุ่นไม้ ทดแทนไม้ฟืนและถ่าน แถมช่วยลดปัญหาสิ่งแวดล้อม
นายสมาน เสนงาม ผู้อำนวยการโครงการวิจัยและพัฒนาต้นแบบเครื่องอัดเชื้อเพลิงแข็งจากฝุ่นไม้ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวว่า สำนักงานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (สพช.) โดยกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ได้สนับสนุนมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จัดทำโครงการวิจัยพัฒนาต้นแบบเครื่องอัดเชื้อเพลิงแข็งจากฝุ่นไม้ เพื่อกำจัดฝุ่นไม้ที่เกิดขึ้นจากโรงงานอุตสาหกรรมแปรรูปไม้ยางพารา ซึ่งส่วนใหญ่ถูกกำจัดด้วยการเททิ้งหรือเผาทิ้ง และก่อให้เกิดปัญหาทางสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะการเผาทิ้งจะทำให้เกิดการเผาไหม้ที่ไม่สมบูรณ์ เนื่องจากยังไม่มีการใช้เตาเผาฝุ่นไม้โดยเฉพาะ ดังนั้นทางออกทางหนึ่งที่เป็นไปได้ในการจัดการฝุ่นไม้คือการทำเป็นเชื้อเพลิงแท่งที่สามารถเคลื่อนย้าย ขนส่งและจัดเก็บได้ง่าย อีกทั้งยังเป็นการแก้ปัญหาสภาพแวดล้อมอันเนื่องมากจากฝุ่น
"เครื่องอัดต้นแบบเชื้อเพลิงแข็งจากฝุ่นไม้ ได้เลือกใช้ระบบไฮดรอลิก เนื่องจากเป็นระบบที่สามารถอัดฝุ่นไม้ให้ได้คุณภาพตามต้องการ และยังเป็นระบบที่สามารถอัดวัตถุดิบที่มีขนาดอนุภาคที่แตกต่างกันได้ตั้งแต่ละเอียดไปถึงหยาบ แต่อนุภาคของวัตถุไม่ควรมีขนาดเกิน 50 มิลลิเมตร และควบคุมการทำงานด้วยเครื่องควบคุมระบบอัตโนมัติ หรือ Programmable Logic Control (PLC) ซึ่งมีคุณสมบัติสามารถทำงานติดต่อกันได้ 24 ชั่วโมง/วัน สำหรับต้นแบบขนาดเล็กที่พัฒนาสำเร็จแล้ว มีกำลังการผลิตแท่งเชื้อเพลิงฝุ่นไม้ได้ 54 กิโลกรัม/ชั่วโมง โดยใช้กำลังขับ 7.5 กิโลวัตต์ มีต้นทุนการผลิต 98 สตางค์ต่อกิโลกรัม ซึ่งขณะนี้ทางโครงการฯ กำลังจะพัฒนากำลังผลิตให้สูงขึ้นในระดับ 200-300 กิโลกรัม/ชั่วโมง เพื่อให้เหมาะกับปริมาณฝุ่นจากโรงงาน และคาดว่าต้นทุนการผลิตจะต่ำลงมาได้ประมาณ 60 สตางค์/กิโลกรัม
และเมื่อนำเชื้อเพลิงอัดแท่งจากฝุ่นไม้ที่ได้ไปทดลองมาเผาไหม้ พบว่าสามารถลุกเป็นเปลวไฟ และมีควันน้อยกว่าการเผาไหม้ฝุ่นไม้โดยตรง สำหรับการอัดแท่งเชื้อเพลิงในเครื่องอัด เชื้อเพลิงต้นแบบ จะใช้พลังงานเฉลี่ยประมาณ 1.4 เมกะจูน / กิโลกรัม และเชื้อเพลิงแท่งที่ได้ จะให้ค่าพลังงานความร้อนประมาณ 14-16 เมกะจูน / กิโลกรัม หรือคิดเป็นค่าพลังงานที่ได้จากการเผาเชื้อเพลิงมีค่าประมาณ 10 เท่าของพลังงานที่ต้องใช้ในการอัดแท่งเชื้อเพลิง" นายสมานกล่าว
จากการสำรวจโรงงานผลิตไม้ปาร์ติเกิลบอร์ดหรือไม้เอ็มดีเอฟ ที่มีกำลังผลิต 630 ลูกบาศก์เมตร/วัน จะเกิดฝุ่นไม้จากการขัดผิวให้เรียบประมาณ 3,000 กิโลกรัม/วัน หรือประมาณ 75,000 กิโลกรัม/เดือน ซึ่งเมื่อใช้เครื่องอัดเชื้อเพลิงแข็งดังกล่าวแล้ว จะสามารถผลิตเชื้อเพลิงแข็งจากฝุ่นไม้ทดแทนการใช้ไม้ฟืนได้ 75,000 กิโลกรัม/เดือน คิดเป็นพลังงานเทียบเท่าน้ำมันดิบ 28 ตัน/เดือน หรือคิดเป็นเงินที่ประหยัดค่าไม้ฟืนได้ประมาณ 75,000 บาท/เดือน (ไม้ฟืนราคา 1 บาท/กิโลกรัม) ซึ่งจากการสำรวจมีโรงงานผลิตปาร์ติเกิลบอร์ด ทั้งหมด 273 แห่ง
ศูนย์ประชาสัมพันธ์รวมพลังหาร 2 โทรศัพท์ 0 2612 1555 ต่อ 201-5 โทรสาร 0 2612 1368121/1-2 ถ.เพชรบุรี แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400 www.nepo.go.th-- จบ--
-อน-