กรุงเทพฯ--7 พ.ค.--วช.
วช.เผยสำรวจพบแมลงหางดีดชนิดใหม่ของโลก ระบุผลการเปรียบเทียบเชิงปริมาณพบระบบนิเวศป่าทดแทนสภาพใกล้เคียงป่าดงดิบจากปัญหาการตัดไม้ทำลายป่าอย่างรุนแรงในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมาทำให้ป่าไม้เมืองไทยลดลงอย่างต่อเนื่องจนต้องมีการกวดขันในการอนุรักษ์และปลูกป่าทดแทนแมลงหางดีดเป็นแมลงขนาดเล็กที่อาศัยอยู่ในดินมีความสามารถในการปรับตัวให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมได้ค่อนข้างดีและช่วยย่อยสลายอินทรีย์วัตถุกลับสู่สภาพแวดล้อมได้เร็วขึ้น
โดยปริมาณของแมลงหางดีดเป็นอีกส่วนหนึ่งที่สามารถชี้วัดความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศป่าไม้ ปริมาณน้ำในดิน ส่วนประกอบของอนินทรีย์วัตถุผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงการปลูกพืชและการทำลายป่าได้ ซึ่งผลกระทบจากสภาพดังกล่าวอาจทำให้แมลงหางดีดบางชนิดสูญพันธุ์ไปจากประเทศไทยปัญหาการขาดแคลนผู้เชี่ยวชาญด้านอนุกรมวิธานทำให้ขาดการศึกษาและเก็บข้อมูลเกี่ยวกับแมลงหางดีดที่เพียงพอ
สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.)จึงมอบทุนอุดหนุนการวิจัยประเภทความร่วมมือกับต่างประเทศ (โครงการความร่วมมือไทย-เกาหลี) แก่ รศ.วาลุลี โรจนวงศ์และคณะ จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ศึกษาวิจัยร่วมกับนักวิจัยเกาหลีซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านอนุกรมวิธานศึกษาลักษณะทางกายภาพและศึกษาความหลากหลายของแมลงหางดีด ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก ภาคกลางและภาคใต้ผลจากการวิจัย พบแมลงหางดีดชนิดใหม่ของโลกถึง 17 ชนิดใน 2 วงศ์และ 3 สกุล และที่สำคัญที่สุดคือ จากการศึกษาเปรียบเทียบแมลงหางดีดเชิงปริมาณ ในบริเวณสังคมพืชป่าดงดิบและสังคมพืชขั้นทดแทน ณ อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ พบว่า แมลงหางดีดวงส์ ENTOMOBRYIDAE เพียงวงศ์เดียวที่สามารถพบเห็นได้ทุกเดือนและจากการวิเคราะห์ข้อมูลทั้งทางด้านดัชนีความหลากหลายความเท่าเทียมกันระดับความมากมายและค่าดัชนีความสำคัญของแมลงหางดีดผลที่ได้มีลักษณะคล้ายกัน ชี้ให้เห็นว่าความสมบูรณ์ของระบบนิเวศสังคมพืชป่าขั้นทดแทนกำลังจะเข้าสู่สภาพปกติ--จบ--
-อน-