หวั่นกระทบตลาดสหรัฐ วช.จับมือสามหน่วยงานระดมความคิดแก้สารตกค้างกุ้งไทย

ข่าวทั่วไป Monday April 29, 2002 11:25 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--29 เม.ย.--วช.
สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ร่วมกับ 3 หน่วยงานจัดการสัมมนาแก้ปัญหาสารตกค้างในกุ้งไทยในวันอังคารที่ 7 พฤษภาคม 2545 ณ โรงแรมมารวยการ์เด้นท์ ถนนพหลโยธิน กรุงเทพฯ โดยมีนายจิรพันธ์ อรรถจินดา เลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ เป็นประธานในพิธีเปิด เวลา 9.00 น.
ประเทศไทยเป็นประเทศผู้ผลิตและส่งออกกุ้งสดแช่เย็นและกุ้งแช่แข็งเป็นอันดับหนึ่งของโลกนำรายได้เข้าสู่ประเทศเป็นจำนวนมากแต่จากการที่สหภาพยุโรปส่งกลับสินค้าเมื่อเดือนมีนาคม 2545 เนื่องจากตรวจพบสารต้องห้ามหรือสารปฏิชีวนะตกค้างอยู่ในสินค้ากุ้ง ซึ่งเป็นปัญหาที่พบมาตลอดในช่วงระยะเวลา 2 ปีที่ผ่านมาโดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อได้มีการตรวจพบสารก่อมะเร็งคลอแรมฟีนิคอล (Chloramphenical) และไนโตรฟูแรนส์(Nitrofurans)ในกุ้งแช่แข็งอาจส่งผลให้มีการสั่งห้ามนำเข้าสินค้าจากประเทศไทยและลุกลามสู่ตลาดอื่นๆ โดยเฉพาะประเทศสหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นตลาดหลักที่มีมูลค่าการส่งออกกุ้งมากที่สุด (4.8 หมื่นล้านบาทในปี 2544) ซึ่งสถานการณ์เหล่านี้อาจส่งผลกระทบต่อการส่งออกอาหารสดและอุตสาหกรรมอาหารของประเทศ นอกจากนั้นแล้วคนไทยเองย่อมเสี่ยงต่อการบริโภคอาหารที่ไม่มีคุณภาพและความปลอดภัยเพื่อหาแนวทางในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.)จึงได้ร่วมกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์และกรมประมงจัดการสัมมนาในครั้งนี้ขึ้นเพื่อหาแนวทางในการแก้ปัญหาสารตกค้างในกุ้งและแนวทางการวิจัยที่จะช่วยป้องกันสารปนเปื้อนให้อยู่ในระดับที่ไม่เป็นอันตรายต่อผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อม รวมถึงหาแนวทางการป้องกันการกีดกันทางการค้าต่อการส่งออกกุ้งไทย โดยการสัมมนาประกอบด้วยการบรรยายพิเศษเรื่อง “สถานการณ์ของกุ้งไทยในปัจจุบัน ” โดยอธิบดีกรมประมงการอภิปรายเรื่อง “ผลกระทบต่อสารตกค้างในการส่งออกกุ้งของประเทศไทย”โดยผู้เชี่ยวชาญจากหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้องและการอภิปรายในหัวข้อเรื่อง"แนวทางการวิจัยและพัฒนาอุตสาหกรรมกุ้งของประเทศไทย”จากมุมมองของทั้งภาครัฐและเอกชนผลจากการประชุมในครั้งนี้ คาดว่าจะได้แนวทางและมาตรการในการแก้ปัญหาสารตกค้างในกุ้งเพื่อสร้างความมั่นใจให้เกิดขึ้นกับตลาดต่างประเทศและผู้บริโภคในประเทศไทย นอกจากนี้ยังคาดว่าจะได้แนวทางการวิจัยเพื่อป้องกันปัญหาเรื่องสารตกค้างในระยะยาว
ผู้สนใจสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่กลุ่มงานเกษตรและอุตสาหกรรมการเกษตร
กองโครงการและประสานงานวิจัย
สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ หมายเลขโทรศัพท์
0-2940-5495 , 0-2579-4712 , 0-2561-2445 ต่อ 487 , 488
โทรสาร 0-2940-5495--จบ--
-อน-

แท็ก สหรัฐ  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ